วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาก็ได้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้งหนึ่ง เรียกว่า “มาฆบูชา” ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปีในทางจันทรคติ แต่ถ้าสังเกตดูให้ดีวันสำคัญนี้มักจะเกิดในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี สำหรับปีนี้เกิดในเดือนมีนาคมเมื่อนับทางสุริยคติ

นั่นก็คือล่าช้าไปเกือบครึ่งเดือนหรือหนึ่งเดือนด้วยซ้ำไป เพราะในปีนี้กลายเป็นปีที่มี “แปดสองหน” ซึ่งนั่นก็เป็นเพียงองค์ประกอบภายนอก ที่สำคัญ...ได้อยู่ที่เนื้อหาสาระของวันที่พุทธศาสนิกชนพึงทำความเข้าใจแล้วน้อมนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อจะให้เกิดเป็นมรรคและเป็นผลต่อชีวิตของคนเรา

“วันมาฆบูชา” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” เป็นวันที่เกิดเหตุอัศจรรย์ในสมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงดำรงพระชนม์อยู่ หลังจากที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ได้เสด็จออกเผยแผ่ธรรมะที่ได้ทรงตรัสรู้แล้วนั้นไปโปรดปัญจวัคคีย์ มวลมนุษย์

...จนได้เกิดมีผู้ศรัทธาเลื่อมใสในพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ขอบรรพชาอุปสมบทเข้ามาในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก พอมาถึงวันดังกล่าวจึงได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นมานั่นคือ เป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เป็น วันที่พระภิกษุจำนวน 1,250 รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมายล่วงหน้าที่กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ชมพูทวีป

...

พระภิกษุที่มาประชุมกันนั้นล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทาคือ ล้วนแต่เป็นรูปที่พระพุทธเจ้าบวชให้และทั้งหมดต่างล้วนเป็น “พระอรหันต์” ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง

จึงได้เรียกว่าเป็น “วันจาตุรงคสันนิบาตคือวันรวมกันที่ครบองค์สี่ประการนั่นเอง”

พระมหาสมัย
พระมหาสมัย

พระมหาสมัย จินฺตโฆสโก ประธานมูลนิธิกลุ่มแสงเทียน เจ้าอาวาสวัดบางไส้ไก่ กทม. บอกว่า ครั้งสมัยพุทธกาลนั้นมิได้มีเครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัยเหมือนปัจจุบัน แต่ทำไมพระภิกษุในพระพุทธศาสนาจำนวนมากจึงได้มาประชุมกันอย่างพร้อมเพรียงได้ในขณะนั้น?

...ก็เพราะความอัศจรรย์และอานุภาพของความดีที่พระภิกษุมีอยู่ในตนเอง ต่างเกิดสัททสัญญาณขึ้นมาโดยอัตโนมัติ นั่นคือความเป็นอรหันตธรรม จึงขอให้พุทธศาสนิกชนไม่ต้องไปตั้งข้อสงสัยเพราะเป็นอจินไตยคือไม่ควรคิด คิดไปก็สมองแตกตาย

“อจินไตย” ที่กล่าวถึงนี้มีอยู่ 4 ประการด้วยกันคือ พุทธวิสัยของพระ พุทธเจ้า วิสัยของผู้ได้ฌานวิบากแห่งกรรม และความคิดเรื่องของชาวโลก

มาย้อนถึงเหตุการณ์หรือสถานการณ์ทางสังคมที่เราเป็นอยู่ในขณะนี้ หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาล้วนได้สะเทือนถึงความมั่นคงของสังคมได้เช่นกัน มีการกระทำที่ผิดกฎหมายบ้านเมืองและผิดศีลธรรมอันดีงามของผู้คนในสังคมเป็นจำนวนมาก เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้งๆที่รู้ว่ามันไม่ดีจนกลาย เป็น “ข่าวชั่วรายวัน”

“นับตั้งแต่ข่าวตำรวจบางนายทำชั่วบ้าง ข่าวครูบางคนทำชั่ว...รวมถึงข่าวพระภิกษุสามเณรบางรูปทำชั่วบ้าง โดยเฉพาะพระภิกษุสามเณรบางรูปไม่ว่าจะระดับใดก็ตาม จะเป็นอาบัติเบาหรืออาบัติหนักทางพระธรรมวินัยหรือเป็นโลกวัชชะเรียกว่าชาวโลกติเตียน เกิดขึ้นมาในกรณีใดก็ทำให้ศรัทธาพุทธศาสนิกชนสั่นคลอน”

...จะเกิดในวัดวาอารามใดก็ตามต่างล้วนเป็น “นักบวช” ในพระพุทธ ศาสนาทั้งนั้น ล้วนปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยเหมือนกันถือศีล 227 ข้อ เหมือนกันถ้าเป็นพระภิกษุ ถือศีล 10 ข้อถ้าเป็นสามเณร ทุกวันไม่ว่าเช้าหรือเพลชาวพุทธต่างถวายอาหารบิณฑบาตและถวายภัตตาหารเพลกันมาอย่างต่อเนื่องไม่เคยขาด

เรียกว่า “อุปถัมภ์ค้ำจุน” มาโดยตลอด

...

