แม้ประเทศเมียนมาจะผ่าน “การทำรัฐประหารมา 2 ปี” แต่ว่ารัฐบาลทหารยังไม่อาจควบคุมสถานการณ์ได้ “ประชาชนคงออกมาต่อต้าน” มีการใช้ความรุนแรงปราบปรามจนพลเรือนหลายพันเสียชีวิต

ยิ่งกลายเป็นเชื้อเพลิงจุดกระแสสร้างความไม่พอใจให้ “คนเมียนมา” ต้องลุกขึ้นมาจับปืนสู้ปกป้องตัวเองและเรียกร้องประชาธิปไตย “เกิดเป็นสงครามกลางเมืองขยายความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ” แล้วเหตุการณ์นี้กลับถูก “รัฐบาลทหาร” นำมาเป็นข้ออ้างประกาศขยายสถานการณ์ฉุกเฉินอีก 6 เดือนเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2566

ส่งผลกระทบต่อแผนการเลือกตั้งในเดือน ส.ค.2566 อาจเลื่อนออกไปนี้ รศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2564 “พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย” ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา “ทำรัฐประหาร” มีการต่อภาวะฉุกเฉิน 2 ครั้งตามกรอบรัฐธรรมนูญสิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 ม.ค.2566

แต่ว่า “สภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ” มีมติขยายเวลาบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉินอีก 6 เดือน อ้างจาก “ประเทศยังไม่ปกติและต้องการเวลาเตรียมการจัดเลือกตั้งให้เรียบร้อย” สิ่งนี้กำลังสะท้อนให้เห็นว่า “รัฐบาลเมียนมาไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ในประเทศได้” แม้เวลาจะผ่านมา 2 ปีก็ตาม

...

กลายเป็นว่า “กองทัพยึดได้แต่อำนาจไม่อาจบริหารปกครองประเทศได้” แล้วยิ่งกว่านั้นพื้นที่สู้รบรุนแรงที่สุด “กลับเป็นพื้นที่ชั้นใน” โดยเฉพาะตอนกลางของประเทศอย่าง “รัฐสกาย” นั่นก็แปลว่า “ทหารเมียนมาเจอปัญหาการสู้รบกับพลเมืองตัวเอง” ทั้งกลุ่มรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) กองกำลังปกป้องประชาชน (PDF)

ด้วยการลอบวางระเบิด การโจมตีศูนย์ราชการ และการลักลอบซุ่มทำร้ายทหาร ตำรวจกันอย่างต่อเนื่องรายวัน เหตุนี้จึงสรุปได้ว่า “หลังทำรัฐประหาร 2 ปี” รัฐบาลทหารยังไม่สามารถปกครองประเทศได้แล้วก็ไม่ยอมสละอำนาจแต่อย่างใด “เสมือนคนขึ้นหลังเสือแล้วลงยาก” ทำให้แนวโน้มการสู้รบยังคงเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ

เช่นนี้ย่อมกระทบ “เศรษฐกิจ” ข้อมูลธนาคารโลกในปี 2565 หลังรัฐประหาร 1 ปี “เศรษฐกิจเมียนมาตกต่ำมาก” ค่าเงินอยู่ที่ 4,000 จ๊าตต่อดอลลาร์ จากเดิมปกติ 1,000 จ๊าตต่อดอลลาร์ ปีนี้ค่าเงิน 2,400 จ๊าตต่อดอลลาร์

แม้เป็นแบบนั้นก็ตาม “นักธุรกิจค้าขายกับเมียนมา” ต่างหาทางออกของวิกฤตินี้มาตลอดด้วยความคาดหวังในอนาคตสถานการณ์จะดีขึ้น “แต่โอกาสเป็นไปได้ยาก” เพราะแนวโน้มด้านการค้าหลังการระบาดโควิด-19
มีตัวเลขติดลบ 16% ปีนี้รัฐบาลพยายามบอกว่าการค้าเพิ่มขึ้น 6% แต่ก็เป็นการเพิ่มที่ยังติดลบ 10% อยู่เช่นเดิม

รศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล
รศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล

เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้ “สถานะความเป็นอยู่ประชาชนต้องเผชิญความลำบากแย่ลงทุกวัน” กระนั้นก็ดี “รัฐบาลเมียนมา” ก็พยายามหาทางออกอย่างล่าสุด “ปรับนโยบายหลายด้าน” เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งมีการนำเข้าสินค้าหลายประเภทผ่านทางด่านพรมแดนถาวรแม่สอด จ.ตาก มากมายอีกด้วย

