ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา รศ.นพ. ธีระ วรธนารัตน์ ออกมาย้ำเตือนว่า จำนวนการเสียชีวิตส่วนเกินที่เกิดขึ้นในตลอดช่วงหลายปีของการระบาดจนถึงปัจจุบัน สะท้อนให้เราทุกคนเข้าใจสถานการณ์เป็นอย่างดี...ควรป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน

ภาพกราฟข้อมูลระบุว่า จำนวนเสียชีวิตส่วนเกินของไทยเราในปีที่สองที่เกิดช่วง D614G และแอลฟา...เดลตาระบาดนั้นมีจำนวนพอๆกับปีสามที่ “โอมิครอน” ระบาดเลย

สิ่งที่เห็นจึงสะท้อนให้เห็นสถานการณ์ปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น

ข้อมูลวันที่ 20 มกราคม 2566 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 184,854 คน ตายเพิ่ม 876 คน รวมแล้วติดไป 672,392,899 คน เสียชีวิตรวม 6,737,823 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และ รัสเซีย

น่าสนใจว่าจำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก “จำนวนติดเชื้อใหม่”...ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 90.03 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 90.18

...

องค์การอนามัยโลกได้เผยแพร่รายงาน WHO Weekly Epidemiological Update (19 มกราคม 2566) ระบุว่า หากเทียบกับ 4 สัปดาห์ก่อนหน้า พบว่ารอบเดือนที่ผ่านมา ทั่วโลกมีจำนวนเสียชีวิตจากโควิด–19 เพิ่มขึ้น 20%

ตั้งแต่ 16 ธันวาคม 2565 ถึง 16 มกราคม 2566 พบว่าสายพันธุ์ “โอมิครอน” ครองสัดส่วนการระบาด 99.9% โดยเป็นตระกูลของ BA.5 ราว 70.5% ส่วน BA.2 นั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยตรวจพบ 15.7%

ณ ปัจจุบัน สายพันธุ์ย่อยที่ทาง WHO จับตามองอย่างใกล้ชิด ได้แก่ BF.7, BQ.1.x (รวมถึง BQ.1.1), BA.2.75.x (รวมถึง BA.2.75.2 และ CH.1.1), XBB.x (รวมถึง XBB.1.5)

ประเด็นสำคัญมีว่าสถานการณ์ปัจจุบัน BQ.1.x ครองสัดส่วนสูงสุดถึง 54.37% กระจายไปแล้ว 110 ประเทศทั่วโลก

ในขณะที่ XBB.x ซึ่งดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากที่สุดนั้น แม้สัดส่วนตรวจพบราว 8.36% แต่ตรวจพบมากถึง 87 ประเทศแล้ว โดยสายพันธุ์ย่อยอย่าง XBB.1.5 ก็มีอัตราการขยายตัวของการระบาดเร็วในหลายประเทศ

และ...พบแล้วใน 38 ประเทศ ทั้งนี้ XBB.1.5 นี้มีการกลายพันธุ์ที่ทำให้มีคุณสมบัติทั้งดื้อต่อภูมิคุ้มกัน และความสามารถในการจับกับตัวรับ ACE2 ที่ผิวเซลล์เป้าหมายได้แน่นขึ้นกว่าเดิม

ผล...ทำให้แพร่ได้ง่ายมากขึ้น

รศ.นพ.ธีระ บอกอีกว่า ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มความเสี่ยงเสียชีวิตทั้งระยะสั้นและระยะยาว Wan EYF และคณะจากสหราชอาณาจักร เผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารการแพทย์โรคหัวใจระดับสากล Cardiovascular Research (19 ม.ค.2566) โดยทำการติดตามกลุ่มประชากรที่เคยติดเชื้อโควิดไปนาน 18 เดือน

สาระสำคัญคือการติดเชื้อโรคโควิด–19 จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

“...เด็กเล็ก หากติดโควิดและไวรัสอื่นพร้อมกัน จะเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงมากขึ้น”

Agarthis NT และคณะจากสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ระดับสากล Pediatrics เมื่อ 18 มกราคม 2566 พบว่าเด็กเล็กต่ำกว่า 5 ขวบ

หากตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด–19 ร่วมกับไวรัสทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น RSV, Rhinovirus, Enterovirus ฯลฯ จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะป่วยรุนแรงมากขึ้นราว 2 เท่า

ผลการศึกษาต่างๆข้างต้น ตอกย้ำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะ “เด็ก” หรือ “ผู้ใหญ่”

...

“ติดเชื้อแล้ว ไม่ใช่แค่ชิลชิลแล้วหาย แต่ป่วยรุนแรงได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อลองโควิดด้วย ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อหรือไม่ติดซ้ำย่อมดีที่สุด...การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ ยังเป็นเรื่องจำเป็น และช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อลงไปได้มาก”

ต่อเนื่องไปถึงการเฝ้าติดตามข้อมูลการระบาดของ “จีน” ข้อมูลการตรวจสายพันธุ์จาก GISAID จนถึง 16 มกราคม 2566 จะพบว่า BF.7.2 และ BA.5.2.48 ครองการระบาด แต่มีตัวอื่นๆหลากหลาย รวมถึง BQ.1.x, CH.1.1, และ XBB.1.5

พุ่งเป้าไปที่สายพันธุ์มาแรง “XBB.1.5”

ทีมงานจากมหาวิทยาลัยโตเกียว เผยแพร่ผลการวิจัยใน bioRxiv (17 ม.ค.2566) พบว่า XBB.1.5 นั้นมีสมรรถนะในการแพร่จากคนติดเชื้อไปผู้อื่นได้มากกว่า BQ.1.1 ราว 1.2 เท่า

นอกจากนี้ยังจับกับตัวรับ ACE2 ที่ผิวเซลล์เป้าหมายได้แน่นกว่า 4.3 เท่า รวมถึงสามารถติดเชื้อในเซลล์เป้าหมายได้มากกว่า BQ.1.1 ถึง 3.3 เท่า

ทีมวิจัยประเมินว่า XBB.1.5 นี้เป็นสายพันธุ์ย่อยที่ทำให้เกิดปัญหาการระบาดได้มากกว่าตัวอื่นที่เคยมีมาของตระกูล XBB เพราะเกิดการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง S:F486P

...

ถึงตรงนี้สำหรับประเทศไทยเรา ยังคงต้องตอกย้ำกันในเรื่องมาตรการป้องกันตัวเองการ์ดอย่าตก ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำงาน เรียน พบปะผู้คน สังสรรค์ปาร์ตี้ เดินทางท่องเที่ยว ควรเป็นไปด้วยความระมัดระวัง มีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ

“คนเยอะ...คลุกคลีใกล้ชิดโดยไม่ป้องกันตัว ระบายอากาศไม่ดี เป็นความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อแน่นอน”

ไม่สบาย ให้รีบตรวจ หากติดเชื้อแยกตัวอย่างน้อย 7–10 วัน จนอาการดีขึ้นและตรวจได้ผลลบ แล้วค่อยออกมาใช้ชีวิต ป้องกันเคร่งครัดจนครบสองสัปดาห์

ถึงวันนี้เราๆท่านๆยังคงอยู่ในวังวนวนเวียนการแพร่ระบาดไวรัสร้าย “โควิด–19” รอบตัว รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ฝากไว้ว่า เราควรที่จะต้องติดตามความรู้ให้ทันต่อสมัย จำและเรียนรู้บทเรียนอดีต ทั้งเรื่องติด ป่วย ตาย ยา และวัคซีน แล้วจะทราบว่าควรเชื่อในแหล่งที่ควรเชื่อ ทำในสิ่งที่ควรทำ

ปัจจุบันความรู้ลวงถูกเผยแพร่กันมาก ทั้งเรื่องการยุให้ถอดหน้ากาก รวมถึงการปฏิบัติตัวเมื่อติดเชื้อ...ถ้าทำตามอย่างไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ จะติดกันแพร่กันในครัวเรือนและคนรอบข้างได้

...

และ...ยามนั้น คนที่เผชิญกับความทุกข์คือ “ตัวเรา” และ “คนใกล้ชิด”

ยุคที่มี...“โรคระบาด” ความใส่ใจสุขภาพและให้ความสำคัญกับความปลอดภัยนั้นจะเป็นตัวกำหนดผลลัพธ์ด้านสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิต.