เริ่มแล้วสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนต้องรู้ว่า “การฝ่าฝืนกฎจราจรนั้น” นอกจากต้องชำระค่าปรับแล้วยังต้องถูกตัดคะแนนความประพฤติการขับขี่ ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตตามมา

มาตรการนี้มีผลบังคับตัดคะแนนมาตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค.2566 โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 142/1 ด้วยการกำหนดให้มีคะแนนใบอนุญาต 12 คะแนน “ผู้ทำผิดกฎจราจรจะถูกตัดแต้มทันที 1-4 คะแนน” ถ้าถูกตัดจนเหลือ 0 คะแนน จะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตห้ามขับขี่รถทุกประเภท 90 วัน

ทว่าหลักปฏิบัตินั้นมีบางประเด็น “ประชาชน” เข้าใจคลาดเคลื่อนในข้อเท็จจริงค่อนข้างมากโดยเฉพาะกรณีเจ้าของรถให้คนอื่นยืมใช้แล้ว “ฝ่าฝืนกฎจราจร” จนถูกใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์สามารถปฏิเสธข้อกล่าวหา และการถูกตัดแต้มได้หรือไม่ คมเพชญ จันปุ่ม หรือทนายอ๊อด ประธานเครือข่ายทนายชาวบ้าน บอกว่า

ตามหลัก “ผู้ขับขี่รถคนใดไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จราจรฯ” จะเป็นความผิดทางอาญามีโทษทั้งปรับและจำคุก อันเป็นมาตรการควบคุมการใช้ถนนให้ปฏิบัติตามกฎหมายสำหรับ “การตัดคะแนนผู้มีใบอนุญาตขับขี่” ก็เป็นตามมาตรา 142/1 กำหนดให้ สตช.จัดมีระบบบันทึกคะแนนตัดแต้มผู้ฝ่าฝืนกฎจราจรนั้น

...

ถ้าถูกตัดแต้มจนหมด “ผบ.ตร.หรือผู้รับมอบหมายในแต่ละท้องที่” สั่งพักใช้ใบขับขี่ 90 วันให้เข้าอบรมทดสอบผู้ขับขี่ที่ทำผิดซ้ำอันเป็น “มาตรการเสริมนอกจากจับเปรียบเทียบปรับ” ที่ถูกนำมาใช้กับผู้ทำผิดนั้น

เหตุนี้ขั้นตอนการตัดแต้มต้องมีการทำผิดกฎจราจรก่อนแล้ว “ตำรวจจราจร” จะออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่นั้นต้องชำระค่าปรับ และตัดแต้มความประพฤติการขับขี่แบ่งเป็น 2 วิธี คือวิธีแรก...“ความผิดซึ่งหน้า” เมื่อตำรวจจราจรพบด้วยตัวเองว่า “ผู้ขับขี่ฝ่าฝืนกฎจราจรจริง” อย่างเช่นตำรวจกำลังกวดขันวินัยจราจรอยู่นั้น

แล้วปรากฏพบ “ผู้ขับขี่ทำผิด” ไม่ว่าจะเป็นไม่มีใบขับขี่ ไม่สวมหมวก กันน็อก ซ้อนรถ จยย.เกิน 2 คน ฝ่าฝืนสัญญาณจราจรหรือขับขี่เส้นทางมีข้อห้าม “ตำรวจจราจร” จะเรียกตรวจแจ้งรายละเอียดความผิดออกใบสั่งให้ไปชำระค่าปรับที่สถานีตำรวจพื้นที่เกิดเหตุ พร้อมถูกลงบันทึกตัดคะแนนความประพฤติการขับรถทันที

วิธีที่สอง...“ความผิดด้วยกล้องตรวจจับ” ไม่ว่าจะเป็นกล้องจับความเร็ว กล้องตรวจจับการฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรตามเวลาที่กฎหมายกำหนด “ตำรวจจราจร” จะออกใบสั่งให้ผู้ทำผิดเพื่อชำระค่าปรับจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ 15 วัน เลือกชำระได้ทั้งที่โรงพัก ทางไปรษณีย์ เคาน์เตอร์เซอร์วิสมีสัญลักษณ์ PTM

