ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมอาหารทะเลหลายหมื่นตันต่อปี สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ วช.จึงสนับสนุนทุนวิจัยให้กับโครงการ “ต้นแบบผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงแปรรูปจากเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้ง” เพื่อพัฒนาวิธีการแปรรูปเปลือกหอยแมลงภู่ให้เป็นสินค้านวัตกรรมที่นำเอกลักษณ์และสมบัติเฉพาะของแคลเซียมคาร์บอเนตเปลือกหอยแมลงภู่มาใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นการสนับสนุนกลไก Zero Waste ที่รักษาสภาพสิ่งแวดล้อมและยังเกิดการแปรรูปขยะเหลือทิ้งให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เกิดเป็นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนสอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจบีซีจีของประเทศไทยมี ศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้า โครงการ
ด้าน ดร.ชุติพันธ์ เลิศวชิรไพบูลย์ นักวิจัยของโครงการฯ กล่าวว่า การแปรรูปเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้งให้เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการลดปริมาณขยะ ทีมวิจัยพบว่าสามารถแปรรูปขยะเปลือกหอยแมลงภู่ให้เป็นแคลเซียมคาร์บอเนตบริสุทธิ์ อัญรูปอะราโกไนต์ สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเวชสำอาง อาหารและ สุขภาพและอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อทดแทนการนำแคลเซียม คาร์บอเนตคุณภาพสูงจากต่างประเทศได้ ส่วนผลิตภัณฑ์ แคลเซียมคาร์บอเนตที่ผลิตได้ สามารถนำไปใช้เป็นส่วนผสมในสินค้าโอทอปได้หลากหลาย เช่น สบู่ขัดผิวผสมผงประกายมุก โลชั่นบำรุงผิวผสมผงมุก ผลิตภัณฑ์ทรายอะราโกไนต์จากเปลือกหอยแมลงภู่ เป็นต้น.