ประการถัดมา “ด้านสังคม” เท่าที่ทราบปรากฏพบ “ฝ่ายต่อต้านบอยคอต กองทัพ” ทำให้ประชาชนที่ร่วมงานกับรัฐบาลต่างต้องใช้ชีวิตด้วยความลำบาก เพราะถูกต่อต้านจากคนในหมู่บ้านไม่เว้นแม้แต่ “เด็กนักเรียนที่เข้าโรงเรียนของรัฐ” ต้องถูกกล่าวหาว่า “อยู่ฝ่ายกองทัพ” จนเกิดการไม่คบค้าสมาคมกับครอบครัวนั้น

ฉะนั้นตอนนี้ “ครอบครัวใดมีฐานะดีจะส่งบุตรหลานไปเรียนต่าง ประเทศ” สามารถสังเกตจากนักเรียนในเมียวดีอันติดชายแดนไทยต่างพากันข้ามพรมแดนมาเรียนในโรงเรียน อ.แม่สอด จ.ตาก มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เรื่องนี้ไม่แน่ใจว่า “รัฐประหารผ่านมา 2 ปีนี้” สถานการณ์เมียนมาในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป...?

แน่นอนว่า “องค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงอาเซียน” ต่างพยายามเสนอให้ “NUG และกองทัพเมียนมาเจรจากัน” ทำให้ฝ่ายประชาชนไม่พอใจออกมาประท้วงจะไม่สนับสนุน NUG ดังนั้นสถานการณ์ในเมียนมา “ไม่ใช่ว่าพรรคการเมืองเจรจาแล้วทุกอย่างจะจบ” เพราะประชาชนยังมีความโกรธแค้นกองทัพอยู่มาก

สิ่งนี้นำมาสู่ “การบอยคอตรัฐบาลสู่ปีที่ 3” เรื่องนี้คนเมียนมาจำนวนไม่น้อยต่างไม่เห็นด้วยเพราะเด็กต้องรับเคราะห์ไม่สามารถเรียนหนังสือได้เป็นจำนวนมาก ทั้งประชาชนต้องอยู่กันด้วยความยากลำบากมากขึ้นอีก

...

ถัดมาคือ “บทบาทอาเซียนลดความรุนแรง” ถ้าย้อนดูในช่วงกองทัพเมียนมาก่อการรัฐประหารใหม่ๆ “รมว.ต่างประเทศบรูไนผลักดันฉันทามติ 5 ข้อในอาเซียน” คือ 1.ยุติความรุนแรง 2.เจรจาหาทางออกอย่างสันติ 3.ทูตพิเศษอาเซียนเป็นสื่อกลางเจรจา 4.อาเซียนช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม 5.ทูตเยือนเมียนมาพบปะทุกฝ่าย

ทว่าเวลาผ่านมา 2 ปีปรากฏว่า “ฉันทามติ 5 ข้อกลับไม่บรรลุเป้าหมายสักข้อเดียว” เพราะเมียนมาปฏิเสธปฏิบัติตามข้อเรียกร้องนั้นอ้างว่า “เป็นกิจการภายในประเทศ” แม้แต่ตัวแทนอาเซียนเจรจาขอเข้าพบนักโทษทางการเมืองอย่างเช่น “กลุ่มผู้ประท้วงฝ่าย NUG หรืออองซานซูจี” ก็มักถูกปฏิเสธมาตลอดแทบทั้งสิ้น

ต่อมาในปี 2565 “สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกฯกัมพูชา รับตำแหน่งประธานอาเซียน” ประกาศสนับสนุนเต็มที่ต่อ “การลดความตึงเครียดในเมียนมา” พร้อมเปิดการพูดคุยระหว่างผู้เกี่ยวข้อง ทั้งเดินทางไปพูดคุยด้วยตนเอง หรือส่งผู้แทนเจรจากับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จ

ในปีนี้ “อินโดนีเซียเป็นประธานหมุนเวียนอาเซียน” ประกาศนำบทเรียนในอินโดนีเซียพูดคุยกับผู้นำเมียนมาจนหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า “อินโดนีเซียน่าจะมีวิธีพูดคุยกับเมียนมา” เพราะรัฐธรรมนูญเมียนมาลอกจากรัฐธรรมนูญอินโดนีเซีย ดังนั้นเราคงต้องติดตามกันต่อว่า “ประธานอาเซียนคนใหม่” จะสามารถทำอะไรได้หรือไม่

