หนังสือเล่มหนา “พิชัยยุทธ์ซุนวู ฉบับหัวซาน” (หัวซานเขียน ชาญ ธนประกอบ เรียบเรียง สำนักพิมพ์โพสต์บุ๊กส์) ตาผมไม่ค่อยดีอ่านทั้งเล่มตาลาย ขอใช้วิธี “แทงศาสตรา” แบบชาวปักษ์ใต้ เอาไม้เสียบเข้าไป เจอหน้า 53
ห้าเรื่องเจ็ดประเมิน ต้นฉบับ...
ดูว่าเจ้านายฝ่ายใดมีมรรคกว่ากัน แม่ทัพฝ่ายใดสามารถกว่ากัน ฟ้าดินใครได้ กฎระเบียบฝ่ายใดเข้มงวดกวดขันดีกว่า กำลังพล ฝ่ายใดมากกว่า ไพร่พลฝ่ายใดฝึกซ้อมได้ดีกว่า การให้รางวัลและการลงโทษฝ่ายใดชัดเจนกว่า
หัวซานอธิบาย...แม่ทัพฝ่ายใดมีความสามารถมากกว่า คือการเปรียบเทียบฝีมือและความสามารถแม่ทัพทั้งสองฝ่าย ดังนั้น ในการรบจึงมักมีสภาพดังนี้ รู้ว่าแม่ทัพอีกฝ่ายร้ายกาจกว่า จึงยืนกรานไม่ออกรบ
แต่ส่งจารชนไปติดสินบนขุนนางคนสนิทของอีกฝ่าย ยุแหย่ให้เจ้าครองแผ่นดินกับขุนนางแตกคอกัน จะได้ย้ายแม่ทัพคนนี้ไปที่อื่น เปลี่ยนไอ้โง่มาแทน
จากนั้นจึงชนะด้วยการรบเพียงครั้งเดียว
ฟ้าดินใครได้...หมายถึงการเล็งเห็นลมฟ้าอากาศและชัยภูมิที่เป็นคุณอย่างแม่นยำ เหมือนตอนรัสเซียเขมือบคาบสมุทรไครเมีย รัสเซียได้เปรียบทั้งลมฟ้าอากาศและภูมิประเทศ สหรัฐอเมริกาสหภาพยุโรป ได้แต่ถลึงตาเต้นเร่าๆ แต่ทำอะไรไม่ได้
กฎระเบียบฝ่ายใดเข้มงวดกว่ากัน โจโฉอธิบายว่า ตั้งกฎไว้ไม่มีใครละเมิด ใครละเมิดจะถูกประหาร ด้วยเหตุนี้จึงมีเรื่องตัดหนวดในนาข้าว ยามนั้นกองทัพผ่านเส้นทางที่ข้าวในนาสุกพอดี โจโฉจึงมีคำสั่ง ห้ามมิให้เหยียบย่ำนาข้าว ถ้าทำนาข้าวเสียหายโทษถึงประหาร
ปรากฏว่า ม้าที่โจโฉขี่เกิดพยศโจนย่ำเหยียบนาข้าว แล้วทำอย่างไรดี คงตัดศีรษะตัวเองไม่ได้กระมัง เขาจึงชักกระบี่ตัดหนวดตัวเองแทนศีรษะ
...
กฎระเบียบ คือกฎหมายกับคำสั่ง เหมยเหยาเฉินอธิบายว่า คนมากใช้กฎหมาย คนน้อยใช้คำสั่ง
กำลังพลฝ่ายใดเข้มแข็งกว่า ตู้มู่อธิบาย บนล่างสามัคคี กล้าเผชิญศึกย่อมเข้มแข็ง ไพร่พลมาก รถศึกมากย่อมเข้มแข็ง จางอวี้ อธิบายว่า รถศึกแข็งแรง ม้าพันธุ์ดี ทหารกล้า อาวุธคม
ได้ยินเสียงกลองรบยินดี ได้ยินเสียงตีฆ้องโกรธา หมายถึงพอได้ยินเสียงกลองศึกให้บุกก็ดีใจ ได้ยินเสียงตีฆ้องให้ถอนพลก็โกรธ
ไพร่พลฝ่ายใดฝึกซ้อมได้ดีกว่า คนธรรมดาถ้าผ่านการฝึกซ้อม ล้วนสามารถทำงานเฉพาะกิจได้ ถ้าตลอดชีวิตฝึกอยู่เรื่องเดียว จะเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนั้น...ฝึกหนัก ฝึกหนัก จะทำอะไรก็ต้องฝึก ฝึกจนเป็นผู้ชำนาญในที่สุด
การให้รางวัลกับการลงโทษ ฝ่ายใดชัดเจนกว่า กล่าวได้ว่าทั้งสองเรื่องนี้เป็นตัวตัดสินกำลังการรบ ประเด็นสำคัญของการให้รางวัลและการลงโทษมีสองประการ หนึ่งคือทันเวลา สองคือพอเหมาะพอควร
หวังจื่อ ผู้รู้ตำราพิชัยยุทธ์ซุนวู อธิบาย ให้รางวัลไร้ขีดจำกัด สิ้นเปลืองโดยไร้พระคุณ ลงโทษเกินเหตุ รังแต่จะเข่นฆ่า โดยไร้บารมี
อ่านแล้ว พอเข้าใจ พิชัยยุทธ์ ห้าเรื่องเจ็ดประเมิน บ้างแล้วซุนวูบอกไว้ว่า ถ้าทำทุกอย่างครบ...จากนั้นรู้แพ้รู้ชนะ จากนั้นจึงยกทัพเผด็จศึก
บางบ้านเมืองที่ผมพอรู้จัก สถานการณ์ยังไม่เข้าขั้นสงคราม...แค่พอมีสัญญาณก็ระดมพลกันฝุ่นตลบ นี่ฝุ่นยังไม่จาง ยังไม่เห็นหน้าชัดเจนด้วยซ้ำ ใครเป็นใคร
แต่โหรการเมืองก็ทำนาย ทัพที่รบชนะ จะไม่ได้รับการชูมือ อ้าว! ถ้าผลออกมาแบบนี้ ซุนวูก็หน้าแตกไปเย็บไม่ติดไปน่ะซี!
กิเลน ประลองเชิง