โดยทั่วไปแล้วเพียงเราเปิดก๊อก ทรัพยากรที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตอย่าง “น้ำ” ก็พร้อมจะไหลออกมาให้ใช้อุปโภคบริโภคได้ดังใจ อย่างไรก็ตาม ในหลายภูมิภาคของไทย การใช้น้ำอย่างใจต้องการไม่ใช่สิ่งที่ทำได้โดยง่าย เช่นในพื้นที่ ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ ที่เคยประสบภัยแล้งจนขาดแคลนทั้งน้ำบริโภคและน้ำสำหรับใช้ประกอบอาชีพต่างๆ ทำให้เสียโอกาสในการสร้างรายได้จากที่ดินทำกินและทรัพยากรในท้องถิ่น
ไม่เพียงเท่านั้น บางฤดูกาลก็เกิดปัญหาน้ำท่วมจนส่งผลให้ดินโคลนถล่มสร้างความเสียหายต่อผู้คนจำนวนมาก แม้ว่าในปี พ.ศ. 2544 จะมีการสร้าง “อ่างเก็บน้ำห้วยปะยาง” หวังบรรเทาปัญหาทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมไปพร้อมกัน แต่สถานการณ์ต่างๆ ก็ยังไม่คลี่คลายมากนัก กระทั่งการมาถึงของมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อพ.) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) และกลุ่มธุรกิจ TCP สถานการณ์น้ำในพื้นที่จึงได้เริ่มดีขึ้น ด้วยกุญแจสำคัญที่องค์กรพันธมิตรได้นำเข้ามาถ่ายทอดแก่ผู้คนในท้องถิ่น นั่นคือเรื่องของ “การบริหารจัดการน้ำ” นั่นเอง
พลิกแล้งเป็นรอยยิ้ม ด้วยแนวคิด "บริหารจัดการน้ำ"
นายอัจฉริยะพงษ์ ปันฟอง ผู้ใหญ่บ้านแม่ขมิง หมู่ 2 ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ เผยว่า ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นหลังการสร้างอ่างเก็บน้ำคือการจัดการที่ไม่ดีพอ เช่น ไม่ได้มีการแจกแจงปริมาณที่เหมาะสมสำหรับกิจกรรมต่างๆ จนคนในพื้นที่ต้องแย่งน้ำกันใช้เพื่อการบริโภครวมถึงนำไปหล่อเลี้ยงภาคเกษตรและปศุสัตว์
เมื่อเห็นถึงปัญหาดังกล่าว องค์กรพันธมิตรจึงได้เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงโดยนำเอาหลักการ “DSLM” มาปรับใช้ ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ 4 ด้าน ได้แก่ “Demand” ความต้องการ “Supply” ทุนชุมชน ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ “Logistic” โครงข่ายน้ำในเขตพื้นที่ชุมชน การลำเลียงขนส่ง จากต้นทางไปปลายทาง และ “Management” การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจ TCP ภายใต้โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย ยังได้สนับสนุนในส่วนของ “โทรมาตร” สำหรับการพยากรณ์ฝน ขณะที่ชาวบ้านเองก็รวมพลังฟื้นฟูป่าต้นน้ำโดยการทำฝายชะลอน้ำจากวัสดุในพื้นที่ เช่น ไม้ไผ่ เพื่อให้มีน้ำสำรองมากขึ้น
ให้ชุมชนมีส่วนร่วม สู่โมเดลต้นแบบการจัดการน้ำ พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน
ด้วยองค์ความรู้ดังกล่าวเมื่อผสานกับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ และวิธีการปฏิบัติที่มุ่งเน้นการลงมือทำจริงร่วมกันกับชาวบ้าน ส่งผลให้ผู้คนในท้องถิ่นสามารถดูแลตนเองได้อย่างยั่งยืน ภายใต้โมเดลต้นแบบการจัดการน้ำ ดังนี้
1. ฟื้นฟูป่า : วางแนวกันไฟ ดูแลป่าต้นน้ำ เสริมฝายต้นน้ำ วางระบบท่อเติมน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำ
2. พัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ : สร้างถังเก็บน้ำลักษณะหอถังสูง แบ่งเส้นน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร
3. ทำเกษตรแบบ Smart Farmer : สร้างระบบรางส่งน้ำเข้าพื้นที่การเกษตร วางระบบรางกระจายน้ำเพื่อการเกษตร เก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์และแจ้งเตือนให้กับชุมชน ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ผลลัพธ์ที่เกิดจากการลงมือทำก็สะท้อนกลับสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนอย่างเป็นรูปธรรมด้วยรายได้ครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น เพราะเมื่อมีน้ำเพียงพอก็สามารถนำไปสร้างเศรษฐกิจจากทรัพยากรที่มีอยู่ได้ เช่น
- อ่างเก็บน้ำห้วยปะยาง สามารถกักเก็บน้ำได้เต็มประสิทธิภาพคือ 959,000 ลบ.ม. มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 341,000 ลบ.ม. และสามารถบริหารจัดการน้ำได้มากที่สุดถึง 6 รอบต่อปี
