“ปัญหาโฆษณาสุขภาพเกินจริง แนวรบที่ไม่มีวันจบ” นิตยสารออนไลน์ “ฉลาดซื้อ” ฉบับที่ 200 ระบุว่า หนึ่งในยุทธวิธีที่ผู้ประกอบการที่ไม่รับผิดชอบนิยมในการหลอกลวงทั้งหน่วยงานและผู้บริโภค คือ...ขอโฆษณาไปอย่างหนึ่งแล้วโฆษณาอีกอย่างหนึ่ง

ดังนั้นพวกเขาจะมี “เลขที่ใบอนุญาตโฆษณา” ที่ถูกต้อง แต่เนื้อหาผิดไปจากที่ยื่นขอ ผู้บริโภคที่ไม่ทันเหลี่ยมนี้ก็คิดว่า...เป็นโฆษณาที่ถูกต้องแล้ว นี่ไง อย.รับรอง

หรือแม้กระทั่งการโฆษณาแฝงในรายการต่างๆ โดยไม่มีการบรรยายสรรพคุณแบบโต้งๆ ทำให้ อย.ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ เพราะยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแลโฆษณาแฝง

นอกจากนี้แล้วให้รู้ไว้อีกว่าทุกหน่วยงานมีปัญหากับการจัดการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ เมื่อนึกถึงการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ หลายคนก็หันไปมองที่ “อย.” แน่นอนว่า...ไม่ผิด แต่เราทราบกันไหมว่า ยังมีอีกหลายหน่วยงานภาครัฐ ที่มีหน้าที่ช่วยกันกำกับดูแลด้านการโฆษณาผิดกฎหมายได้อีก

ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) ที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ เพื่อลงโทษผู้กระทำความผิด แต่กลับปล่อยให้มีการโฆษณาผิดกฎหมายบนโลกออนไลน์กันอย่างมากมาย

...

ขณะเดียวกันก็ไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบกำกับดูแลสื่อในโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต ซึ่งปัจจุบันตามกฎหมายให้อำนาจ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ “กสทช.” กำกับดูแลเฉพาะสื่อโทรทัศน์ และวิทยุ

...ไม่ได้ครอบคลุมถึงการโฆษณาในโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต

“เมื่อบางหน่วยงานไม่ค่อยขยับ หน่วยงานหลักอย่าง อย. ก็ติดกับดักระบบราชการ ซึ่งมีระเบียบวิธีที่ค่อนข้างซับซ้อน ทำให้เกิดลักษณะคอขวดในการจัดการเรียกง่ายๆว่า งานไปจมอยู่ที่ อย.

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ย้ำว่า โฆษณาออนไลน์เกินจริง หลอกลวง ต้มตุ๋นทุกวันนี้หากจะถามว่าหน่วยงานไหนต้องรับผิดชอบ จะต้องดูเป็นผลิตภัณฑ์ๆไป บ้านเราถ้าเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร...ยา อาหารเสริมก็ขึ้นกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ “อย.”

ถ้าโฆษณาเกินจริง เป็นเท็จ 100 เปอร์เซ็นต์...ก็สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ “สคบ.” แต่ว่าถ้าสมมติเป็นเรื่องว่าเอาข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ก็ต้องกระทรวงดิจิทัลฯ

ถามว่า “เท็จ” ขนาดไหน? ถ้าเป็นโฆษณายาก็ต้องรอให้ อย.ชี้ชัดก่อนแล้วจึงจะเอาข้อมูลออกจากระบบ ปัญหามีว่า...กว่าจะดำเนินการเช่นนี้ความเสียหาย ความสูญเสียก็ได้เกิดขึ้นแล้ว ไม่รู้มากน้อยขนาดไหน เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่...มีคนยอมกระทำผิดให้เห็นอยู่เต็มไปหมด

เหลียวมองไปที่ กสทช. เดิมทีถ้าเป็นวิทยุ ทีวีดิจิทัล พวกที่ขายในช่องทางเหล่านี้ก็อยู่ในข่ายความรับผิดชอบดูแล ส่วนแพลตฟอร์มออนไลน์ เฟซบุ๊ก ยูทูบ ไอจี ติ๊กต่อก...ก็น่าจะอยู่ในข่ายกระทรวงดิจิทัลฯอาจพ่วงกับ อย.ถ้าเป็นเรื่องของอาหารและยา

พลิกแฟ้มปี 2565 อย. เผยผลงานจัดการปัญหาโฆษณา ผลิตภัณฑ์สุขภาพและสถานประกอบการ ที่ผิดกฎหมายกว่า 2,500 คดี ขยายผลจับกุมผู้กระทำผิดร่วมกับ ปคบ. รวมของกลางมูลค่ากว่า 1,300 ล้านบาท ยืนยันจะเฝ้าระวังตรวจสอบโฆษณาและผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างต่อเนื่อง

จัดการกับคนทำผิดกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมไปถึงเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เตือนภัย เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อโฆษณาที่เป็นเท็จ หลอกลวง และได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปลอดภัย

...

