เมื่อวานคงทราบโจทย์ใหญ่ข้อแรก ที่ผู้เลี้ยงหมูต้องเผชิญในปีนี้นั่นคือ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น...โจทย์ที่ 2 ได้แก่ “ASF” แม้ยังไม่มีรายงานการพบไปทุกพื้นที่ เหมือนการระบาดในช่วงแรก

แต่เชื้อ ASF ก็ยังวนเวียนพร้อมสร้างปัญหาได้ทันทีที่เกิดความบกพร่องในการป้องกันโรค ยิ่งในภาวะที่ดูเหมือนว่าโรคสงบลงไปแล้ว ยิ่งต้องระวัง ไม่ประมาทคิดว่าโรคสงบลงไปแล้วคงไม่เกิดซ้ำอีก

สุดท้าย “หมูเถื่อน” โจทย์ใหญ่ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงหมูในทุกมิติ เนื่องจากหมูเถื่อนที่ลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศทั้งยุโรป อเมริกา อเมริกาใต้ และเอเชีย ไม่ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพ และโรคติดต่อ มีความเสี่ยงสูงที่จะนำเชื้อ ASF หรือโรคระบาด อื่นๆเข้ามาสร้างความเสียหายต่อการเลี้ยงหมูไทยซ้ำอีก

ซ้ำร้ายหมูเถื่อนยังเทขายในราคาถูกมาก ส่งผลให้ราคาเนื้อหมูและหมูมีชีวิตในประเทศตกต่ำ การเห็นแก่ของถูกจึงทำให้ความต้องการตลาดลดลง ทำให้ฟาร์มหมูยิ่งขาดทุนหนัก หมดกำลังใจฟื้นฟูการผลิต

แม้ปีที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์จะร่วมกับกรมศุลกากรปฏิบัติการตรวจจับและทำลายหมูเถื่อนไปกว่า 1 ล้าน กก. แต่กลับไม่เคยสืบสวนไปจับตัวการใหญ่ได้เลยสักครั้ง ทั้งที่หมูเถื่อนเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เพราะส่วนใหญ่เป็นเนื้อหมูเก่าเก็บข้ามปี หมดอายุ บางลอตมีสารอันตรายตกค้าง

โดยเฉพาะข่าวใหญ่ที่ตรวจจับได้เมื่อปลายปีที่แล้ว พบเนื้อสัตว์ที่คาดว่า ลักลอบนำเข้ามาแช่ฟอร์มาลินเตรียมส่งขายไปยังร้านหมูกระทะและอาหารอีสานต่างๆ ถือเป็นปัญหาที่หน่วยงานภาครัฐต้องเร่งจัดการร่วมกันอย่างจริงจัง จับตัวการมาให้ได้สักที ไม่ใช่จับได้ก็ทำลายโดยไม่สืบถึงที่มา

จาก 3 โจทย์ใหญ่ที่ท้าทาย ในปี 2566 นี้ เกษตรกรจำเป็นต้องปรับตัว เริ่มตั้งแต่การวางแผนการผลิต การเฝ้าระวังป้องกันโรค และการปฏิบัติตามระบบไบโอซีเคียวริตี้อย่างเข้มงวด เพราะเป็นปัจจัยหลักที่เกษตรกรควบคุมได้

...

นอกจากนั้น ควรศึกษาหาข้อมูลการใช้วัตถุดิบทดแทน แล้วนำมาปรับใช้อย่างถูกต้อง รวมถึงการบริหารจัดการฟาร์มแบบมืออาชีพ ที่ต้องเปิดใจเรียนรู้และพัฒนาทักษะการจัดการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการขอคำแนะนำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ นักวิชาการ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการเลี้ยงให้ได้มาตรฐาน ลดความเสี่ยงจากโรคระบาด ลดความสูญเสีย ลดต้นทุน และสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงสุกรได้อย่างยั่งยืน.

สะ-เล-เต