วันจันทร์สีเหลืองสดใสวันนี้ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 คํ่า เป็น “วันมาฆบูชา” วันที่พระพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรม โอวาทปาติโมกข์ แก่ พระภิกษุ 1,250 รูป ที่มาประชุมโดยพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมายกัน ณ วัดเวฬุวัน พระภิกษุทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ ที่ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง หลักการสำคัญของ โอวาทปาติโมกข์ ก็คือ การทำความดี ทั้งกาย วาจา ใจ ละเว้นความชั่ว ทั้งกาย วาจา ใจ และ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ผ่องใส หลุดจากนิวรณ์ที่ขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี

วันนี้ผมมีพระธรรมเทศนาจาก พระราชพุทธิวรคุณ (อมโรภิกขุ) เจ้าอาวาส วัดอมราวดี ประเทศอังกฤษ ลูกศิษย์ หลวงพ่อชา แปลเป็นภาษาไทยโดย คุณลดาวัลย์ ตั้งตรงจิตรากุล มาเล่าสู่กันฟัง เป็นหนังสือธรรมที่ผมได้มาจากงานสวดพระอภิธรรมศพ คุณนุกูล ประจวบเหมาะ อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ อดีตรัฐมนตรีคมนาคม

ธรรมะที่ พระราชพุทธิวรคุณเทศนา เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา คือ “ไม่แน่” หรือ Not Sure เมื่อไรก็ตามที่เรารู้สึกถึงความไม่แน่นอน เรามักจะเกิดความกังวล รู้สึกกลัว ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ดังนั้น เราจึงพยายามเติมเต็มความรู้สึกนี้ด้วยการวางแผน โดยคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง บ่อยครั้งที่มักหลบเลี่ยงโดยการไม่นึกถึงอนาคต และบอกตัวเองว่าไม่กังวลอะไร หรือไม่ก็ เลิกคิดไปเลย พวกเราส่วนใหญ่ไม่ชอบความรู้สึก “ไม่แน่” มักคิดว่ามันเป็นปัญหา ทำให้เกิดความกังวล

เราส่วนมากคงจะคุ้นเคยกับคำสอนของ พระพุทธเจ้า เรื่อง ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ ทุกสิ่งอยู่ในสภาวะที่ต้องเปลี่ยนแปลงพร่องอยู่เป็นนิจ ไม่รู้จักอิ่ม ความหมายของคำว่า อนิจจัง คือ ไม่เที่ยง คือ ความแปรเปลี่ยน เวลาที่ หลวงพ่อชา จะพูดถึงความหมายนี้ เกือบทุกครั้ง ท่านใช้คำว่า “ไม่แน่” หมายถึง ความไม่แน่นอน มากกว่าความไม่เที่ยง

...

เมื่อเราพูดถึงคำว่า “ไม่เที่ยง” ฟังดูเหมือนสิ่งที่อยู่ภายนอก เหมือนปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น เสียงของอาตมาที่เปลี่ยนไป หรืออารมณ์ของเราที่เปลี่ยนแปลงไป แต่เมื่อเราพูดถึงคำว่า “อนิจจัง” ในความหมายว่า “ไม่แน่” ให้ความรู้สึกในแง่ที่ว่า เรามีความรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงในจิตใจอย่างไร การสัมผัสรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลง นั้นคือ ความไม่แน่ ดังนั้น ความไม่แน่นอน (uncertainty) ในภาษาอังกฤษจึงหมายถึง ประสบการณ์ความรู้สึกในส่วนที่เป็น “ผู้รับรู้” ในขณะที่ ความไม่เที่ยง (impermanent) มักเชื่อมโยงกับ “สิ่งที่ถูกรับรู้” หรือสิ่งภายนอก

เหตุผลที่ พระพุทธเจ้า ทรงให้ความสำคัญของเรื่อง “อนิจจัง” นี้ เพราะว่า เมื่อเราพบกับความไม่แน่นอน แล้วเราเอาตัวเราเองเป็นที่ตั้ง เช่น อะไรจะเกิดขึ้นกับฉัน ฉันต้องสูญเสียสิ่งที่ฉันมีอยู่ไหม ฉันจะทำงานนี้ต่อไปได้ไหม บริษัทของฉันจะรุ่งเรืองหรือล้มเหลว ทุกอย่างล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเรา เมื่อใจเราเผชิญกับความไม่แน่ และมีความยึดมั่นอยู่กับความเป็นตัวตน ความเป็นเรา ของเรา ผลลัพธ์คือ ความกลัว จะเกิดอะไรขึ้นกับเรา ตัวเราจะเป็นอย่างไร

แต่ ผู้เข้าถึงกระแสแห่งธรรม จิตที่ตื่นรู้ตามสัจธรรม ลดละความเป็นตัวตนได้ จะรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลง โดยไม่ยึดมั่นถือมั่น เมื่อปล่อยวางอัตตาตัวตนแล้ว เมื่อไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวเราของเราแล้ว ก็จะเป็นอิสระ ไม่มีใครหรืออะไรให้สูญเสีย ไม่มีใครให้รู้สึกกลัว นี่คือแนวคิดในการเปลี่ยนความกังวลความกลัวต่ออนาคต ให้เป็นความสุขเป็นอิสระ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับมุมมองของเรา

ธรรมะของ หลวงพ่อชา จะเน้นเรื่อง ความไม่แน่นอน อนิจจัง และ ความอดทน

หลวงพ่อชา อธิบายว่า อะไรคือธรรมะ สิ่งที่ว่าไม่แน่ก็คือธรรมะ ถ้าเห็นธรรมะก็เห็นพระพุทธเจ้า ฉะนั้น อันที่มันไม่แน่นอนนี้แหละ คือพระพุทธเจ้า เมื่อตระหนักถึงความไม่แน่นอน คือ จิตตื่นขึ้น เป็น “ผู้รู้” นั่นเอง ผู้เห็นความจริงแห่งความไม่แน่นอน คือผู้เห็นพระพุทธเจ้า ผู้รู้ถึงความไม่แน่ คือผู้มีจิตเป็นพุทธะ ดังคำสอนของพระพุทธองค์ “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” ไม่ว่าทรัพย์สินเงินทองหรือเก้าอี้นายกรัฐมนตรี.

“ลม เปลี่ยนทิศ”