เมื่อวันที่ 2 มี.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สธ. เป็นประธานว่า ที่ประชุมเห็นชอบ 3 เรื่อง คือ 1.ให้ความสำคัญรณรงค์เร่งรัดการฉีดวัคซีน ซึ่งที่ผ่านมาช่วงโควิด-19 ทำให้การฉีดวัคซีนพื้นฐานลดลงทุกพื้นที่ จึงให้หน่วยงานต่างๆเร่งรณรงค์ 2.เร่งรัดให้มีการฉีดวัคซีนเอชพีวีป้องกันมะเร็งปากมดลูก เนื่องจาก 2-3 ปีที่ผ่านมาขาดช่วงไป มีเด็ก 1.2 ล้านคน ไม่ได้รับการฉีด และเห็นควรเพิ่มการฉีดอีก 1.2 ล้านคน เข้าไปมอบให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไปจัดหา และ 3.วัคซีนไอพีวี หรือวัคซีนโปลิโอ เข็มที่ 2 ซึ่งเดิมฉีด 1 เข็ม ตอนนี้ได้ปรับให้ฉีด 2 เข็ม เพื่อควบคุมโรคให้ดียิ่งขึ้น และป้องกันการกลายพันธุ์ เนื่องจากขณะนี้มีการระบาดในบางประเทศใกล้ไทย โดยเห็นชอบให้ คร. และ สปสช.จัดหา

นพ.ธเรศกล่าวถึงการกระจายวัคซีนโควิด-19 รุ่น 2 ไบวาเลนท์ (Bivalent) ซึ่งเป็นวัคซีนไฟเซอร์ 501,120 โดส ที่ได้รับจากรัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลีว่า ได้กระจายไปพื้นที่ต่างๆทุกจังหวัด ทั้งในและนอกสังกัด สธ. ผลการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า วัคซีนดั้งเดิมแบบโมโนวาเลนท์และรุ่น 2 แบบไบวาเลนท์ใช้เป็นวัคซีนกระตุ้นได้ดีเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม วัคซีนรุ่น 2 มีไม่มากจะเน้นฉีดกลุ่มเสี่ยง 607 ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข บุคลากรด่านหน้าเป็นหลักก่อน วันที่ 13 มี.ค.นี้จะได้รับการสนับสนุนวัคซีนรุ่น 2 จากฝรั่งเศสอีกราว 1 ล้านโดส ประชาชนกลุ่มเสี่ยงขอรับได้ โดยโทร.สอบถามสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อนัดหมายล่วงหน้า ย้ำให้มาฉีดเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เพราะยิ่งใกล้เทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงกลับภูมิลำเนาพบผู้ใหญ่ พ่อแม่ญาติพี่น้องอาจมีการนำเชื้อไปติดได้ ทางที่ดีขอให้ไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หากฉีดเข็มล่าสุดนานเกิน 4 เดือนขอให้ไปรับบูสเตอร์ใน รพ.ใกล้บ้าน

...

ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบระเบียบเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีกลไกการจัดหาวัคซีนในภาวะฉุกเฉิน เพื่อสนับสนุนและจัดหาวัคซีนโควิดอย่างครบถ้วน นอกจากนี้มีการนำเสนอความก้าวหน้าวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย ทั้งองค์การเภสัชกรรมได้เริ่มทดสอบในคนระยะที่ 3 ส่วนคณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ เริ่มทดสอบวัคซีนที่ผลิตได้เองในประเทศไทย อยู่ระยะที่ 1 ส่วนใบยาอยู่ในระยะที่ 1 เช่นกัน ทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงศักยภาพวัคซีนของประเทศที่เป็นฐานต่อยอดในวันข้างหน้า.