นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยถึงผลการดำเนินงานของ สศก. โดยกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (กองทุน FTA) ที่ได้ร่วมกับสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด จ.สระแก้ว และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในการพัฒนาฟาร์มโคนม 50 ฟาร์มของ Smart Farm สมาชิกสหกรณ์ให้เข้าสู่มาตรฐาน GAP เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาคุณภาพพันธุ์โคนม สร้างมูลค่าเพิ่มของน้ำนม ด้วยการปรับปรุงคุณภาพการเลี้ยงและระบบการรีดน้ำนมดิบในระบบปิด

“โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อรองรับผลกระทบจากความตกลงการค้าเสรี ไทย-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ได้สนับสนุนงบประมาณ 77.69 ล้านบาท เป็นเงินจ่ายขาด 4.19 ล้านบาท เพื่ออบรมเกษตรกรหลักสูตรการเพิ่มศักยภาพการเลี้ยงโคนม หลักสูตรการจัดการสิ่งแวดล้อม และเงินยืมปลอดดอกเบี้ยอีก 73.50 ล้านบาท เพื่อจัดหาแม่พันธุ์โคนมสายเลือด Holstein Friesian สร้างโรงเรือนและอุปกรณ์เครื่องรีดนมโคระบบปิดแบบอัตโนมัติพร้อมแท็งก์เก็บที่มีการควบคุมอุณหภูมิ รวมถึงการบริหารจัดการระบบขนถ่ายอาหารสัตว์ และระบบขนส่งน้ำนมดิบของสมาชิกไปยังสหกรณ์”

...

เลขาธิการ สศก.เผยถึงผลการดำเนินงานของโครงการ เกษตรกรการจัดสรรโคนมเพศเมียพันธุ์ Holstein Friesian ฟาร์มละ 10 ตัว รวมทั้งสิ้น 500 ตัว ทุกฟาร์มได้รับการสร้างโรงเรือนและระบบการรีดนมในระบบปิดที่ทันสมัย ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ตลอดจนการเลี้ยงดูโคนมในระยะตามหลักวิชาการ ในรูปแบบ Smart Farm ที่ถูกสุขลักษณะ เป็นไปตามมาตรฐาน GAP สามารถผลิตน้ำนมที่มีคุณภาพสอดคล้องกับมาตรฐาน GMP มีการสร้างศูนย์ระบบสารสนเทศ ระบบการเลี้ยงโคนมของแต่ละฟาร์มที่เชื่อมโยงเครือข่ายสหกรณ์ และการสร้างระบบการผสมอาหารในรูป (TMR) ขณะนี้มีฟาร์มที่เป็นต้นแบบกว่า 10 ฟาร์ม และเปิดให้เกษตรกรเลี้ยงโคนมรวมถึงผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาหาความรู้

นอกจากนี้ เกษตรกรสมาชิกยังได้รับองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการและระบบการขนถ่ายอาหารเลี้ยงโคนมจากสหกรณ์ไปยังสมาชิก ขนส่งน้ำนมดิบจากคูลเลอร์แท็งก์ของสมาชิกมายังสหกรณ์ ทำให้ปัจจุบันสหกรณ์มีโรงงานผลิตอาหารโคนมสำหรับสมาชิก มีการจัดตั้งศูนย์รับน้ำนมดิบ 4 แห่ง โดยสหกรณ์ให้บริการรถขนถ่ายน้ำนมดิบจากคูลเลอร์แท็งก์ของฟาร์มสมาชิกมายังโรงรีดนมระบบปิดแบบอัตโนมัติ

“เกษตรกรสมาชิกผู้เข้าร่วมโครงการทั้ง 50 ฟาร์ม ที่ส่งน้ำนมดิบให้สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จะได้น้ำนมที่มีคุณภาพดีจากการรีดน้ำนมระบบปิดแบบอัตโนมัติ มีจำนวนจุลินทรีย์ในน้ำนมน้อยกว่า 150,000 โคโลนี/ลบ.ซม.และมีจำนวนเม็ดเลือดน้อยกว่า 200,000เซลล์/ลบ. ซม. เป็นไปตามมาตรฐานการรับซื้อน้ำนมโคเกณฑ์สูงสุด นอกจากนี้ ระบบจัดการอาหารแบบ TMR ทำให้มีปริมาณเนื้อนมไม่รวมมันเนยเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 8.70 และมีปริมาณไขมันที่เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 4.00 ส่งผลคุณภาพน้ำนมที่ได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด” นายฉันทานนท์ สรุปผลที่ได้จากการดำเนินโครงการ.