พระมหาสมัย บอกว่า ความเชื่อว่าถวายภัตตาหารพระภิกษุสามเณรจะได้รับบุญกุศลคือความอิ่มอกอิ่มใจและมีความสุขตลอดไป แต่มาวันนี้ชาวบ้านเริ่มเกิดศรัทธาคลอนแคลนกันแล้ว ถ้านักบวชไม่ตระหนักและไม่เข้มงวดในข้อวัตรปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักของพระธรรมวินัยแล้ว

เราก็จะกลายเป็น “ต้นเหตุ” ของความเสื่อมทั้งปวง

วันสำคัญทางพระพุทธศาสนามาถึงแล้วก็ขอให้ได้ยึดหลักปฏิบัติตามหลักศาสนพิธีที่เคยปฏิบัติมา เชิญชวนให้ชาวพุทธได้เข้าวัด...ทำบุญ ทำทาน ถือศีล บำเพ็ญเพียรภาวนา บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ให้ความรู้และความเข้าใจแก่ชาวพุทธทั้งทางโลกและทางธรรมควบคู่กันไป

จะได้เกิดความสมดุลของการดำรงชีวิตประจำวัน ไม่ให้เกิดการประพฤติธรรมอย่างสุดโต่งหรือหย่อนยานจนเกินไป ไม่ให้เกิดการ “หลงโลก” จนขาดธรรมะครองใจ วัดควรจะเป็นศูนย์รวมทางจิตใจชาวบ้าน วัดควรจะเป็นศูนย์บริการชุมชนหมู่บ้าน...ชาวบ้าน ที่มีอยู่แล้วและดีอยู่แล้วก็ขอให้ดียิ่งๆขึ้นไปเป็น “ตัวอย่างที่ดี”

“ศรัทธาชาวบ้านก็จะเกิดขึ้นกับพระภิกษุสามเณรที่เป็นนักบวชในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะอยู่ในวัดวาอารามใดหรือแห่งหนตำบลใด ชาวพุทธก็กราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ”

...

ถึงตรงนี้ให้เข้าใจต่อไปอีกว่า “วันมาฆบูชา” นอกจากจะมีความสำคัญดังกล่าวมาแล้วยังเป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้โอวาทแก่พระภิกษุที่มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมายล่วงหน้าเรียกว่า “โอวาทปาติโมกข์” พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนหลักธรรมที่เรียกว่าเป็น “หัวใจของพระพุทธศาสนา”

“การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำความดีให้ถึงพร้อม การทำจิตใจ ให้ผ่องใส” นี่คือคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดาเอกของโลกที่ได้เนิ่นนานผ่านไปสองพันห้าร้อยกว่าปีแล้ว

ย้ำว่า...การไม่ทำบาปทั้งปวงหมายถึง “ความชั่ว” ทุกชนิด ทั้งการทำ ชั่วทางกาย การทำชั่วทางวาจา การทำชั่วทางใจล้วนเป็น “บาป” ทั้งสิ้น การทำชั่วทางกายและทางวาจา อย่างเช่น การเบียดเบียน เข่นฆ่า ทำร้ายคนอื่น ทำให้คนอื่นเดือดร้อน การลักขโมย ฉก ชิง วิ่งราว ฉ้อฉล เบียดบัง คดโกง

...กอบโกยผลประโยชน์ให้กับตนเองทั้งทางตรง...ทางอ้อม ประพฤติผิดสามีภรรยา...ลูกหลานคนอื่นในทางเพศ การพูดจาส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ พูดเท็จ พูดใส่ร้ายคนอื่นให้เกิดความเสียหาย การดื่มน้ำเมาทุกชนิด ก่อให้เกิดการเสียสติ ควบคุมตนเองไม่ได้ ทำลายสุขภาพของตนเองเหตุความประมาท เป็นต้น

...

เหล่านี้เป็นความชั่วที่เกิดขึ้นทางกายและทางวาจาทั้งสิ้น พระมหาสมัย บอกอีกว่า เมื่อสรุปก็หมายถึง “ประพฤติผิดศีลห้าของฆราวาสผู้ครองเรือน” นี่เอง

“คนที่ประพฤติผิดศีลห้าก็เพราะมีกิเลสครอบงำคือความโลภ ความโกรธและความหลงโลภมาเมื่อใดโกรธมาเมื่อใดหรือหลงมาเมื่อใดแล้วกระทำลงไปเมื่อนั้นก็ต้องศีลขาดไปในตัว นอกจากจะผิดศีลธรรมแล้วยังผิดกฎหมายบ้านเมืองอีกด้วยคือผิดทั้งทางโลกและผิดทั้งทางธรรมอยู่ดี”

สิ่งไม่ดีไม่งามที่เกิดขึ้นกับชาวพุทธไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับพระภิกษุสามเณรหรือฆราวาส เราจะต้องช่วยกันตรวจสอบ ขจัด ดูแลร่วมกัน อย่าปล่อยให้เรื่องของ “ชั่วช่างชีดีช่างสงฆ์” กันอีกต่อไป ชาวบ้านทำบุญให้กับวัดและพระภิกษุสามเณรแล้ว ก็ขอให้ช่วยกันตรวจสอบดูแล

ขณะเดียวกัน ก็ขอให้ช่วยกันคุ้มครอง “พระดี” อย่าให้ถูกกลั่นแกล้งหรือถูกทำลายจนศาสนทายาทที่ดีของพระพุทธศาสนาจำเป็นต้อง “สูญหายไป”...ศาสนาพุทธของเราจะดำรงคงอยู่ในสังคมไทยและสังคมโลกได้ตลอดไป “หลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ไม่เสื่อม แต่ผู้ปฏิบัติเสื่อมกันเอง”

“วันมาฆบูชา”... ละชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส.