ทราบหรือไม่ว่า ผลการสำรวจหนึ่งระบุว่า เมื่อปี 2565 ในจำนวน 365 วันใน 1 ปี ในกรุงเทพฯ มีเพียง 83 วันเท่านั้นเป็นวันที่อากาศดี หรือมีค่าเฉลี่ยปริมาณ PM 2.5 ต่ำกว่า 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วน 274 วันที่เหลือ นับเป็นวันที่อากาศแย่ เนื่องจากมีค่าเฉลี่ยปริมาณ PM 2.5 สูงกว่า 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แม้เรื่อง PM 2.5 จะเป็นหนึ่งในเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเอ่ยถึงอยู่บ่อยครั้ง แต่การจัดการปัญหานี้ให้เกิดขึ้นได้จริงก็ไม่ใช่แค่การดำเนินการจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดฝ่ายเดียว ต้องเป็นการรวมพลังจากทุกฝ่าย รวมถึงภาคประชาชน สสส. ตระหนักถึงเรื่องนี้ จึงได้ผนึกกำลัง กทม. รวมกว่าอีกกว่า 44 ภาคี ร่วมสร้างการตระหนักรู้ และลงมืออย่างเป็นรูปธรรม 

Action Day PM 2.5 BKK
กทม.ชวนภาคีขยับเรื่องฝุ่นเมืองด้วยกัน

การจัดงาน “Action Day PM 2.5 BKK กทม.ชวนภาคีขยับเรื่องฝุ่นเมืองด้วยกัน” ที่ผ่านมา ถือเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงจุดยืนร่วมกันของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ถึงการผนึกกำลังกันสร้างอากาศดี หรือลด PM 2.5 ให้เกิดขึ้นจริง โดยเริ่มต้นจากการสร้างความเข้าใจ การตระหนักรู้ และเริ่มต้นลงมือทำจากตัวเอง อันเป็นหนึ่งในสิ่งที่ สสส. หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่องด้วย เนื่องจากปัญหาฝุ่นละออง หรือ PM 2.5 เป็นหนึ่งในสาเหตุความเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจแบบเรื้อรัง และโรคมะเร็ง

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. ให้ข้อมูลว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการณ์ว่า ประเทศไทยจะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด ซึ่งมีสาเหตุมาจากมลพิษอากาศถึง 6,330 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2563 พบรายงานผู้ป่วยมะเร็งปอด 122,104 ราย คิดเป็น 186.26 ต่อแสนประชากร นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่ามีการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ทุกระดับค่า PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้น 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้เป็นการเสียชีวิตจากมะเร็งปอดร้อยละ 21 โรคหัวใจร้อยละ 14 (ตามลำดับ) 

“ที่ผ่านมา สสส. เร่งสานพลังภาคีเครือข่ายแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอื่นๆ รวมถึงกรุงเทพมหานคร โดยเน้นหนุนเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา ภาควิชาการ และการสื่อสารสาธารณะ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 ตามยุทธศาสตร์ไตรพลัง คือ พลังสังคม พลังความรู้ และพลังนโยบาย นำไปสู่การตระหนักรู้ และลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรม อย่างงาน “Action Day PM 2.5 BKK กทม.ชวนภาคีขยับเรื่องฝุ่นเมืองด้วยกัน” นี้ ก็นับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการผสานกำลังกันเพื่อจัดการปัญหานี้อย่างจริงจังจากหลายฝ่าย เพราะจริงๆ แล้วปัญหาฝุ่นละออง และ PM 2.5 นั้นไม่สามารถแก้ไขได้จากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องเป็นการร่วมมือกันจากจุดเล็กๆ เพื่อให้เกิดเป็นพลังที่แท้จริงขึ้น”

การสร้างอากาศดี เป็นหน้าที่ของทุกคน

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ยังได้กล่าวด้วยว่า การแสดงพลังกันในงาน “Action Day PM 2.5 BKK กทม.ชวนภาคีขยับเรื่องฝุ่นเมืองด้วยกัน” ในครั้งนี้ นับเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการแสดงออกถึงการแสดงพลังร่วมกัน ในการจัดการกับปัญหาฝุ่นละออง และ PM 2.5 อย่างจริงจัง ทั้งนี้การเริ่มจากการสร้างความตระหนักรู้ และให้องค์ความรู้แก่ประชาชนเรื่องปัญหาด้านสุขภาพจากมลพิษทางอากาศ ก็ถือเป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากสามารถกระตุ้นให้เกิดการลงมือทำจากตัวเองอย่างเป็นรูปธรรมได้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งเล็กๆ ในการลดการก่อปัญหาฝุ่นละออง และ PM 2.5 

