นับวันการซื้อขายของออนไลน์ จะเพิ่มมากขึ้น “จนผู้บริโภคแทบไม่ต้องเดินไปร้านค้าให้เมื่อย” สามารถเลือกซื้อสินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือ “โอนเงินแล้วรอรับที่บ้าน” แต่ความสะดวกนี้กลับกลายเป็นช่องทางให้ “กลุ่มมิจฉาชีพพ่อค้าแม่ค้าหัวใส” แฝงเข้ามาหลอกผู้คนได้ง่ายตามมาด้วยเช่นกัน

ทำให้แต่ละวัน “คนไทยตกเป็นเหยื่อ” ถูกหลอกซื้อแล้วไม่ได้ของสินค้าไม่ตรงปก หรือไม่ได้มาตรฐานตามโฆษณาเกิดขึ้นมากมาย “สร้างความเสียหายมหาศาล” เหตุนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับการคุ้มครอง “สภาองค์กรของผู้บริโภค” จัดเวทีแลกเปลี่ยนความร่วมมือการป้องกันแก้ไขปัญหาการซื้อสินค้า และบริการทางออนไลน์

ถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.พะเยา ภัทรกร ทีปบุญรัตน์ จนท.ฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค เล่าว่า การขายสินค้าผ่านออนไลน์จ่ายเงินแล้วไม่ได้รับของ สินค้าไม่ตรงปกตามโฆษณา มีพัสดุส่งมาโดยไม่ได้สั่ง และสินค้าชำรุดไม่ยอมคืนเงินเปลี่ยนของให้นั้น

...

พฤติการณ์เหล่านี้แยกดำเนินการตามกฎหมายได้ 2 กรณี คือกรณีแรก...“การหลอกขายสินค้าตามเพจเฟซบุ๊กให้จ่ายเงินกลับไม่ได้ของนั้น” เมื่อผู้บริโภคทักแชตก็ไม่ตอบ แถมถูกบล็อกช่องทางติดต่อ ปิดเพจหนี หรือมีการเบี่ยงเบนการคืนเงิน ลักษณะเช่นนี้เข้าข่ายความผิดทางอาญาฐานฉ้อโกงแน่นอน

แล้วความผิดฐานฉ้อโกงนี้เป็นความผิดส่วนตัว “ผู้เสียหาย” ต้องรีบแจ้งความร้องทุกข์ต่อตำรวจภายใน 3 เดือน หากไม่ได้ร้องทุกข์ไว้ทางกฎหมายถือว่าขาดอายุความคดีอาญาก็จะระงับไป

ขั้นตอนการร้องทุกข์นั้น “ควรแจ้งถึงพฤติการณ์ผู้ขายมีเจตนาฉ้อโกง” เช่น ทักแชตไปไม่ตอบ ถูกบล็อกช่องทางติดต่อ ปิดเพจหนี เบี่ยงเบนการคืนเงินนั้นนำมาประกอบการแจ้งความดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดถึงที่สุด พร้อมให้ตำรวจอายัดบัญชีที่โอนเงินด้วย “พนักงานสอบสวน” จะออกคำสั่งส่งเลขที่บัญชีไปให้ธนาคารตรวจสอบ

อีกกรณี “ผู้เสียหายดำเนินการเอง” นำสำเนาแจ้งความยื่นธนาคารตรวจสอบอายัดบัญชีนั้นต่อไป

ต่อมากรณีที่สอง...“สั่งซื้อของได้ไม่ตรงปกไม่ตรงโฆษณา หรือสินค้าไม่มีคุณภาพ” เรื่องนี้เป็นการผิดสัญญาซื้อขาย อย่างเช่น กรณีโฆษณาขายคอลลาเจนจากญี่ปุ่นแล้วผู้บริโภคกลับได้รับสินค้าจากจีน ลักษณะนี้สามารถใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ใน 7 วัน นับแต่ที่รับสินค้าเพราะ “ผู้ขายผิดสัญญา” เพื่อดำเนินการขอเงินคืนต่อไป

ด้วยการทำเป็นหนังสือบอกเลิกสัญญา หรือใช้วิธีส่งสินค้าคืนสู่ผู้ขายตามมาตรา 32 พ.ร.บ.ธุรกิจตลาดแบบตรงฯ ยกเว้นพฤติการณ์มิจฉาชีพตั้งใจส่งสินค้าไม่ตรงปกให้ผู้บริโภคตรงนี้จะเป็นความผิดอีกแบบหนึ่ง

