พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด กสทช.เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2566 มีมติให้เดินหน้าประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในวันที่ 15 ม.ค.2566 นี้ เพื่อรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ หากไม่มีการใช้งานวงโคจรจะถูกเรียกคืนไปเป็นสมบัติให้ชาติอื่นใช้ประโยชน์ได้

นอกจากนั้นที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบผลการตรวจสอบคุณสมบัติ ประสบการณ์และความสามารถทางด้านการเงินของผู้ขอรับอนุญาตสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (package) เพื่อเป็นผู้เข้าร่วมการคัดเลือก จำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัดในเครือบริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน), บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT และ บริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด โดยในกรณีของบริษัทพร้อม ซึ่งไม่มีใครรู้จักนั้น มีผลงานเป็นผู้ติดตั้งดาวเทียมบนแท่นขุดเจาะน้ำมัน จึงถือว่ามีประสบการณ์

“ขอย้ำว่าการประมูลในครั้งนี้ มีเป้าหมายคือจัดให้มีการเข้าใช้วงโคจรเพื่อรักษาสิทธิ์ของไทย เรื่องรายได้เป็นเรื่องรอง โดยคาดว่าน่าจะสามารถขายสิทธิใช้วงโคจรได้ 3 ชุด จากที่นำออกประมูล 5 ชุด ประกอบด้วย 12 ข่ายงานดาวเทียม (Filing) ใน 7 ตำแหน่ง” ทั้งนี้ในการประมูลสิทธิเข้าใช้วงโคจร 5 ชุดดังกล่าว ชุดที่ 4 มีราคาประมูลเริ่มต้นถูกที่สุดที่ 8.6 ล้านบาท ในตำแหน่งวงโคจรที่ 126 องศาตะวันออก เพื่อเปิดโอกาสให้รายเล็กเข้าร่วมประมูลได้ ขณะที่ชุดที่แพงที่สุดคือชุดที่ 3 ราคาเริ่มต้น 397 ล้านบาทที่วงโคจร 119.5 และ 120 องศาตะวันออก ซึ่งเป็นวงโคจรที่ให้บริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ได้ จึงน่าจะตอบโจทย์ทางธุรกิจ.

...