ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ วงศ์สินศิริกุล เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ครั้งที่ 9/2566 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ได้พิจารณากรณีการแจ้งผลการรวมธุรกิจเสร็จสิ้นแล้ว 2 กรณี เกี่ยวกับสินค้าอุตสาหกรรม ธุรกิจประเภทวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร ที่จะจัดทำคำวินิจฉัยเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะต่อไป

ในส่วนของการดำเนินงานของคดีทางปกครอง ปัจจุบัน มีคดีที่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเป็นคู่ความจำนวนทั้งสิ้น 14 คดี โดยมีกรณีคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เช่น คดีที่ตัวแทนผู้บริโภคฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการที่มีคำสั่งอนุญาตให้รวมธุรกิจ ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้มีคำขอให้ศาลออกคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาโดยทุเลาการบังคับตามคำสั่งไว้ก่อน ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งยกคำขอดังกล่าว ซึ่งคำสั่งของศาลที่ยกคำขอทุเลาการบังคับนี้เป็นที่สุดตามกฎหมาย อย่างไรก็ดี ในส่วนเนื้อหาของคดีหลักที่ยังโต้แย้งกันอยู่คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้นที่ต้องติดตามผลแห่งคดีกันต่อไป นอกจากนี้ ด้วยเหตุที่คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ในการพิจารณาลงโทษผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการลงโทษทางปกครอง ปรากฏว่านับตั้งแต่มีการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้านั้น มีการสั่งลงโทษปรับทางปกครองผู้ประกอบกิจการแล้วหลายราย โดยผู้ประกอบธุรกิจที่ถูกลงโทษปรับเหล่านั้น ประกอบไปด้วยผู้ประกอบธุรกิจรถยนต์ ผู้ประกอบธุรกิจขนส่ง ผู้ประกอบธุรกิจรับซื้อผลไม้หรือที่เรียกว่า “ล้ง” โดยมี 11 ราย ที่ยังมิได้ชำระค่าปรับทางปกครอง และบางรายได้ใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล โดยคณะกรรมการฯ ได้ใช้สิทธิตามกฎหมายฟ้องคดีเพื่อบังคับชำระค่าปรับทางปกครองด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งต้องติดตามผลคำพิพากษาของศาลปกครองต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวาระการดำรงตำแหน่งของเลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า มีความท้าทายในการปฏิบัติงานอย่างมาก ซึ่งต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ได้ร่วมมือกับศูนย์การค้าระหว่างประเทศ (International Trade Center) จัดการประชุมนำเสนอแผนงานการจัดตั้งศูนย์บริหารองค์ความรู้ด้านการแข่งขันทางการค้า (Competition Academy) และแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือกำกับดูแลการแข่งขันข้ามพรมแดน ทั้งนี้ การร่วมมือกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าและหน่วยงานกำกับดูแล

ด้านการแข่งขันทางการค้าของต่างประเทศ ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญ เพราะนอกจากการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในหลากหลายมิติแล้วยังเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศ ที่สนใจจะมาลงทุนในไทย