ผมกลับจากมุกดาหารได้วันเดียว ก็ทราบข่าวจากสื่อมวลชนทุกแขนงว่า อดีตรัฐมนตรีคมนาคมและอธิบดีอีกหลายๆกรมของกระทรวงการคลัง รวมทั้งล่าสุดอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย “นุกูล ประจวบเหมาะ” ได้ถึงแก่อนิจกรรมแล้วด้วยวัย 93 ปี

โดยส่วนตัวผมไม่สนิทสนมกับท่านมากนัก เคยพูดคุยกันอย่างไม่ เป็นทางการครั้ง 2 ครั้ง ในช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลของท่านนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน

ช่วงนั้นผมได้รับมอบหมายจากสำนักนายกรัฐมนตรี ให้จัดทำหนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับนโยบายและความคิดและผลงานของท่านนายกฯอานันท์ ปันยารชุน ต้องยกทีมไปที่ตึกไทยคู่ฟ้าหลายครั้ง

เพื่อที่จะสัมภาษณ์ในช่วงที่นายกฯอานันท์ว่าง ซึ่งมักจะเป็นช่วงรับประทานอาหารกลางวัน...และบ่อยครั้งจะมีรัฐมนตรีที่ท่านนายกฯชวนมารับประทานอาหารด้วย คอยช่วยเสริมในรายละเอียด

น่าจะ 2 ครั้งที่ท่านนุกูลมาร่วมพูดคุยในระหว่างรับประทานอาหารด้วยกัน เมื่อการสัมภาษณ์มาถึงช่วงที่เกี่ยวกับปัญหาโครงการโฮปเวลล์

ถึงแม้ผมจะมีโอกาสพูดคุยกับท่านนุกูลน้อยครั้งมาก แต่ก็ได้ติดตามประวัติการทำงานและการศึกษาของท่านมาตลอด

เหตุเพราะในช่วงหนึ่งผมต้องรวบรวมประวัติการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมตั้งแต่ฉบับที่ 1 ยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เรื่อยมาจนถึงฉบับที่ 5 ยุค “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เพื่อนำไปใช้ในการประชาสัมพันธ์ให้คนไทยรู้จักแผนพัฒนาของประเทศไทยมากขึ้น

ทำให้ผมต้องไปค้นคว้าข่าวเก่าๆ บันทึกเก่าๆ เกี่ยวกับเบื้องหลังการพัฒนาประเทศของเรา ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจาก ธนาคารโลก ที่ใช้อิทธิพลผ่านทางกระทรวงการคลัง มาถึงจอมพลสฤษดิ์ว่าประเทศไทยจะต้องมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเป็นเรื่องเป็นราว จึงจะมีโอกาสได้ใช้เงินกู้จากธนาคารโลกอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

...

เท่ากับว่าข้าราชการกระทรวงการคลังยุคโน้นไล่มาตั้งแต่ “รุ่นเดอะ” อย่าง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อย่างท่านอาจารย์ บุญมา วงศ์สวรรค์ หรือทางสายธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น ม.ล.เดช สนิทวงศ์, ฉลอง บึงตระกูล, ประหยัด บุรณศิริ, สุภาพ ยศสุนทร คือผู้วางรากฐานในการจัดทำแผนเศรษฐกิจของประเทศไทยยุคแรกตัวจริงเสียงจริง

ก่อนที่จะยกสถานะ “สภาเศรษฐกิจ” ซึ่งเป็นหน่วยวิชาการให้เป็น “สภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ” รับผิดชอบต่อในภายหลัง

สำหรับ “รุ่น 2” รองมาหน่อยที่เปรียบเสมือน “มือไม้” ทั้งช่วยเก็บข้อมูล ทั้งเรียบเรียงเป็นลายลักษณ์อักษร และปฏิบัติด้วยตนเอง ฯลฯ นั้นจะมีรายชื่อของข้าราชการรุ่นใหม่ (ของยุคโน้น) เช่น นุกูล ประจวบเหมาะ, เสนาะ อูนากูล, ไกรศรี จาติกวณิช, ชวลิต ธนะชานันท์ ไปจนถึง ดร.อำนวย วีรวรรณ, ดร.พนัส สิมะเสถียร ฯลฯ อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย

จึงไม่แปลกที่วันหนึ่ง นุกูล ประจวบเหมาะ ต้องโอนไปเป็นรองอธิบดีกรมทางหลวง เพื่อจะควบคุมดูแลและประสานการใช้เงินกู้เพื่อก่อสร้างทางหลวงในช่วงแรกๆ

หลังจากจบภารกิจที่กรมทางหลวง ท่านก็ย้ายกลับมาเป็นข้าราชการกระทรวงการคลังตามเดิมได้เป็นอธิบดีหลายๆกรม ก่อนที่จะไปดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการแบงก์ชาติ แทน ดร.เสนาะ อูนากูล เพื่อนรักของท่านที่ลาออกจากตำแหน่งเพราะมีปัญหาด้านสุขภาพ เมื่อ พ.ศ.2522

นี่คือเส้นทางการทำงานของชายที่ชื่อ นุกูล ประจวบเหมาะ ในฐานะนักรบเศรษฐกิจรุ่นแรกๆ ที่ได้ลงหลัก “ปักเสาเข็ม” อันแข็งแกร่งให้แก่ประเทศไทยของเรา

เป็น “ชีวิตที่คุ้มค่า” ดังชื่อหนังสือเล่มที่ท่านเคยเขียนไว้และจัดพิมพ์โดยนานมีบุ๊คส์เมื่อหลายปีก่อนโน้น

ผมขอแสดงความอาลัยและเสียใจอย่างยิ่งต่อญาติมิตรของท่านที่ได้สูญเสียท่าน ซึ่งแม้จะเป็นไปตามอายุขัย แต่ทุกครั้งที่เกิดการสูญเสียย่อมนำมาซึ่งความเศร้าสลดเป็นของธรรมดา

ขณะเดียวกัน ก็ขอกราบขอบพระคุณในทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านรังสรรค์ไว้แก่ประเทศไทย โดยเฉพาะการตอกเสาเข็มทางเศรษฐกิจไว้อย่างแข็งแกร่ง จนประเทศไทยของเรามีวันนี้และพร้อมจะก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคงในวันข้างหน้า

เป็นสุข ณ สรวงสวรรค์ตราบกาลนิรันดร์นะครับ “ท่านอาจารย์!” (นี่คือสรรพนามที่ผมเรียกท่านในระหว่างสนทนาครั้งกระโน้นมิใช่ท่านรัฐมนตรีหรืออะไรอื่นๆ แต่อย่างใดเลย)

“ซูม”