เหตุการณ์เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติสามารถเกิดขึ้นกับทุกคนแล้ว “ผู้ป่วยบางส่วน” น่าจะเคยเข้ารักษาตัวใน รพ.เอกชน “เพราะด้วย รพ.ของรัฐไม่เพียงพอ” จนต้องถูกเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลแพง

แม้ว่า “รัฐบาลมีนโยบายสิทธิยูเซป (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP)” กำหนดให้กองทุนตามสิทธิเป็นผู้ตามจ่าย เพื่อให้ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติได้รับการคุ้มครองเข้าถึงการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุด “โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย” จนพ้นวิกฤติสามารถเคลื่อนย้ายได้ปลอดภัยไม่เกิน 72 ชม.

แต่ด้วยในทางปฏิบัติ “นโยบายยูเซป” ผู้บริโภคยังถูกเรียกเก็บเงินใน รพ.เอกชน ที่ร้องเรียนปัญหาผ่าน “สภาองค์กรของผู้บริโภค” เพราะส่วนใหญ่โรงพยาบาลไม่ประเมินผู้ป่วยมีอาการเข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉินนั้น ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย และญาติ ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายนำไปสู่ความล้มละลายจากการบาดเจ็บ

ทั้งยังกระทบทางสุขภาพที่ไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที เนื่องจากขาดแคลนทางการเงินนำมาสู่งานศึกษากลไกการจ่าย และการควบคุมอัตราการเบิกจ่ายค่าบริการ กรณีการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ และผู้ป่วยฉุกเฉินหลังพ้น 72 ชม.โดย นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสุขภาพ กล่าวว่า

...

ถ้าทบทวนกลไกค่ารักษาพยาบาล รพ.เอกชนในต่างประเทศ “มักจ่ายคลุมทุกโรค” เช่น “ไต้หวัน และสิงคโปร์” จ่ายตามการบริการโดยระบบประกันสุขภาพร่วมจ่ายส่วนเกิน “สหรัฐฯ” มีทั้งเหมาจ่ายตามกลุ่มโรค จ่ายตามวัน จ่ายตามต้นทุน และประกันสุขภาพร่วมจ่ายส่วนเกิน “อังกฤษ” โรงพยาบาลทุกแห่งเป็นของรัฐจ่ายเหมาตามโรค

แต่ประเทศเหล่านี้มีกลไกการควบคุมราคาด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเชื่อมโยง 3 ด้าน คือ ด้านข้อมูลการเงิน การวินิจฉัยทางการแพทย์ ข้อมูลทางคลินิกให้บริการนำมาประกอบเป็นกลไกควบคุมราคาทำให้ภาครัฐมีข้อมูลใช้พัฒนาระบบบริการ บริหารจัดการค่าใช้จ่าย และติดตามข้อมูลบันทึกโรงพยาบาลทุกแห่งหรือคนไข้ทั้งหมด

ย้อนมาดู “ข้อมูล รพ.เอกชนในไทย” แบ่งเป็น 2 ชุดข้อมูล คือ ชุดแรก...“ข้อมูลการขึ้นทะเบียนสถานพยาบาล” ชุดที่สอง...“ข้อมูลรายงานประจำปี” ประเภทรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน (ส.พ.24) แบ่งเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน

กลุ่มที่ 1.รพ.เอกชนทั่วไปรักษาผู้ป่วยทุกโรค กลุ่มที่ 2.รพ.เอกชนเฉพาะทาง แล้ว 2 ประเภทนี้ขึ้นทะเบียน 396 แห่งใน 68 จังหวัด “กรุงเทพฯมากสุด 126 แห่ง” ส่วนที่เหลือกระจายอยู่หัวเมือง ดังนั้น รพ.เอกชนในกรุงเทพฯ และจังหวัดใหญ่ เป็นตัวเลือกสำคัญเมื่อเกิดความจำเป็นในการเข้าใช้บริการ เพราะ รพ.ของรัฐไม่เพียงพอ

