เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สธ. แถลงภายหลังเป็นประธานคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการรองรับการเดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ใน 3 เรื่องย่อยคือ 1.มาตรการด้านสาธารณสุข เช่น เฝ้าระวังโรคกลุ่มผู้เดินทางที่มีอาการทางเดินหายใจให้ได้รับการตรวจ ด้วย ATK/PCR ตรวจสายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 และในน้ำเสียจากเครื่องบิน เพิ่มกลไกรายงานผ่านเว็บไซต์กรมควบคุมโรค

2.แนวทางการทำประกันภัยสำหรับผู้เดินทางจากประเทศที่กำหนดให้ขากลับต้องมีผลตรวจ RT-PCR คือ จีนและอินเดีย มีวงเงินไม่น้อยกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ครอบคลุมช่วงระยะเวลาที่อยู่ในไทยและบวกเพิ่มอีก 7 วัน กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทย (เงื่อนไขตามที่กำหนด) สำหรับผู้มาประกอบภารกิจ ลูกเรือ นักเรียน อาจใช้หนังสือรับรองจากหน่วยงานเจ้าภาพหรือเอกสารแสดงถึงการมีประกันรูปแบบอื่นรับรองแทน โดยเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อจะสุ่มตรวจเอกสารรับรองประกันสุขภาพ หากไม่มีจะต้องซื้อประกันสุขภาพก่อนเข้าเมือง และ 3.แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยว เน้นรับวัคซีนโควิดครบ 4 เข็ม

นายอนุทินกล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบการให้บริการวัคซีนโควิด- 19 ในชาวต่างชาติตามความสมัครใจ คิดค่าบริการที่เหมาะสม ระยะนำร่องมีจุดบริการ ดังนี้ กทม. ได้แก่ สถาบันโรคผิวหนัง รพ.นพรัตนราชธานี รพ.เลิดสิน รพ.ราชวิถี ศูนย์การแพทย์บางรัก สถาบันบำราศนราดูร และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง, เชียงใหม่ ได้แก่ รพ.ประสาทเชียงใหม่, ชลบุรี ที่ศูนย์พัทยารักษ์ และภูเก็ต หน่วยบริการที่ดำเนินการโดย สสจ.ภูเก็ต และเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 รองรับการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อให้มีกลไกการจัดการด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการอย่างบูรณาการ มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด มีการประสานงานมาตรการที่ใช้กับผู้เดินทางอย่างไร้รอยต่อ มีปลัด สธ.เป็นประธาน

...

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การเฝ้าระวังผู้เดินทางจากต่างประเทศที่มีอาการทางเดินหายใจ จะมีระบบสแกนโดยให้สายการบินช่วยสื่อสารข้อมูล หากไม่สบาย เจ็บไข้ได้ป่วย อาการคล้ายโควิด ให้ตรวจ ซึ่งมีห้องแล็บด่านควบคุมโรคที่สนามบินสุวรรณภูมิ จะตรวจให้ฟรีว่าเป็นโควิดหรือไม่ และเก็บตัวอย่างส่งตรวจสายพันธุ์.