หากปรากฏว่า “พ้นระยะเวลากำหนดไว้ในใบเตือนแล้วไม่ชำระค่าปรับ” จะโดนตัดคะแนนใบขับขี่เพิ่มอีกแล้วข้อมูลรถคันทำความผิดจะถูกส่งไปยัง “กรมการขนส่งทางบก” งดออกเครื่องหมายการเสียภาษีประจำปีไว้ก่อน “ตำรวจจราจรตั้งแต่สารวัตรขึ้นไป” จะออกหมายเรียกผู้ต้องหาให้มาชำระค่าปรับ 2 ครั้ง

ผ่านพ้นไปยังไม่มาตามหมายเรียกจะถือว่า “ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จราจรฯ” พูดภาษาชาวบ้านก็คือ “การปฏิเสธข้อกล่าวหาตามใบสั่ง” เช่นนี้พนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการตาม ป.วิ.อาญา เพื่อยื่นคำร้องขออนุมัติศาลในเขตพื้นที่ออกหมายจับ อีกทั้งบุคคลนั้นอาจมาตามหมายเรียกแล้วปฏิเสธความผิดก็เป็นสิทธิทำได้

ประเด็นสำคัญมีอยู่ว่า “ขั้นตอนกระบวนการเพื่อขอหมายจับ” พนักงานสอบสวนมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ในการรวบรวมพยานหลักฐานจนให้ศาลเชื่อว่า “บุคคลนั้นกระทำผิดจริงแล้วไม่มาชำระค่าปรับตามข้อหาในใบสั่ง” เพื่อนำไปสู่การออกหมายจับติดตัวมาสอบปากคำ และดำเนินคดีเป็นการต่อไป

ส่วนอายุความ “การฝ่าฝืนกฎจราจรอัตราโทษไม่เกิน 1 เดือน” มีอายุความไม่เกิน 1 ปี นับแต่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นนั้น ดังนั้นตำรวจพบตัวผู้มีหมายจับที่ใดสามารถควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีได้เสมอ แต่หากจับตัวไม่ได้ใน 1 ปี “คดีขาดอายุความ” แม้พบตัวเจ้าของรถก็ไม่อาจควบคุมตัวได้อีก

...

ทำให้มีประเด็นต้องพิจารณาต่อ “ด้วยหลักการลงโทษในความผิดอาญา” อันเป็นโทษตัดขาดเสรีภาพให้ผู้นั้นสำนึกในความผิด “กฎหมายกำหนดให้ลงโทษผู้ทำผิดจริงๆ” ดังนั้น หลักฐานจากกล้องเห็นเฉพาะป้ายทะเบียนรถ “ไม่อาจระบุผู้ขับขี่ขณะทำผิดชัดเจน” จะเพียงพอให้ศาลเชื่อว่าเจ้าของรถทำความผิดได้หรือไม่

ด้วยเหตุจาก “เจ้าของรถอาจให้คนอื่นยืมขับ” แล้วบังเอิญทำผิดกฎจราจรขึ้นเช่นนี้แล้ว “การขอหมายจับ” ตำรวจอาจต้องระดมกำลังค้นหารวบรวมพยานหลักฐานมาประกอบการบ่งชี้ว่า “ขณะการกระทำผิดกฎจราจรผู้ควบคุมรถเป็นใครกันแน่” เพื่อให้ปราศจากข้อสงสัยตามสมควรว่า “ผู้นั้นได้กระทำความผิดจริงๆ”

เพราะหาก “ส่งฟ้องศาล” มีความสงสัยอาจต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย แต่ถ้าตำรวจมีพยานหลักฐานระบุตัวชัดเจนแม้ “ผู้กระทำผิดนั้นปฏิเสธ” ศาลอาจพิจารณาคดีลงโทษไปตามพยานหลักฐานนั้นได้

สิ่งที่น่าสังเกตอีกกรณี “ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีผู้ปฏิเสธตามใบสั่งนั้น” หากนับเริ่มตั้งแต่การออกหมายเรียกจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ 2 ครั้ง ครั้งละ 16 บาท แล้วมีข่าวลือกันว่า “ตำรวจจราจรต้องกวดขันจับกุมผู้ทำผิดกฎจราจร 10 คดี/วัน/นาย” นั่นก็แปลว่าต้องเสียค่าจัดส่งหมายเรียก 9,600 บาท/เดือน/นาย

...