พุ่งเป้าไปที่การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อต่างๆโดยเฉพาะ “สื่อออนไลน์” สรุปดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับผู้กระทำความผิดทั้งคดีโฆษณาผลิตภัณฑ์และสถานประกอบการ 1,792 คดี และส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามกฎหมาย 802 คดี รวม 2,594 คดี

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เรามักได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นตัวเสริมให้ร่างกายเรา “แข็งแรง” และมี “ภูมิคุ้มกัน” ที่ดีเพิ่มมากขึ้น

จนไม่รู้ว่าควรจะ “เลือก” ใช้ให้ถูกต้องได้อย่างไร

สังคมยุคนิวนอร์มอล พบว่าการบริโภคสินค้าออนไลน์ในส่วนของการซื้อเพิ่มขึ้น จะทำอย่างไรที่จะรู้เท่าทันข้อมูลที่หลากหลายและมีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลต่างๆ

...จะทำยังไงให้ประชาชนมีความรอบรู้ทางสุขภาพในการจัดการการบริโภค การเลือกซื้อ “สินค้า” และ “บริการ” อย่างเท่าทัน

“ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค” เคยเปิดเผยรายงานตัวเลขการร้องเรียนปัญหาต่างๆของผู้บริโภค สะท้อนว่า...ปัญหาอันดับหนึ่งที่ผู้บริโภคร้องเรียนมากที่สุดคือปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป โดยเฉพาะการ “โฆษณาเกินจริง” ที่ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อและซื้อสินค้า

อันดับสอง คือ...การถูกเอาเปรียบ ซึ่งมีสาเหตุจากพฤติกรรมของผู้ประกอบธุรกิจ ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลข่าวสารไม่ครบถ้วน รวมถึงข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

และ...หน่วยงานรัฐไม่มีมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นรูปธรรม

...

โดยเฉพาะการใช้ช่องทางการโฆษณาขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ที่หลากหลาย และอันดับสามคือเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐและหน่วยงานที่ดูแลผู้บริโภค ดำเนินการเชิงรุกในการแก้ปัญหาเชิงนโยบาย...ไม่ใช่รายกรณี โดยออกกฎระเบียบหรือกฎหมายบังคับเกี่ยวกับการอนุญาตโฆษณาขายสินค้าที่กระทบกับสุขภาพของผู้บริโภค รวมทั้งให้มีตรวจสอบและเฝ้าระวังการโฆษณาขายสินค้าผ่านช่องทางต่างๆ

ประเด็นสำคัญมีอีกว่า...“คนไทย” แชร์ข่าวปลอมถึง 20 ล้านคน และเป็นที่น่าตกใจเพราะกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมมากกว่า 90% อยู่ในช่วงอายุ 18-34 ปี และพบว่า 70% ข้อมูลปลอมที่แชร์เป็นเรื่องเกี่ยวกับ ...“สุขภาพ”...ข่าวที่มีเคยตรวจสอบว่าเป็นเท็จในอดีต แต่ในปัจจุบันข้อเท็จจริงที่เคยตีพิมพ์ได้มีความหมายตรงข้าม

เพราะโดนตัดสินจากข้อมูลที่มีไม่มากพอ บางข่าวได้มีการพิสูจน์ข้อมูลเพิ่มเติมตามมาภายหลังและที่สำคัญคือ...ขาดแหล่งข้อมูลสนับสนุนโดยรัฐที่เป็นรูปธรรม

พุ่งเป้าไปที่ “ผู้สูงอายุกับการซื้อของออนไลน์” ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 260 ระบุว่า ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุและเป็นสังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบแล้ว มียอดใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์เติบโตขึ้นมาก และมีแนวโน้มสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์เพิ่มขึ้นด้วย เพราะสะดวก รวดเร็ว มีให้เลือกหลากหลาย

แม้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันหาแนวทางส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจและรู้เท่าทันเทคโนโลยีมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังมี “ผู้สูงวัย” หลายคนที่พบปัญหาต่างๆ จากการช็อปปิ้งออนไลน์...และยิ่งเข้าถึงสื่อโฆษณาตามสื่อโซเชียลได้ง่ายขึ้นก็ยิ่งเกิดปัญหามากขึ้นเป็นเงาตามตัว

สาเหตุที่ผู้สูงอายุเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ส่วนใหญ่คือเพื่อรักษาสุขภาพและเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อโฆษณาเกินจริง...หลอกต้มก็เหมือนโดนซ้ำความทุกข์...เสียทั้งเงิน เสียทั้งสุขภาพ...ที่ไม่เป็นไปตามที่ตั้งหวังเอาไว้ ถึงเวลาแล้วที่รัฐต้องตื่น...ชูนโยบายปราบด่วนๆ.

...