ปัญหาว่า “การจัดส่งแบบรายงาน ส.พ.24 มีน้อยมาก” ทั้งที่เป็นข้อมูลสำคัญบอกถึง “คนไทยเข้าถึงบริการแบบไหนอย่างไร” ในปี 2563 จำนวน 131 แห่งจาก 396 แห่งขึ้นทะเบียน ปี 2564 มีอยู่ 19 แห่ง ปี 2565 มีอยู่ 97 แห่ง “ส่วนที่เหลือไม่ส่งรายงานแต่เปิดให้บริการได้” ทำให้ตั้งคำถามควรกำกับให้ต้องส่งข้อมูลนี้หรือไม่

ประการถัดมา “นโยบายยูเซปดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติได้จริงหรือไม่...?” ตามข้อมูล สปสช.นั้นแต่ละปีมี รพ.เอกชนเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการสูงสุด คือ ค่าบริการพยาบาลทั่วไป ICU 4.2 หมื่นครั้ง มูลค่าการเบิก 164 ล้านบาท ค่าสายสวนโรคหัวใจ 2,000 กว่าครั้ง มูลค่า 95 ล้านบาท ห้องผู้ป่วยวิกฤติ 4.3 หมื่นครั้ง มูลค่า 69 ล้านบาท

ถ้ามาดู “กลุ่มโรคเบิกจ่ายฐานข้อมูลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติมากที่สุด” มักเป็นกลุ่มโรคหลอดเลือดสมองเบิก 2,000 กว่าครั้ง มูลค่า 234 ล้านบาท กลุ่มโรคใส่สายสวนหัวใจ 931 ครั้ง มูลค่า 260 ล้านบาท สิ่งนี้สะท้อนถึงรายการถูกเบิกจ่ายสอดคล้องตอบโจทย์การให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติได้รับประโยชน์จากระบบยูเซปค่อนข้างมาก

...

ดังนั้นต้องชื่นชม “ระบบยูเซป” สามารถตอบโจทย์การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติของประเทศไทยได้ระดับหนึ่งเลยทีเดียว “จำเป็นต้องคงยูเซปไว้” เพราะด้วยตอนนี้มีคนบางกลุ่มพยายามทำให้ระบบนี้เล็กลงเรื่อยๆ

ย้ำด้วย “ค่าบริการระบบยูเซป” แน่นอนว่า “รพ.เอกชน” มักมีความเห็นในการให้บริการไม่คุ้มค่าเพราะ “ผู้ใช้บริการจ่ายน้อยราคาถูก” ทำให้พยายามเสนอภาครัฐตรวจสอบรายงานทางการเงินว่า “มีกำไรไม่มากจากการให้บริการ” ฉะนั้นขอใช้โอกาสนี้วิเคราะห์โครงสร้างค่าใช้จ่าย รพ.เอกชนว่าเป็นไปตามกล่าวอ้างหรือไม่

ตามข้อมูล “รายงานทางการเงิน รพ.เอกชนส่งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในปี 2561-2563” ปรากฏโรงพยาบาลส่งรายงานทางการเงิน 100 แห่งอันจะเห็นได้ว่า “การเงินของ รพ.เอกชน มีต้นทุนไม่แตกต่างไปจาก รพ.ของรัฐ” เน้นค่าแรงค่าจ้างสัดส่วน 61-68% ค่าวัสดุ (ค่ายา) มีต้นทุนเพียง 25-44% ค่าการลงทุน 3-15% แล้วมีต้นทุนการให้บริการผู้ป่วยคิดเป็น 70% ของต้นทุนทั้งหมด และอีก 30% เป็นต้นทุนการบริหารจัดการ

...

หากเจาะดูเฉพาะ “ราคาค่ายา รพ.เอกชนจัดซื้อ” ตามรายงานส่งให้ “กรมการค้าภายใน” ภายใต้เงื่อนไขในการควบคุมค่ายานั้นพบต้นทุนการจัดซื้อยาระหว่าง “รพ.เอกชน และ รพ.ของรัฐ ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยทางสถิติ” ดังนั้นที่ผ่านมากรณี รพ.เอกชนอ้างว่าซื้อยาแพงกว่า รพ.ของรัฐ ก็ไม่เป็นความจริง