ปัญหายิ่งกว่านั้นมีข่าวลืออีกว่า “ภาครัฐจัดสรรงบประมาณค่าจัดหมายเรียกทางไปรษณีย์ 5 บาท/คดี” ส่วนที่เหลือพนักงานสอบสวน หรือตำรวจจราจรต้องควักเงินส่วนตัวจ่ายเอง แล้วยังมีค่าใช้จ่ายการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน รวมถึงนำสำนวนส่งอัยการเพื่อฟ้องต่อศาลอีก “ทุกขั้นตอน” ล้วนมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น

เช่นกรณี “หญิงคนหนึ่งฝ่าฝืนกฎจราจรโทษปรับไม่เกิน 1 พันบาท” ตำรวจ สน.แห่งหนึ่งในเขตบก.น.8 ออกใบสั่งตามความผิด “หญิงนั้นปฏิเสธข้อหา” ทำให้ต้องใช้ตำรวจรวบรวมพยานหลักฐาน 10 คน แล้วมีการยื่นคำร้องต่อศาลขอเปลี่ยนอัยการอีก 3 คน สรุปคดีนี้กว่าจะถึงที่สุดต้องเสียงบประมาณไป 1 หมื่นกว่าบาท

และมีถามอีกว่า “กรณีเจ้าของรถให้คนอื่นยืมไปฝ่าฝืนกฎจราจรมีความผิดด้วยหรือไม่” ตามเจตนารมณ์กฎหมายมุ่ง “ลงโทษคนทำผิดโดยตรง” เหตุนี้ผู้ให้ยืมเมื่อไม่มีเจตนาให้ผู้ยืมนำรถไปกระทำผิด “ย่อมมีสิทธิปฏิเสธ” อย่างกรณีที่เจอบ่อย “เต็นท์รถเปิดเช่า” ส่วนใหญ่มักตรวจใบอนุญาตก่อนให้เช่ารถเสมอ

...

ด้วยบางครั้ง “ผู้เช่าขับรถฝ่าฝืนกฎจราจร” มีใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์ตามมาภายหลัง “ผู้ให้เช่ามักปฏิเสธได้” ตำรวจมีหน้าที่ต้องสืบสวนหาคนทำผิดตัวจริงมารับทราบข้อกล่าวหาเปรียบเทียบปรับ และตัดคะแนนต่อไป

เว้นเสียแต่ว่า “เจ้าของรถนั้นร่วมนั่งไปด้วยแล้วคนยืมทำการฝ่าฝืนกฎจราจรขณะนั้น” ลักษณะนี้เจ้าของรถก็จะเข้าข่ายร่วมกระทำความผิดด้วยกันตาม ป.อาญามาตรา 83

ตอกย้ำว่ามาตรการตัดแต้มใบขับขี่นี้ “ทำได้เฉพาะผู้จ่ายค่าปรับ” แต่ในส่วน “ผู้ได้รับใบสั่งแล้วไม่ยอมไปเสียค่าปรับ หรือผู้ปฏิเสธข้อกล่าวหา” ตำรวจไม่อาจจะตัดคะแนนนั้นได้จนกว่าจะดำเนินการเข้าสู่ “กระบวนการต่อสู้ในชั้นศาล” เพื่อให้ศาลพิจารณาพิพากษาพฤติการณ์นั้นเป็นความผิดจริงตามคำกล่าวหาหรือไม่

ดังนั้น “ข้อกล่าวหาใบสั่งตามความผิด พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ” กรณีผู้ขับขี่ปฏิเสธก็ยังคงลักษณะเป็นคดีที่เจ้าพนักงานตำรวจกล่าวหาด้วยการออกใบสั่งนั้นแม้เชื่อมีพยานหลักฐานฟังได้ “แต่ยังมิใช่เป็นคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด” ฉะนั้นการจะฟังให้เป็นผลร้ายแล้วตัดคะแนนใบขับขี่ผู้ถูกกล่าวหาคงทำเช่นนั้นไม่ได้

ตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า “ผู้นั้นยังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิดจริง” เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุดจึงต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญนี้ ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาปฏิเสธตามใบสั่งนั้นยังสามารถต่อสู้คดีในชั้นกระบวนการยุติธรรมได้เสมอ

ย้ำว่า “กฎหมายจราจร” บัญญัติขึ้นด้วยเจตนารมณ์เพื่อจัดระเบียบการจราจรให้ผู้ใช้รถใช้ถนนปลอดภัยแต่ “การลงโทษ” เป็นมาตรการเสริมลดการฝ่าฝืนกฎจราจรแล้วมักอยู่ขั้นสุดท้ายบังคับใช้กัน.