“กบน.” เคาะปรับลดราคาน้ำมันดีเซล 50 สตางค์ ต่อลิตร เป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 7 เดือน มีผลตั้งแต่ 15 ก.พ.เป็นต้นไป หลังราคาโลกลด-คลังลดภาษีฯให้ต่อ ทำให้สภาพกองทุนฯดีขึ้น เล็งเกาะติดราคาโลกชี้ชะตาลดลงต่ออีก หวังขึ้นแอลพีจี 1 มี.ค. อีก 15 บ./ถัง ด้าน “สุพัฒนพงษ์” ส่งสัญญาณรัฐพร้อมลดราคาพลังงานทั้งน้ำมันและค่าไฟฟ้า สั่ง ปตท.เร่งทำสัญญาซื้อก๊าซช่วงราคาถูก พร้อมให้ ปตท.สผ.เร่งเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซในอ่าวไทยให้ได้เท่าเดิมภายในต้นปี 2567 เพื่อให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลง

ข่าวดีของผู้ใช้น้ำมันดีเซล ที่มีการปรับลดราคาลงครั้งแรกในรอบ 7 เดือน เป็นที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 2 ก.พ. โดยนายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผอ.สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ กบน. ได้เห็นชอบการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลง 50 สตางค์ต่อลิตร มีผลวันที่ 15 ก.พ. ส่งผลให้ราคาขายปลีกดีเซลอยู่ที่ 34.45 บาทต่อลิตร (จากราคาน้ำมัน ณ วันที่ 2 ก.พ.66 ลิตรละ 34.95 บาท) นับเป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 7 เดือนหลังจากที่ราคาน้ำมันดีเซลพุ่งมาอยู่ที่ 35 บาทต่อลิตรตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย.2565

“การลดราคาดังกล่าวเป็นผลมาจาก 2 ปัจจัยสำคัญคือ ราคาน้ำมันตลาดโลกที่อ่อนตัวลง มีสัญญาณตั้งแต่เดือน พ.ย.2565 ทำให้ราคาน้ำมันดีเซล เฉลี่ยปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 135.53 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเดือน ม.ค.66 ลดลงเฉลี่ยที่ 116.12 เหรียญฯ ทำให้กองทุนน้ำมันสามารถเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันดีเซล ณ วันที่ 2 ก.พ.66 อยู่ที่ 5.10 บาทต่อลิตร ประกอบกับ ครม.อนุมัติปรับลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 5 บาทต่อลิตรต่ออีก 4 เดือน (21 ม.ค.-20 พ.ค.) ส่งผลให้การบริหารจัดการสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น” นายวิศักดิ์กล่าว

...

ผอ.สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กล่าวอีกว่า การลดราคาน้ำมันดีเซลที่ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. เป็นต้นไป เพราะต้องให้ภาคเอกชนมีเวลาบริหารสต๊อกน้ำมัน กบน.จะติดตามราคาตลาดโลกใกล้ชิดเพื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในระยะต่อไป ส่วนจะลดลงได้ถึง 2 บาทต่อลิตรตามที่กระทรวงการคลังเสนอมา เพราะต้องการให้การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันจะได้ส่งตรงถึงประชาชนได้หรือไม่ ยอมรับว่ามีโอกาส หากราคาตลาดโลกยังคงลดลงต่อเนื่อง ดังนั้นจึงต้องติดตามตลาดโลกและกองทุนน้ำมัน คงใช้วิธีทยอยลดราคาเป็นระยะๆ แต่ต้องดูราคาตลาดโลกเป็นสำคัญ เพราะยังคงผันผวนสูงและเพื่อไม่ให้กองทุนน้ำมันขาดรายได้หรือมีความเสี่ยงเกินไป

นายวิศักดิ์กล่าวอีกว่า ล่าสุด ณ วันที่ 29 ม.ค.ประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันติดลบอยู่ที่ 113,436 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 68,133 ล้านบาท บัญชีก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ติดลบ 45,303 ล้านบาท ใกล้กรอบวงเงินกองทุนน้ำมัน ส่วนบัญชี LPG ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 48,000 ล้านบาทเนื่องจากราคาตลาดโลกล่าสุดแตะ 800 เหรียญฯต่อตัน ทำให้กองทุนน้ำมันต้องอุดหนุนราคาแทนประชาชนอยู่ที่ระดับ 6.12 บาทต่อกิโลกรัม หากให้สะท้อนต้นทุนจริง ราคาขายปลีก LPG ขณะนี้ จะต้องอยู่ที่ 460-470 บาทต่อถัง 15 กก. แต่ขณะนี้ราคาอยู่ที่เพียง 408 บาทต่อถัง 15 กก. ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 20 ม.ค.เห็นชอบให้ปรับราคาขายปลีก LPG เพิ่มอีก 15 บาทต่อถังเป็น 423 บาทต่อถัง 15 กก.มีผลตั้งแต่ 1-31 มี.ค. หากปรับขึ้นตามมติดังกล่าว จะส่งผลให้กองทุนน้ำมัน มีสภาพคล่องที่ดีขึ้นและอาจจัดสรรเงินไปลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลได้เพิ่มอีก ยังต้องติดตามราคา LPG และราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกประกอบด้วย

