มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญในด้านความมั่นคงทางอาหาร ปี 2562 ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกผลผลิตมันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดของโลก มีส่วนแบ่งตลาดโลกกว่า 68% แต่หากรวมผลผลิตมันสำปะหลังบ้านเราและเพื่อนบ้านในแถบลุ่มแม่น้ำโขง กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา และเวียดนาม จะมีส่วนแบ่งตลาดโลกสูงถึง 90%

“ไบโอเทคตระหนักถึงความสำคัญของมันสำปะหลังต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง จึงได้ริเริ่มโครงการ Capacity Building on Circular Economy, Resource and Energy Efficiency for Productivity and Sustainability of Cassava Chain to High Value Products: Cassava Root, Native Starch, and Biogas in Mekong Countries หรือโครงการ CCC โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณ รัฐเกาหลี ผ่านกองทุนความร่วมมือแม่โขงและสาธารณรัฐเกาหลี (Mekong-Republic of Korea Cooperation Fund- MKCF) และสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง”

...

ดร.วรินธร สงคศิริ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวิศวกรรมชีวเคมีและชีววิทยาระบบศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) บอกถึงที่มาของโครงการ CCC เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี ผ่านการจัดการฝึกอบรมให้แก่บุคลากรในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง โดยหลักสูตรอบรมครอบคลุมหัวข้อสำคัญ เริ่มตั้งแต่การบริหารจัดการเทคโนโลยีการปลูกมันสำปะหลัง การปรับปรุงพันธุ์เพื่อการเพิ่มผลผลิต และทำให้มันสำปะหลัง มีคุณสมบัติเหมาะกับการแปรรูป หรือใช้งานในอุตสาหกรรมเฉพาะ


นอกจากนั้น ยังรวมถึงการใช้เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตแป้งมันสำปะหลัง ลดการใช้พลังงานและทรัพยากรในกระบวนการผลิต จนถึงการใช้เทคโนโลยีในการนำของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต ได้แก่ น้ำเสียและกากมันสำปะหลังมาผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลและเทคโนโลยีมันสำปะหลัง (ASEAN Cassava Center) ในประเทศไทย เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านมันสำปะหลังของภูมิภาคและของโลกในอนาคต

...

ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการ มีผู้เข้าร่วมการอบรมจากทุกภาคส่วนของห่วงโซ่มูลค่าในอุตสาหกรรมมันสำปะหลังทั้งหมดกว่า 102 คน ซึ่งมากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมจัดตั้งศูนย์มันสำปะหลังแห่งชาติ (National Cassava Center) แบบ virtual center ที่กำกับดูแลโดยหน่วยงานพันธมิตรในประเทศลุ่มน้ำโขง โดยศูนย์มันสำปะหลังแห่งชาตินี้มีแผนที่จะยกระดับเป็นศูนย์ฯที่เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานพันธมิตร (physical center) ในอนาคต.
แทมรีน ใจกล้า