“วิกฤติด้านสุขภาพ ทั้งจากเรื่องโรคระบาด ยาวัคซีน ชุดตรวจ อุปกรณ์ป้องกันไปจนถึงผลกระทบจากนโยบายกัญชา สิ่งเสพติด ที่เกิดต่อทุกคนในสังคม ตอกย้ำด้วย PM 2.5 ที่หนักหนาสาหัส จำเป็นต้องสังคายนา...” รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ เปิดประเด็น กระตุกมุมคิด

ตัวเลขรายงานประจำสัปดาห์ของไทย ระหว่างวันที่ 19-25 กุมภาพันธ์ 2566 จำนวนผู้ติดเชื้อ “โควิด-19” ที่ป่วยจนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล 204 คน จำนวนเสียชีวิต 9 คน

คาดประมาณจำนวนคนติดเชื้อใหม่รายวันจะสูงราว 1,458-2,024 คน

อัปเดตสายพันธุ์ไวรัส “โควิด-19” ที่ระบาดทั่วโลก Gerstung M จากประเทศเยอรมนี ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ปัจจุบัน XBB.1.5 และเครือญาติคือ XBB.1.9.1 มีแนวโน้มที่จะครองการระบาดทั่วโลกไปแล้ว

ในขณะที่ BQ.1.x และ BA.2.x ที่เคยระบาดมากนั้นลดน้อยถอยลงไปอย่างต่อเนื่อง

สอดคล้องกับที่องค์การอนามัยโลกได้ประเมินความเสี่ยงจาก XBB.1.5 ไว้ก่อนหน้านี้ว่า “XBB.1.5” น่าจะขยายตัวไปได้อย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาถัดจากนี้

...

ข้อมูลธรรมชาติของระบบภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ หลังจากที่ติดเชื้อในผู้ที่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน?

Koutsakos M และคณะจากประเทศออสเตรเลียได้ตอบคำถามที่หลายคนสงสัยมานานว่า...หากเราฉีดวัคซีนมาแล้ว เกิดจับพลัดจับผลูติดเชื้อโรคโควิด-19 ขึ้นมา ระบบภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ของเราจะตอบสนองอย่างไร

...เป็นที่ทราบกันมาก่อนหน้านี้ว่า “หลังติดเชื้อ” จะทำให้ภูมิคุ้มกันในน้ำเลือดหรือแอนติบอดีสูงขึ้น แต่จากนั้นไม่กี่เดือน แอนติบอดีก็จะลดลง

งานวิจัยนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า หลังจากติดเชื้อมา ระบบภูมิคุ้มกันระดับเซลล์จะได้รับการกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองอย่างรวดเร็ว ทั้ง CD4 และ CD8 T-cells โดยเซลล์ประเภท CD4 นั้นจะได้รับการกระตุ้นตั้งแต่ 1 วันหลังจากที่มีอาการป่วย และมีการเพิ่มจำนวนอย่างมากจนสูงสุดในระยะเวลา 5 วันหลังจากที่มีอาการป่วย

ในขณะที่ CD8 ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อนั้นก็ได้รับการกระตุ้นให้ตอบสนองเช่นกัน โดยจำนวน CD8 ที่เกิดขึ้นนั้นจะแตกต่างกันไป และมีระยะเวลาในการตอบสนองถัดจาก CD4

เมื่อเป็นเช่นนี้...รศ.นพ.ธีระ ย้ำว่า ความใส่ใจสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตในสถานการณ์ปัจจุบัน ระมัดระวัง ไม่ประมาทปรับสภาพแวดล้อมให้ระบายอากาศให้ดีกว่าในอดีต

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

“การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก ทั้งจากโควิด-19 และ PM 2.5 ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดเชื้อซ้ำ ย่อมดีที่สุด”

แม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศไทยที่รายงานจะไม่มากจนน่าตระหนกตกใจ กระนั้นก็อย่าเพิ่งเบื่อข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้...

อัปเดตอีกเรื่องพบว่า “หากติดเชื้อแล้วเกิดปัญหาโควิดขึ้นมา คนที่ได้รับวัคซีนจะมีแนวโน้มที่จะมีอาการลองโควิดน้อยกว่า นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่อาการต่างๆจะสงบลงได้มากกว่าคนที่ไม่ได้รับวัคซีนราว 2 เท่า”

ข้อมูลในเรื่องนี้มาจาก Tran VT และคณะจากประเทศฝรั่งเศส ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ระดับสากล BMJ Medicine (28 ก.พ.2566) โดยเปรียบเทียบลักษณะอาการในกลุ่มผู้ป่วยลองโควิด 910 คน ทั้งในกลุ่มที่... “ได้รับวัคซีน” และ “ไม่ได้รับวัคซีน”

ด้วยความรู้จากงานวิจัยต่างๆที่เพิ่มขึ้น ชี้ให้เห็นประโยชน์ของการฉีดวัคซีน นอกจากลดเสี่ยงป่วยรุนแรง ลดเสี่ยงเสียชีวิต และลดเสี่ยงต่อการเกิดลองโควิดแล้ว หากเกิดติดเชื้อแล้วเป็นลองโควิดขึ้นมา การฉีดวัคซีนยังมีแนวโน้มที่จะลดเรื่องอาการ และมีโอกาสที่อาการลองโควิดจะสงบลงได้มากกว่าการไม่ฉีดวัคซีน

...ขอให้ระมัดระวังในการใช้ชีวิต ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ

...