ต่อมา “การรับมือถูกปัดความรับผิดชอบกรณีการเก็บเงินปลายทาง” ไม่ว่าจะเป็นพนักงานขนส่งของไม่ยินยอมให้เปิดสินค้าตรวจสอบ หรือปัญหานโยบายการไม่คืนเงินแก่ผู้รับสินค้า เพราะปกติพนักงานขนส่งมักปฏิเสธความรับผิดชอบเบื้องต้นว่า “เป็นคนกลางขนส่ง” อ้างเงื่อนไขแจ้งความกับตำรวจภายใน 18.00 น. วันนั้น

ล้วนเป็นกลยุทธ์ “สร้างเงื่อนไขความยุ่งยากต่อผู้บริโภค” แต่ความจริง “บริษัทขนส่งสินค้า” มักมีระยะเวลายึดถือครองเงินไว้ ดังนั้นเมื่อรับสินค้าเกิดมีปัญหาขึ้น “ผู้บริโภค” ต้องติดต่อบริษัทที่ส่งสินค้า หรือเก็บเงินปลายทางโดยทันที “เป็นการแสดงสิทธิว่าสินค้านั้นไม่สมบูรณ์” เพื่อให้เข้ากฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 623...

ความรับผิดของผู้ขนส่งย่อมสุดสิ้นลงในเมื่อผู้รับตราส่งได้รับเอาของไว้แล้วโดยไม่อิดเอื้อน และได้ใช้ค่าระวางพาหนะทั้งอุปกรณ์เสร็จแล้ว แต่มิให้ใช้บังคับกรณีที่ของสูญหาย หรือบุบสลายเห็นไม่ได้แต่สภาพภายนอกแห่งของนั้น หากว่าได้บอกกล่าวแก่ผู้ขนส่งภายใน 8 วันนับแต่วันส่งมอบนั้น

...

อันจะทำให้ความรับผิดชอบของบริษัทขนส่งนั้นยังไม่หมดไป และทำการอายัดเงินไม่ให้ส่งมอบแก่ร้านค้าไว้ก่อน ถ้าไม่ดำเนินการตามนั้น “ผู้บริโภค” สามารถใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมายแพ่งฯ มาตรา 623 นี้ได้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ม.ค.2566 ผู้เสียหายร้องเรียนต่อ “สภาองค์กรของผู้บริโภค” กรณีสั่งซื้อสินค้าและได้ของไม่ตรงปก ทำให้ต้องออกหนังสือไปยังบริษัทขนส่งจากนั้นภายใน 5 วันก็มีการคืนเงินให้ผู้บริโภคทั้งหมด

ส่วนใหญ่ “คดีซื้อของได้รับไม่ตรงปก หรือไม่ได้ตามโฆษณามักเกิดขึ้นในเพจเฟซบุ๊ก” หากย้อนดูสถิติ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ธ.ค.2565 คดีหลอกลวงซื้อสินค้าสูงถึง 4.7 หมื่นคดี

ตอกย้ำด้วย “กรณีการซื้อสินค้าแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์” อย่างเช่น Shopee หรือ Lazada แล้วผู้ขายในแพลตฟอร์มเป็นผู้ดำเนินการจัดส่งเองแล้ว “สินค้าไม่สมบูรณ์ ไม่ตรงตามปกโฆษณา” สามารถติดตามร้านค้าที่ขายนั้นเพื่อการเรียกร้องต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นได้โดยตรงตาม พ.ร.บ.ธุรกิจตลาดแบบตรงฯ

...

ยกเว้นว่า “สั่งซื้อสินค้าแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์” แล้วร้านค้าในแพลตฟอร์มนั้นมิได้จัดส่งเพราะ “มิจฉาชีพอาจแฝงเข้ามาหลอกขาย” เช่นนี้ก็เรียกร้องความเสียหายจากบริษัทขนส่งตามที่กล่าวมาข้างต้นได้

ประเด็น “การเอาผิดต่อผู้ขายตามกฎหมาย” ในเรื่องนี้จำเป็นต้องมีพยานหลักฐานการเอาผิดผู้ขายนั้น อย่างเช่น ภาพถ่ายการสนทนากับผู้ขายผ่าน inbox หรือแชตอื่นๆ สลิปโอนเงิน เลขที่บัญชี หน้าเพจเฟซบุ๊ก ร้านค้าออนไลน์ของผู้ขาย บันทึกเสียงการสนทนา (ถ้ามี) ภาพถ่ายสินค้าที่มีการโฆษณา

