สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1) รายงานสถานการณ์การผลิตหอมหัวใหญ่ ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน แหล่งผลิตสำคัญของประเทศ ปีเพาะปลูก 2565/66 มีพื้นที่ปลูกร้อยละ 95 ของพื้นที่ปลูกทั้งประเทศ

เนื้อที่เพาะปลูกรวม 3 จังหวัด 7,581 ไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 11 เนื่องจากมีฝนตกในช่วงต้นกล้ากำลังเจริญเติบโต ส่งผลให้ต้นกล้าเน่าได้รับความเสียหายบางส่วน ด้านผลผลิตรวม 3 จังหวัด มีประมาณ 28,716 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 8 เนื่องจากพื้นที่เก็บเกี่ยวลดลงและบางพื้นที่ประสบปัญหาโรคหมานอน (โรคแอนแทรคโนส) รวมถึงโรคเน่าที่เกิดจากแบคทีเรีย

ภาพรวมการผลิตหอมหัวใหญ่ ปีเพาะปลูก 2565/66 ในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด เกษตรกรเริ่มทยอยปลูกมาตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม 2565-ต้นเดือนมกราคม 2566 ผลผลิตได้เริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2565 และจะออกต่อเนื่องถึงเดือนเมษายน 2566

กุมภาพันธ์ 2566 จะเป็นช่วงที่ผลผลิตออกมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 60 ของผลผลิตทั้งหมด

โดยพื้นที่เชียงใหม่มีผลผลิตรวม 21,390 ตัน กำลังอยู่ในช่วงเจริญเติบโต เชียงรายผลผลิตรวม 7,054 ตัน เก็บเกี่ยวหมดแล้ว ส่วนแม่ฮ่องสอนผลผลิตรวม 272 ตัน อยู่ในช่วงการเจริญเติบโต

ราคาที่เกษตรกรขายได้ ปีนี้ยังคงมีทิศทางดี สำหรับการจำหน่ายผลผลิตในภาพรวม มีการส่งออกทั้งในรูปแบบหอมหัวใหญ่สด และหอมหัวใหญ่แห้ง ไปยังตลาดคู่ค้าสำคัญในต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินเดีย

สำหรับมาตรการบริหารจัดการสินค้าหอมหัวใหญ่ในปี 2565/66 ได้มีแนวทางการบริหารจัดการผลผลิตเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ โดยเน้นมาตรการกระจายผลผลิตส่งจำหน่ายให้กับห้างส่งค้าปลีกขนาดใหญ่ และโรงงานแปรรูป รวมทั้งมาตรการปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ การดำเนินการตรวจสอบสต๊อกสินค้าของผู้ประกอบการและผู้นำเข้าเพื่อป้องกันการกักตุนเพื่อเก็งกำไร รวมถึงวางแผนการปลูกให้สอดคล้องกับตลาดรองรับ เพื่อลดผลผลิตกระจุกตัว บริหารผลผลิตตามพื้นที่การปลูกให้มีการเหลื่อมเวลา.

...

สะ–เล–เต