การเผยแพร่คำลวงให้คนหลงเชื่อว่าควรติดเชื้อเพื่อจะได้มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งกว่าการฉีดวัคซีนนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องและจะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ในอนาคต สำหรับเหยื่อที่หลงเชื่อการติดเชื้อแต่ละครั้งนั้นมีความเสี่ยงที่จะป่วย ป่วยรุนแรง เสียชีวิต หรือเกิดปัญหาลองโควิดตามมาได้แม้จะเคยได้รับวัคซีนมาก่อน

ดังนั้นความใส่ใจสุขภาพ และพฤติกรรมป้องกันตัวจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่โรคระบาด...“ยังไม่ได้สงบจริง”

ช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา...องค์การอนามัยโลกออกรายงานประเมินความเสี่ยงของ “โอมิครอน” สายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 ที่เป็นสายพันธุ์ย่อยที่เกิดขึ้นจากการผสมกันของไวรัสในสายของ BA.2 มีรายงานพบไปแล้ว 74 ประเทศทั่วโลก...

ตอนช่วงที่เป็น XBB.1 นั้นมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งพันธุกรรมที่ทำให้ไวรัสจับกับตัวรับ ACE2 ที่ผิวเซลล์ลดลงไป แต่พอมีการกลายพันธุ์เป็น XBB.1.5 พบว่าตำแหน่งพันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลงคือ 486P

ทำให้สมรรถนะในการจับกับตัวรับ ACE2 ที่ผิวเซลล์เป้าหมายได้แน่นมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้สายพันธุ์ย่อยนี้มีการระบาดที่ขยายตัวได้รวดเร็วกว่าเดิม

ในขณะที่การหลบหลีกภูมิคุ้มกันนั้น ข้อมูลวิชาการชัดเจนว่า “XBB.1.5” มีความดื้อต่อภูมิคุ้มกันพอๆกับ XBB.1 ซึ่งถือว่าสายพันธุ์นี้เป็นหนึ่งในไวรัสที่ดื้อต่อภูมิคุ้มกันที่สุดในบรรดาทุกสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนที่มีมา

...

การดื้อต่อภูมิคุ้มกันนี้ ทำให้แอนติบอดีจากวัคซีนรุ่นเก่านั้นไม่เพียงพอที่จะจัดการไวรัสได้ แต่ข้อมูลปัจจุบันชี้ให้เห็นว่า การกระตุ้นด้วยวัคซีนรุ่นใหม่คือ Bivalent vaccine ที่มีการปรับให้สามารถกระตุ้นภูมิต่อ โอมิครอน BA.5 ได้นั้นจะทำให้มีแอนติบอดีที่สูงกว่าวัคซีนรุ่นดั้งเดิมได้

ทั้งนี้ ระดับแอนติบอดีหลังฉีดเข็มกระตุ้น จะลดลงตามเวลาที่ผ่านไป แต่เชื่อว่าระบบภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ของร่างกายจะยังคงทำงานต่อสู้กับไวรัสเมื่อเกิดการติดเชื้อ และช่วยลดเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงได้

ในแง่ของการป่วยรุนแรงจาก XBB.1.5 นั้น ข้อมูลที่มีอยู่ทำให้เชื่อว่ามีความรุนแรงไม่ต่างจากสายพันธุ์ก่อนๆและลักษณะตำแหน่งพันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลงของ XBB.1.5 นั้น คาดว่าไม่มีตำแหน่งใดที่จะส่งผลต่อเรื่องสมรรถนะการทำให้ป่วยรุนแรงมากขึ้น

โดยสรุปแล้วคาดว่า “XBB.1.5” จะยังคงทำให้เกิดการขยายตัวของการระบาดมากขึ้น อันเนื่องมาจากข้อมูลเกี่ยวกับสมรรถนะด้านต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

คาถาป้องกันตัว ยังคงต้องดำเนินกันต่อไปอย่าให้ขาดตกบกพร่อง... ควรดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวสม่ำเสมอ ระมัดระวังพฤติกรรมเสี่ยง สถานที่เสี่ยง ปรับปรุงเรื่องการระบายอากาศให้ดี ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน ที่เรียน ที่กินดื่ม

...

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องจะช่วยลดเสี่ยงลงไปได้มาก ทั้งจากโควิด-19 และฝุ่นจิ๋วพิษ PM 2.5...ตอนนี้รอบตัวก็ยังคงมีคนที่ติดเชื้อ ทั้งผู้ใหญ่ และเด็ก มีอาการป่วย แม้ไม่รุนแรง แต่ขอให้ตระหนักถึงเรื่องผลกระทบระยะยาวอย่างลองโควิดไว้ด้วยเสมอ

“ไม่ติดเชื้อ” หรือ “ไม่ติดซ้ำ”...ย่อมดีที่สุด.