ไม่เท่านั้นควรมีภาพถ่ายสินค้าที่ได้รับ (กรณีจัดส่งของไม่ตรงปก)วิดีโอคลิปเปิดสินค้าต่อหน้าพนักงานส่งของนั้น ดังนั้น “ผู้เสียหาย” ต้องเก็บรวบรวมเตรียมหลักฐานให้พร้อมเพื่อบ่งชี้บอกถึงตัวผู้กระทำผิดจากพฤติการณ์ที่จะนำมาประกอบ “ฐานความผิดฉ้อโกง” ในการที่จะเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจนั้น

เมื่อแจ้งความแล้วต้องสังเกต “หัวกระดาษ” ล่างคำว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องปรากฏ “รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี” อันจะต้องมีข้อความว่าจะดำเนินคดีกับผู้ต้องหาจนกว่าจะได้รับโทษตามกฎหมายถึงที่สุดต่อไป แต่ถ้ามีคำว่า “รายงานประจำวันแจ้งเป็นหลักฐาน” สิ่งนี้มิใช่การมอบอำนาจให้ตำรวจดำเนินคดี

...

แล้วสิ่งสำคัญประกาศ สตช.ที่ 177/2565 พนักงานสอบสวนต้องรับแจ้งความทุกกรณีแม้ความผิดที่ไม่ได้เกิดในท้องที่ที่รับผิดชอบ และคำสั่ง ตร.ที่ 468 ความรับผิดชอบคดีออนไลน์ของกองกำกับการ

ประการสุดท้าย “เครื่องมือแก้ปัญหาหลอกซื้อของออนไลน์” สำหรับกรณีมีข้อมูลของผู้ขาย เช่น เบอร์โทรศัพท์ ชื่อนามสกุลจริง บัญชีที่โอน อีเมล “สามารถยื่นฟ้องคดีซื้อขายออนไลน์กับศาลแพ่งผ่านเว็บไซต์ efiling3.coj.go.th” เมื่อลงทะเบียนสำเร็จจะเข้าสู่กระบวนการให้ผู้บริโภคในฐานประชาชนเป็นผู้ฟ้องคดีนั้น

เมื่อคดีเข้าสู่ “กระบวนการศาล” จะดำเนินการในรูปแบบผ่านระบบออนไลน์ในวันพิจารณาคดี ทั้งการสืบพยาน และการไกล่เกลี่ย หากไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จจำเลยมีสิทธิยื่นคำให้การผ่านระบบออนไลน์ และต่อสู้คดีต่อไป

คดีซื้อขายออนไลน์สามารถยื่นฟ้องคดีได้ 24 ชม. ถ้ายื่นฟ้องหลัง 16.30 น. หรือวันเสาร์-อาทิตย์ จะให้นับวันทำการถัดไปเป็นวันฟ้อง แล้วให้สิทธิฟ้องคดีได้ไม่กำหนดวงเงินขั้นต่ำแม้สินค้าราคาเพียงหลักสิบบาทก็ตาม

ปกติแล้ว “ผู้เสียหาย” สามารถนำคดีมาฟ้องศาลเพื่อให้ชดใช้ได้ แต่การฟ้องคดีนั้นต้องยื่นฟ้องต่อศาลในภูมิลำเนาของผู้ขาย หรือที่มูลคดีเกิด แล้วความเสียหายเป็นจำนวนเงินไม่มากหลักร้อยหลักพันบาท ทำให้คดีมักไม่ถึงศาล เพราะมองว่าต้องเสียเวลาค่าใช้จ่ายดำเนินคดีอาจไม่คุ้มค่า และมีความยุ่งยากในขั้นตอนการดำเนินคดี

ปัจจุบัน “ข้อพิพาทการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น” หากปล่อยปัญหานี้ไปจะกระทบความน่าเชื่อถือระบบการซื้อขายออนไลน์ในประเทศ และผู้บริโภคที่ซื้อของออนไลน์มีโอกาสถูกหลอกโดยไม่ได้รับเยียวยา ส่วนผู้ขายที่ก่อปัญหาจะยังสร้างความเดือดร้อนให้ผู้บริโภครายอื่นได้อีก ทำให้เกิดแผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่ง เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก และลดภาระให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้ง่ายขึ้น

นี่คือ “การสร้างไซเบอร์วัคซีนให้ผู้บริโภค” เป็นอีกช่องทางการพึ่งพาตัวเองเรียกร้องสิทธิขอเงินคืน-ดำเนินคดี “กรณีซื้อสินค้าไม่ตรงปกไม่ตรงตามโฆษณา” อันเป็นชุดความรู้สามารถปฏิบัติได้จริง.