การเรียนรู้ ยังเป็นสิ่งจำเป็น...แต่ มหาวิทยาลัย ยังจำเป็นอยู่หรือไม่? วันนี้ผมขออนุญาตนำปาฐกถาชุด “สิรินธร” ครั้งท่ี 34 เรื่อง “มหาวิทยาลัยของคนรุ่นใหม่ คงคุณค่าแข่งได้ในยุคปรับเปลี่ยนพลิกผัน” โดยมี ดร.สันติธาร เสถียรไทย เป็นองค์ปาฐกถาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ มาเล่าสู่กันฟัง ปัญหาการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับประเทศไทย ในยุคผู้นำลุงที่ การศึกษาไทยล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ตั้งแต่ ระดับประถม จนถึง มหาวิทยาลัย

ดร.สันติธาร เป็น Group Chief Economist และกรรมการผู้จัดการใหญ่ Sea Group กล่าวว่า ปาฐกถาวันนี้จะมองผ่าน 3 มุมมอง ที่เกิดจากประสบการณ์การทำงานและการศึกษาที่ผ่านมา

มุมมองที่ 1 มองจากหมวกของผู้บริหารภาคการเงินการธนาคาร ที่ถูก Disruption จากเทคโนโลยีมาก่อนวงการศึกษา และการทำงานในบริษัท Fintech ซึ่งเป็นผู้ Disrupt ทำให้ได้เห็นทั้งสองมุม

มุมมองที่ 2 ได้ทำงานกับคนรุ่นใหม่จำนวนมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้ฟังจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความเสี่ยงที่พวกเขาต้องเผชิญ มุมมองที่ 3 เป็นมุมมองที่สำคัญที่สุด คือมุมมองของ “พ่อลูกอ่อน” ที่ต้องคิดวางแผนว่า จะทำอย่างไรที่จะเตรียมลูกให้พร้อมสำหรับอนาคตที่ปรับเปลี่ยนพลิกผัน จนเขียนหนังสือขึ้นมา 2 เล่ม ชื่อ Futuration เปลี่ยนปัจจุบัน ทันอนาคต และ The Great Remake สู่โลกใหม่

จาก 3 มุมมอง ทำให้ ดร.สันติธาร คิดว่า จะตอบคำถามทั้งหมดในวันนี้ได้จะต้องเริ่มจากการตั้งคำถามว่า “การเรียนรู้เป็นสิ่งที่จำเป็น แต่มหาวิทยาลัยยังจำเป็นอยู่หรือ?” คนที่ถามคำถามนี้เป็นคนแรกคือ บิลล์ เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ ถามต่อภาคการเงินการธนาคารว่า “Banking is necessary, but banks are not” ภาคการเงินการธนาคารเป็นสิ่งสำคัญ แต่สถาบันธนาคารยังเป็นสิ่งสำคัญอยู่หรือไม่

...

ภาคการศึกษาก็เช่นเดียวกัน มหาวิทยาลัยกำลังเจอภัยคุกคามทั้ง 2 ด้านใหญ่ อุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) ด้านอุปสงค์ เกิดจากการเรียนรู้ของคนเปลี่ยนแปลงไป ทักษะการเรียนรู้และการอยู่รอดในอนาคตเปลี่ยนไป มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถานที่หล่อหลอมคน ให้ความรู้สร้างทักษะให้คน จึงต้องมีการปรับตัวอย่างมากเช่นกัน ด้านอุปทาน เมื่อการเรียนรู้เปลี่ยนไป สถาบันและองค์กรต่างๆมีเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนการเรียนรู้ได้ จนมีคำถามว่า “การเรียนรู้ต้องทำที่มหาวิทยาลัยหรือไม่” จากการศึกษาพบว่า มี 5 ทักษะใหญ่ที่จำเป็นในอนาคต ดังนี้

1.Digital Literacy ทักษะดิจิทัลเพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี อาทิ ทักษะการสื่อสารกับหุ่นยนต์ สื่อสารกับปัญญาประดิษฐ์ สื่อสารกับเทคโนโลยี

2.Creative & Innovation ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน เป็นทักษะที่ทำให้เราไม่ถูกแทนที่โดยเทคโนโลยี เช่น ChatGPT ที่สามารถเรียนรู้ทุกอย่างบนโลก อินเตอร์เน็ต สามารถทำข้อสอบ MBA ได้คะแนนดี สอบแพทย์และกฎหมายผ่าน แต่ยังมีจุดอ่อนหลายด้านโดยเฉพาะความแม่นยำของข้อมูล และความคิดสร้างสรรค์ยังไม่สามารถตอบได้ 100%

3.Empathy ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น ความเมตตากรุณา ความฉลาดทางอารมณ์ เป็นสิ่งที่โลกต้องการ แต่หุ่นยนต์ทำแทนได้ยาก เมื่อโลกเข้าสู่สังคมสูงวัย ทักษะเหล่านี้จะมีค่ามากขึ้น

4.Risk Management ทักษะด้านการบริหารความเสี่ยง โลกวันนี้ไม่ได้หมุนไปข้างหน้าแบบเส้นตรง แต่มีการเลี้ยวซิกแซ็กตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องมีทักษะด้านบริหารความเสี่ยง

5.Growth Mindset นํ้าครึ่งแก้ว การเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นทักษะที่สำคัญที่สุด ความรู้อาจจะหมดอายุเร็วขึ้น ความยากอาจไม่ใช่การหาคำตอบ แต่อยู่ที่การหาคำถาม

มหาวิทยาลัยแห่งอนาคต ต้องสามารถสร้างทักษะอนาคตทั้ง 5 กลุ่ม และสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อการเรียนรู้ให้ได้ ดร.สันติธาร สรุปถึง มหาวิทยาลัยของคนรุ่นใหม่ แบบสั้นๆว่า “เข้าใจลึกซึ้งว่าโลกต้องการอะไร และต้องรู้ด้วยว่าตัวเองมีสิ่งใดที่ไม่มีใครแทนที่ได้” ถ้า ผู้นำไทย และ นักการเมืองไทย มี Mindset แบบนี้ ประเทศไทยรุ่งโรจน์ชัชวาลแน่นอน.

“ลม เปลี่ยนทิศ”