“กทม. ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ ที่ผ่านมายังได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมอย่างใน 3 แนวทาง ได้แก่ การติดตามเฝ้าระวัง การแจ้งเตือน และการดำเนินการป้องกันด้านสุขภาพ ทั้งนี้ปัจจุบัน กทม. ได้เพิ่มช่องทางในการให้ความรู้ และติดตามสถานการณ์ฝุ่นแบบใกล้ชิดได้ ผ่านเว็บไซต์ www.airbkk.com และ แอปพลิเคชัน Air4Thai ที่สามารถประเมินสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 โดยคาดการณ์ได้ใน 7 วัน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินการใช้ชีวิต หรือประกอบการติดสินใจสำหรับองค์กรต่างๆ เพื่อลดการเดินทางที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาฝุ่นละออง และ PM 2.5 จากการสัญจร ด้วยการ Work From Home ได้ด้วย นอกจากนี้ การร่วมมือกันของภาคีเครือข่ายก็มีความสำคัญอย่างมาก เพราะช่วยหลอมรวมพลังจากจุดเล็กๆ ให้ยิ่งใหญ่ขึ้นได้ ตัวอย่างหนึ่งของโครงการที่น่าสนใจ และเกิดเป็นผลลัพธ์ที่ดี อย่างเช่น โครงการห้องเรียนปลอดฝุ่น ที่เริ่มจากการทำให้โรงเรียน หรือห้องเรียน เป็นพื้นที่ที่มีอากาศที่ดีสำหรับเด็กๆ”

งาน “Action Day PM 2.5 BKK กทม.ชวนภาคีขยับเรื่องฝุ่นเมืองด้วยกัน” ยังมีการรวมพลังกันของหน่วยงานภาคีเครือข่าย Earth Hour จำนวนถึง 44 หน่วยงาน ที่พร้อมแสดงจุดยืน และร่วมเป็นพลังในการสร้างอากาศดี ลดฝุ่นละอองและ PM 2.5 ในกรุงเทพมหานคร ผ่านความเชี่ยวชาญ และแนวทางที่แต่ละหน่วยงานเห็นสมควร เพื่อเป็นต้นแบบในการจัดการกับปัญหานี้อย่างแท้จริง โดยเริ่มต้นจากตัวเอง ทั้งการลดการเดินทาง ผ่านการ Work From Home การทำงานแบบเหลื่อมชั่วโมงเข้างาน การใช้บริการขนส่งสาธารณะ เพื่อลดการปล่อยควันเสีย การใช้รถยนต์ไฟฟ้า ไปจนถึงการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ในองค์กรอีกด้วย

ครั้งนี้นอกจากจะเป็นการรวมพลังครั้งสำคัญแล้ว ก็ยังมีบูทนิทรรศการเพื่อสร้างความเข้าใจปัญหาฝุ่นละออง และ PM 2.5 ในแง่มุมต่างๆ รวมถึงเวทีพูดคุยเพื่อรู้จักและหาแนวทางจัดการปัญหานี้ร่วมกันด้วย โดยมี รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. เล่าถึง BKK Risk Map หรือแผนที่สุขภาพคนเมือง ผ่านการใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบคุณอากาศในแต่ละพื้นที่, แนวทางการส่งเสริมการสัญจรทางเลือกที่เป็นรูปธรรมจากการปั่น โดย ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. และศิลป์ ไวรัชพานิช จากเครือข่ายสัญจรทางเลือก รวมถึงการเข้าใจฝุ่น PM 2.5 ในมุมใหม่กับ ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ และรู้จักกับภาคเอกชนที่ขับเคลื่อนการสร้างอากาศดีผ่านรถพลังทางเลือก ทั้งนี้ เพื่อแสดงพลังร่วมกันว่า การสร้างอากาศดี เป็นหน้าที่ของทุกคน