“แต่ว่าโรงพยาบาล 2 ประเภทนี้กลับมีราคาการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลที่ค่อนข้างไม่เท่ากันอย่างมาก โดยเฉพาะ รพ.เอกชน มีค่าเฉลี่ยการใช้ทรัพยากรในการรักษาผู้ป่วยอยู่ที่ 65,559.62 บาท ขณะที่ รพ.ของรัฐ มีค่าเฉลี่ยในการใช้ทรัพยากรการรักษาผู้ป่วยอยู่ที่ 12,000 บาท ซึ่งต่างกันกว่า 5 เท่า” นพ.ขวัญประชาว่า

ขณะที่ “การเบิกจ่ายค่าบริการกรณียูเซป ปี 2561-2563” ในแง่มูลค่าของรายการเบิกจ่ายพบ 3 อันดับแรกมีมูลค่าสูง คือ ค่าบริการวิชาชีพ 668 ล้านบาท อวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค 239 ล้านบาท และค่าตรวจวินิจฉัย-รักษาทางรังสีวิทยา 161 ล้านบาท ตรงนี้ต้องควบคุมเหมือนกับการควบคุมค่ายาด้วยหรือไม่

...

ฉะนั้นพิจารณาเฉพาะอัตราการทำกำไรขั้นต้นเกี่ยวข้องกับต้นทุนการรักษาพยาบาล และรายรับจากการรักษาพยาบาลโดยตรง “รพ.เอกชน” สามารถทำกำไรได้ทั้งสิ้นโดยมีอัตราการทำกำไรต่ำสุดอยู่ที่ร้อยละ 7 สูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 50 ค่าเฉลี่ยจากอัตราการทำกำไรขั้นต้นของ รพ.เอกชนอยู่ที่ร้อยละ 30.06

จำแนกเป็นการทำกำไรขั้นต้นโรงพยาบาลทั่วไปร้อยละ 27.21 โรงพยาบาลเฉพาะทางร้อยละ 44.40

สิ่งที่อยากเสนอ “ด้านระบบดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ” ควรควบคุมราคาเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลโดยประกาศกำหนดอัตราค่าบริการตามค่าเฉลี่ยการใช้ทรัพยากรรักษาผู้ป่วย และตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม สามารถทำได้ 2 แนวทาง คือ 1.กำหนดการเรียกเก็บค่ารักษาสูงสุดต่อค่าเฉลี่ยการใช้ทรัพยากรรักษาผู้ป่วยใน รพ.เอกชน

ข้อ 2.พัฒนาข้อมูลกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมและค่าเฉลี่ยในการรักษาผู้ป่วยสำหรับ รพ.เอกชนขึ้นใหม่ เพื่อใช้กำหนดเพดานค่าบริการไม่ให้เกินราคากำหนดจากการคำนวณค่าเฉลี่ยการใช้ทรัพยากรการรักษาผู้ป่วยโรคร่วมนั้น

นอกจากนี้ “ด้านระบบข้อมูลควบคุมและกำหนดราคาการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลของ รพ.เอกชน” ควรพัฒนาระบบคลังข้อมูลทางบัญชีสำหรับกิจการบริการโรงพยาบาล พร้อมแสดงรายละเอียดงบการเงินของธุรกิจประเภทโรงพยาบาลทุกรายการที่ปรากฏในงบกำไรขาดทุน และพัฒนาระบบคลังข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจ

อีกทั้งพัฒนาระบบคลังข้อมูลผลงานการให้บริการผู้ป่วย ทรัพยากร เครื่องมือแพทย์ของ รพ.เอกชน และพัฒนาระบบคลังข้อมูลการให้บริการผู้ป่วยรายบุคคล และราคาเรียกเก็บของผู้ป่วยที่ไปรับบริการที่ รพ.เอกชน

นี่คือ “ช่องโหว่ระบบยูเซป” สะท้อนผ่านงานทางวิชาการเสนอต่อ “รัฐบาล” นำไปพิจารณาแก้ไขให้ครอบคลุมตามจุดมุ่งหมาย “นโยบายยูเซป” เพื่อให้ผู้ป่วยรับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทันท่วงที “ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่แรกจนพ้นภาวะวิกฤติ” เพราะชีวิตทุกคนล้วนเป็นสิ่งที่สำคัญสูงสุด...