พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงปัญหาการบูลลี่ในสังคมไทยขณะนี้ว่า กรมสุขภาพจิตมีการติดตามและสร้างหลักสูตรป้องกันการบูลลี่ โดยถอดบทเรียนจากเด็กที่ถูกบูลลี่ และเด็กที่บูลลี่คนอื่น นำมาถอดเป็นประสบการณ์ถ่ายทอดให้คนได้เรียนรู้ โดยคนสำคัญที่จะเข้ามาช่วยคือ ผู้ปกครอง ครู โรงเรียน และกลุ่มเพื่อน เพราะถ้าปล่อยให้เด็กไหลไปตามธรรมชาติของการเป็นผู้บูลลี่ ก็จะเรียนรู้ที่จะแสวงหาความสุขบนความทุกข์ของคนอื่น เห็นความเจ็บปวดของเพื่อนเป็นความภาคภูมิใจของตนเอง เพราะไม่สามารถหาความภูมิใจจากเรื่องอื่นได้ ส่วนเด็กที่ถูกบูลลี่ก็เจ็บปวด มองไม่เห็นที่พึ่งก็จมลงไปเรื่อยๆ ดังนั้นครู ผู้ปกครอง โรงเรียน และกลุ่มเพื่อนกันเอง จึงมีความสำคัญ โดยสร้างบรรยากาศ ค่านิยมที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ทิศทางที่สร้างสรรค์ของตัวเอง เพิ่มความภาคภูมิใจของตัวเองอย่างถูกต้อง
พญ.อัมพรกล่าวว่า สัญญาณเตือนภัยที่เด็กแสดงออกให้รับรู้ว่าอาจเป็นฟางเส้นสุดท้ายของการถูกบูลลี่นั้น เนื่องจากเด็กมีการแสดงออกทางอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายและรวดเร็ว บางครั้งเราเห็นเด็กร่าเริง แต่ก่อนหน้านั้น เด็กอาจส่งสัญญาณบางอย่าง เช่น มีเรื่องสำคัญที่อยากเล่าให้ฟัง แต่ผู้ใหญ่ให้เล่าภายหลัง เป็นการมองข้ามสัญญาณเตือนภัยด้วยความไม่เข้าใจ พฤติกรรมเด็กที่สังเกตได้ คือ การเรียนตก ปรับตัวกับเพื่อนไม่ได้ ตัดพ้อถึงความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูง พฤติกรรมก้าวร้าวอย่างออกนอกหน้า แยกตัวไม่สุงสิงกับใคร การระเบิดอารมณ์เป็นระยะๆในครอบครัว เป็นสัญญาณเตือนว่า เด็กไม่มีความสุข แต่จะเป็นสาเหตุเพราะถูกบูลลี่หรือสาเหตุอื่น ก็ต้องค้นหากันต่อไป.