- เกิดการจัดการน้ำในรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่และการใช้งาน ได้แก่ เสริมสปิลเวย์ ยกระดับน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยป้อม เก็บเข้าหอถังสูง เสริมระบบสูบด้วยโซลาร์เซลล์ลดการใช้พลังงาน ฝายชะลอน้ำสร้างจากวัสดุธรรมชาติเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่
- ชุมชนบ้านแม่ขมิงสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินที่เคยปล่อยทิ้งร้างโดยพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวขึ้นเป็น “ศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” นำมาปลูกถั่วเหลือง จัดทำแปลงเกษตร ขุดสระ เลี้ยงปลา ช่วยให้ผู้สูงอายุมีงานทำจากการมาเก็บถั่วเหลืองไปจำหน่าย และเป็นพื้นที่ให้คนในชุมชนมาทำกิจกรรมร่วมกัน สร้างรายได้ให้เกษตรกรได้ 8,000 - 15,000 บาท/เดือน
- ชุมชนบ้านเหล่าเหนือ ที่ได้เรียนรู้การจัดการน้ำจากการการทำข้อมูล การพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ จนมีทรัพยากรน้ำเพียงพอในการดำรงชีวิต สามารถรวมกลุ่มผลิตอาหารและผลไม้รับประทานกันเอง เตรียมต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ชุมชนสร้างรายได้
- กลุ่มเกษตรบ้านผักยิ้ม ที่ใช้ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำ รวมกลุ่มผลิตผักสลัดในนามกลุ่มวิสาหกิจผักยิ้ม เรียนรู้การทำตลาด วางแผนการผลิต สามารถสร้างรายได้หลายหมื่นบาทต่อเดือน
- ชุมชนมีบทบาทเป็นเจ้าของโครงการ ร่วมวางแผนการทำงาน ลงมือปฏิบัติด้วยตนเองในทุกขั้นตอน ทำให้เกิดการบริหารจัดการน้ำแบบพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน
- การพัฒนาในด้านการท่องเที่ยว เพื่อเชิญชวนทั้งคนในจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียงมาสัมผัสเสน่ห์ท้องถิ่น ด้วยกิจกรรมหลากหลาย เช่น งานสรอยฟิชชิ่งและงานวิ่งเทรล ที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้
นอกจากจะสร้างรอยยิ้มให้ชุมชนยังเป็นการดึงดูดให้คนรุ่นใหม่กลับมาบ้านเกิด หรืออาจกล่าวได้ว่าทั้งหมดเริ่มจากการจัดการน้ำ แต่ความสำเร็จได้ขยับขยายออกไปมากมายหลายมิติ
เรื่องราวที่เกิดขึ้น ณ ชุมชนโดยรอบอ่างเก็บน้ำห้วยปะยาง จ.แพร่ นับเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จที่เกินกว่าเป้าหมาย ของโครงการ “TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย” ที่กลุ่มธุรกิจ TCP และพันธมิตรได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2562 โดยการสนับสนุนเม็ดเงิน 100 ล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ 3 ลุ่มน้ำใน 7 จังหวัด เพื่อให้ผู้คนเข้าถึงแหล่งน้ำ มีน้ำกินน้ำใช้อย่างเพียงพอ รวมถึงน้ำเพื่อการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีแก่ชุมชน
นางสาวอรัญญา ลือประดิษฐ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร กลุ่มธุรกิจ TCP ได้เผยว่า เป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่โครงการนี้สำเร็จเกินเป้า ไม่ใช่แค่เรื่องน้ำ แต่ยังส่งผลกระทบต่อสังคมในเชิงบวก สอดคล้องเป้าหมายองค์กร ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า ในด้านกลยุทธ์ ปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม ซึ่งกลุ่มธุรกิจ TCP จะเดินหน้าทำงานด้านการพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อคืนน้ำสะอาดกลับสู่แหล่งน้ำไทย โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือการเป็นองค์กร Net Water Positive หรือการใช้น้ำสุทธิเป็นบวก ลดการใช้ทรัพยากรน้ำและเติมน้ำสะอาดกลับคืนสู่แหล่งน้ำในท้องถิ่นให้ได้มากกว่า 100% โดยความสำเร็จที่เกิดขึ้นนับว่าเป็นโมเดลต้นแบบของการสร้างชุมชนลุ่มน้ำที่เปี่ยมไปด้วยรอยยิ้ม สามารถดำเนินวิถีชีวิตได้อย่างยั่งยืนในถิ่นฐานบ้านเกิด ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้ประเทศพัฒนาในองค์รวม ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งของระบบเศรษฐกิจ และสร้างสุขให้ชุมชนทั่วไทยไปพร้อมๆ กัน.