ด้านนายพรชัย จิรกุลไพศาล ผอ.สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สกนช. กล่าวว่า ราคาดีเซลตลาดโลกหากต่ำกว่า 120 เหรียญฯ โอกาสลดราคาขายปลีกในประเทศมีสูง แต่ต้องดูปัจจัยแวดล้อมอื่นๆเป็นปัจจัยการพิจารณา ส่วนการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์เข้ามาหมุนเวียนสภาพคล่องในกองทุนน้ำมัน รอบแรก 3 0,000 ล้านบาทได้นำชำระหนี้หมดแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการในรอบที่ 2

วันเดียวกัน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กล่าวถึงเรื่องการปรับลดน้ำมันดีเซลว่า เป็นการปรับลงตามสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ถ้าจะมีการปรับลงอีกต้องอยู่ในเงื่อนไขที่เหมาะสม และต้องหารือกับกระทรวงการคลัง ในฐานะหน่วยงานที่ค้ำประกันการกู้เงินของกองทุนน้ำมันฯ การลดราคาน้ำมันดีเซล เป็นการปรับลดการส่งเงินเข้าสู่กองทุนน้ำมันฯ หากไม่กระทบกับการใช้จ่ายหนี้ของกองทุนน้ำมันฯรัฐบาลก็พร้อมที่จะปรับลดให้ ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯมีอยู่ประมาณ 110,000 ล้านบาท

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวอีกว่า ส่วนแนวโน้มราคาไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค. แม้ว่าปัจจุบันราคาก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดโลกจะปรับราคาลดลงจาก 40 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู มาอยู่ที่ประมาณ 17 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียูในปัจจุบัน แต่ต้องเฝ้าระวังการปรับเพิ่มขึ้นและความผันผวนของราคา LNG โดยมีปัจจัยจากการสู้รบในยุโรปและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดความหนาวเย็นมากในหลายประเทศและความต้องการแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้น ช่วงที่ราคาก๊าซธรรมชาติปรับลดลง ได้ให้นโยบาย ปตท.เร่งตัดสินใจการทำสัญญาซื้อขายไว้ล่วงหน้า เพื่อล็อกราคา LNG ในตลาดจรไว้ในระดับราคาที่ต่ำ ขณะที่การเจรจาราคา ยืนยันว่าไทยมีทางเลือกในการผลิตไฟฟ้าโดยใช้เชื้อเพลิงได้ทั้งก๊าซธรรมชาติและดีเซล เพื่อให้สามารถต่อรองการซื้อและทำสัญญานำเข้าในราคาที่เหมาะสมที่สุด

รองนายกฯและ รมว.พลังงาน กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ได้สั่งการให้บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เร่งรัดการเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ให้ผลิตก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นโดยเร็วที่สุด ขณะนี้ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยขึ้นมาเป็น 50% ของปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติ ช่วงที่บริษัทเชฟรอนฯเคยผลิตได้แล้ว ภายในปีนี้จะได้ประมาณ 75% ของปริมาณการผลิตเดิม ช่วงต้นปีหน้าคาดว่า การผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะกลับมา 100% เท่าเดิมจะเพิ่มทางเลือกในการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงภายในประเทศ ลดการนำเข้าก๊าซ LNG และช่วยให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าลดลงได้

...

“ค่าไฟฟ้าในงวดต่อไปเป็นไปได้หลายทาง ต้องดูหลายๆปัจจัย แม้ราคาก๊าซปรับลงมาในช่วงนี้แต่ต้องไม่ประมาท เพราะราคาก๊าซอาจเพิ่มขึ้นได้ตลอด ค่าไฟฟ้าของประชาชน รัฐบาลมีมาตรการในการดูแลอยู่แล้ว ส่วนภาคเอกชนนั้น กำลังทำงานร่วมกันมีการตั้งกรรมการร่วมขึ้นมาแก้ไขปัญหา หากทำงานร่วมกันได้ในเรื่องต่างๆสำเร็จค่าไฟฟ้าจะปรับลงมาได้เช่นกัน” นายสุพัฒนพงษ์กล่าวตอนท้าย