ถ้าเอาเข้าจริงแล้วมองว่า “อาเซียนเข้ามาเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในเมียนมาคงเป็นไปได้ยาก” เพราะเป็นการต่อสู้กันภายในประเทศแล้ว “กองทัพเมียนมา” ก็ไม่สนใจนานาชาติข่มขู่คว่ำบาตร เพราะเขาเคยเผชิญการไม่มีมิตรประเทศมาก่อน และการจะกลับอยู่ในสถานะอันมีมิตรประเทศน้อยลงก็ไม่ใช่แปลกอะไร

...

กลายเป็นตอกย้ำหลายฝ่ายกังวลกันว่า “เมียนมาจะเป็นผู้ป่วยในเอเชีย” ส่งผลกระทบประชาคมอาเซียนเผชิญปัญหาตามไปด้วย “ทำให้ประเทศไทยถูกกดดันถูกคาดหวังจากทุกฝ่าย” เพราะเป็นประเทศประสบความสำเร็จ “ด้านมนุษยธรรม” สามารถจัดการปัญหาในยามที่ประเทศรอบบ้านเกิดวิกฤติสงครามกลางเมืองได้ดี

ทั้งกรณีเดียนเบียนฟูในเวียดนาม สงครามกลางเมืองลาว สงครามเขมร 3 ฝ่าย แม้แต่สงครามกลางเมืองเมียนมาปี 1980 ล้วนสามารถแก้ไขวิกฤติให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประเทศเพื่อนบ้านผ่านพ้นมาได้ดีทุกครั้ง ทำให้นานาชาติต่างคาดหวังว่า “ประเทศไทย” ในฐานะมีพรมแดนติดต่อกันจะแสดงบทบาทนั้นอีกครั้ง

“คราวนี้ดูเหมือนว่าประเทศไทยค่อนข้างนิ่งเฉยกว่าทุกครั้งจนมีคนวิจารณ์อาจเกิดความเกรงใจเมียนมามากกว่าอดีต เพราะต้องพึ่งพาพลังงาน หรือแรงงานจากเมียนมาหรือไม่ แต่ถ้าให้เดาเชื่อว่ารัฐบาลไทยกำลังชั่งน้ำหนักระหว่างผลประโยชน์ของชาติและภาพลักษณ์ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ” รศ.ดร.นฤมลว่า

จึงอยากฝาก “รัฐบาลไทย” กรณีผลประโยชน์ชาติในแง่ความมั่นคงทางพลังงาน ความมั่นคงเศรษฐกิจด้านแรงงาน และภาพลักษณ์ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ “มิใช่เป็นเรื่องขัดแย้งกัน” สามารถทำให้เกิดความสมดุลร่วมกันได้ “แต่ไม่ใช่เงียบแบบนี้” อาจเป็นเพราะเคยชินทำนโยบายเงียบๆ แบบหลังบ้านมากไป

...

อย่างที่ทำมากรณีเมียนมาให้นานาชาติช่วยเหลือผู้ประสบภัยนาร์กีส หรือปล่อยนักโทษการเมือง 5 พันคน ล้วนเป็นความพยายามของกองทัพไทยพูดคุยนอกรอบกับเมียนมา แต่กระทรวงการต่างประเทศมีบทบาทน้อยมาก

สิ่งที่อยากเสนอคือ “แยกบทบาทกระทรวงการต่างประเทศ และบทบาทกองทัพไทยออกจากกัน” เพื่อให้กระทรวงการต่างประเทศกลับมายืนหยัดตามหลักการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสากลที่ทำมาจนถูกยอมรับเพราะภายใต้สถานการณ์เมียนมากำลังติดหล่ม “ไม่อาจแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และสังคม” ต้องเผชิญความลำบากอยู่นี้

ประเทศไทยควรแสดงท่าทีความเป็นมิตรช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ประเทศเพื่อนบ้าน

การประชุมผู้นำอาเซียนคราวหน้าก็หวังว่า “เหล่าบรรดามิตรประเทศ” จะพูดคุยหาทางออกที่เป็นไปได้ร่วมกัน “คลี่คลายวิกฤติการเมืองในเมียนมา” เพื่อลดความรุนแรงให้ประชาชนสามารถอยู่รอด.