นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยว่า มะพร้าวกะทิเป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากหายาก มีราคาสูงถึงผลละ 60-100 บาท เนื่องจากเนื้อกะทิมีลักษณะเนื้อหนา ฟู อ่อนนุ่ม รสชาติหวานมัน อร่อย มีคุณค่าทางโภชนาการ ไขมันต่ำ ไฟเบอร์สูง และมีกรดลอริก สูงถึง 46% แต่ในธรรมชาติไม่มีต้นมะพร้าวกะทิ เนื่องจากผลที่เป็นมะพร้าวกะทิไม่สามารถงอกได้โดยธรรมชาติ ในมะพร้าว 1,000 ลูก จะพบมะพร้าวกะทิแค่เพียง 1-3 ลูก การขยายพันธุ์ต้องใช้คัพภะ หรือต้นอ่อนมาเพาะเลี้ยงด้วยอาหารสังเคราะห์ เพื่อให้เกิดเป็นต้นพืชโดยตรง

“แต่ขณะนี้ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร กรมวิชาการเกษตร พัฒนาพันธุ์มะพร้าวกะทิได้แล้ว โดย นายสมชาย วัฒนโยธิน ข้าราชการบำนาญ กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้ริเริ่มการปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวกะทิ ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงคัพภะ และวางรากฐานในการผลิตพันธุ์มะพร้าวลูกผสมกะทิ และมี นางปริญดา หรูนหีม เป็นผู้วิจัยหลักในการปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ร่วมกับนักวิจัยและทีมงานศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร

เป็นมะพร้าวกะทิ 100% พันธุ์ NHK-C2 ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงคัพภะของมะพร้าวพันธุ์ลูกผสมกะทิ พันธุ์ชุมพร 84-2 แล้วนำไปปลูกคัดเลือกพันธุ์ จนได้ NHK-C1 จากนั้นนำต้นอ่อนหรือคัพภะของพันธุ์ NHK-C1 มาปลูกจนได้พันธุ์ NHK-C2 ซึ่งเป็นชื่อรหัสในการวิจัยที่ยังไม่มีการตั้งชื่อพันธุ์อย่างเป็นทางการ”

...

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรยังได้เผยถึงผลการนำมะพร้าวกะทิ 100% พันธุ์ NHK-C2 จำนวน 121 ต้น ไปทดลองปลูกที่สวนผลิตพันธุ์มะพร้าวลูกผสมคันธุลี อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี ระหว่างปี 2556-2565 พบว่า ในช่วงอายุ 8-9 ปี ให้ผลผลิตเฉลี่ยต้นละ 105 ผลต่อปี หรือไร่ละ 2,310 ผลต่อปี

ผลผลิตทุกผลเป็นมะพร้าวกะทิ ผลมีขนาดกลางถึงใหญ่ มีน้ำหนักเฉลี่ยผลละ 2,032 กรัม น้ำหนัก เนื้อ 670 กรัม และความหนาเนื้อ 23.8 มิลลิเมตร ค่าความหวานของ น้ำมะพร้าว 6.2 องศาบริกซ์

จากการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตต่อไร่ เฉลี่ย 4 ปี พบว่า มีต้นทุนการผลิตไร่ละ 9,393 บาทต่อปี จำหน่ายได้ผลตอบแทนสุทธิไร่ละ 155,607 บาท ในขณะที่มะพร้าวแกงที่มีผลตอบแทนสุทธิไร่ละ 8,362 บาท... เกษตรกรสนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 08-1188-2217.