2 กุมภาพันธ์ “วันนักประดิษฐ์” ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้วมีเหตุการณ์สำคัญต่อวงการประดิษฐ์ไทย เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 สภาวิจัยแห่งชาติได้ทูลเกล้าฯถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2537 กำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น “วันนักประดิษฐ์” และทรงได้รับสมัญญาว่า “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย”
ต่อมา องค์กรการประดิษฐ์นานาชาติ ได้ถวายพระราชสมัญญานามว่า “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์โลก” และกำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันนักประดิษฐ์โลก (International Inventor Day Convention : IIDC)
สำหรับวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม” โดยหัวใจสำคัญของงานคือการประกาศรางวัล “นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ” เพื่อเป็น “กำลังใจ” สำหรับนักวิจัยไทยมืออาชีพที่ได้อุทิศตนให้กับการสร้างผลงานวิจัยที่มีคุณประโยชน์ต่อประชาชน สังคมและประเทศชาติจนเป็นที่ประจักษ์และที่สำคัญต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับยกย่องว่ามีจริยธรรมของนักวิจัย สมควรเป็นแบบอย่างแก่นักวิจัยผู้อื่นได้
...
“รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติถือเป็นรางวัลที่น่าภาคภูมิใจ เพื่อประกาศเกียรติคุณหรือยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม ที่ส่งเสริมและสร้างคุณค่างานวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับนักวิจัยและนักประดิษฐ์ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สามารถต่อยอดไปสู่การประยุกต์ใช้ประโยชน์จริง โดยสร้างเป็นนวัตกรรมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ โดยปี 2566 มีนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 10 คนใน 7 สาขาวิชาการ” ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ
โดย สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ มี 2 คน คือ ศ.นพ.สมนึก สังฆานุภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อโดยเฉพาะโรคติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์ ซึ่งผลงานวิจัยส่งผลแก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั้งในประเทศ ไทยและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ และ ศ.ดร. มัลลิกา อิ่มวงศ์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล ผู้ประยุกต์ใช้เทคนิคทางชีวโมเลกุลเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนยุทธศาสตร์การกำจัดมาลาเรีย รวมถึงการดื้อยาทั้งในประเทศไทยและประเทศในกลุ่มลุ่มน้ำโขง
สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช มี 2 คน ศ.เกียรติคุณ ดร.กวี รัตนบรรณางกูร คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเซรุ่มแก้พิษงูชนิดต่างๆ ขององค์การอนามัยโลกและเป็นผู้ค้นพบสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เซรุ่มแก้พิษงูที่เคยผลิตกันทั่วไปมีประสิทธิภาพในการรักษาต่ำและ ศ.ดร.เภสัชกรหญิงปราณีต โอปณะโสภิต คณะเภสัชศาสตร์ ม.ศิลปากร ผู้พัฒนาตำรับสเปรย์พ่นจมูกสำหรับป้องกัน โรคโควิด-19 และตำรับยาเม็ดเคลือบฟิล์มสารสกัดฟ้าทะลายโจร
สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ได้แก่ รศ.ดร.ครศร ศรีกุลนาถ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ โดยการศึกษาเปรียบเทียบจีโนมและระบบการกำหนดเพศของสัตว์มีกระดูกสันหลัง
สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย ได้แก่ ศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยพลศาสตร์ของไหล ความร้อน และกลศาสตร์แอโรซอล
สาขาปรัชญา มี 2 คนคือ ศ.ดร.พัดชา อุทิศวรรณกุล คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยนวัตกรรมข้ามศาสตร์ทางการออกแบบผลิตภัณฑ์แฟชั่นและสิ่งทอไลฟ์สไตล์เพื่อความยั่งยืนและ รศ.ดร.วิโรจน์ อรุณมานะกุล คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญทั้งงานด้านคลังข้อมูลภาษาและงานประมวลผลภาษาไทย
...
สาขาเศรษฐศาสตร์ คือ ศ.ดร.ศากุน บุญอิต คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญ ด้านการจัดการซัพพลายเชนและการปฏิบัติการการบูรณาการซัพพลายเชน และ สาขาการศึกษา คือ ศ.ดร.จินตวีร์ คล้ายสังข์ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีอัจฉริยะและระบบเสริมในการเรียนออนไลน์ มีการพัฒนาแอปพลิเคชันช่วยสอนด้วยแชทบอทร่วมกับอุปกรณ์เทคโนโลยีสวมใส่เพื่อเป็นตัวช่วยในการเรียนรู้ในบริบทต่างๆ ทั้งนี้นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2566 จะได้รับเหรียญรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ พร้อมประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติคุณและเงินรางวัล
“วันนักประดิษฐ์ยังมีการจัดแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นจากนักประดิษฐ์ไทยและนานาชาติส่งผลงานเข้าร่วมกว่า 1,000 ผลงาน อาทิ นิทรรศการ “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ นิทรรศ การผลงานที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ นิทรรศการผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่ได้รับรางวัลจากนานาชาติ นิทรรศการนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์สร้างสรรค์ นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์สร้างมูลค่า ชุดอุปกรณ์ดูแลอนามัยช่องปากสำหรับผู้ป่วยพิเศษ ปืนตรวจวัดสารปนเปื้อนฟอร์มาลินในอาหารแบบพกพาได้ เท้าเทียมไดนามิกส์ สำหรับผู้พิการขาขาดที่แข็งแรง เป็นต้น” ผอ.วช. กล่าวถึงรายละเอียดของงาน โดยงานวันนักประดิษฐ์ จัดวันที่ 2-6 ก.พ.2566 ณ อีเวนต์ ฮอลล์ 100-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
...
“ทีมข่าวอุดมศึกษา” ขอชื่นชมและแสดงความยินดีกับนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ที่ประดิษฐ์คิดค้นผลงานและได้สร้างคุณูปการแก่ประชาชนและประเทศชาติ ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดแก่นักวิจัยและนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ
เพราะงานวิจัยหรือผลงานประดิษฐ์คิดค้นคือรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศและประเทศชาติที่เจริญแล้วล้วนให้ความสำคัญกับการสร้างนักวิจัยทั้งสิ้น.
ทีมข่าวอุดมศึกษา