• จีนเตรียมเปิดให้คนในประเทศเดินทางออกนอกประเทศได้ตั้งแต่ 8 ม.ค.นี้ ทำนักท่องเที่ยวแห่จองทัวร์คึกคัก ทำทั่วโลกกังวลโควิดฯ เนื่องจากจีนระบาดหนัก ด้านไทยถือเป็นอีกหนึ่งประเทศยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวจีน ควรดำเนินการอย่างไร เตรียมรับมือโควิดฯ

จากกรณีที่จีนผ่อนคลายนโยบาย "Zero Covid" และจะเปิดให้คนในประเทศเดินทางออกนอกประเทศได้ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป ทำให้ชาวจีนแห่จองทัวร์เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศกันคึกคัก ส่งผลทำให้ทั่วโลกเริ่มกังวลและเฝ้าจับตา เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์โควิดฯ ในจีนกลับมาแพร่ระบาดหนักอีกครั้ง จนหลายประเทศเริ่มผุดมาตรการตรวจเข้มนักท่องเที่ยวจากจีน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ส่วนประเทศไทยนั้นถือเป็นจุดหมายยอดนิยมอีกประเทศหนึ่งสำหรับนักท่องเที่ยวจีน

ยันเชื่อมั่น คกก.วิชาการทางการแพทย์ของไทยรับมือได้

โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงมาตรการรับมือนักท่องเที่ยวจีน ว่า วันที่ 5 ม.ค.นี้ จะหารือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงคมนาคมว่า ทำอย่างไรให้เกิดความ ปลอดภัยกับประชาชนมากที่สุด ส่วนจะมีมาตรการที่เข้มข้นกับชาวจีนหรือไม่นั้น ในที่ประชุมคณะกรรมการวิชาการทางการแพทย์มีมติว่า ไม่จำเป็นจะต้องแยกปฏิบัติใดๆ เพราะเรามีความพร้อม ตนเชื่อนักวิชาการของคณะกรรมการวิชาการทางการแพทย์ของไทย เพราะได้กำหนดมาตรการมาหลายรอบแล้ว ประเทศไทยสามารถควบคุมการติดเชื้อ การเจ็บป่วย หรือเสียชีวิต ได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ ฉะนั้นเราจะไปเทียบกับคนที่ด้อยกว่าทำไม วัคซีนที่มีในไทยยังสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ ขอให้คนไทยไปรับวัคซีนเข็มบูสเตอร์เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ส่วนการรับมือถ้าประเทศจีนเปิดประเทศนั้น ไม่ได้แห่กันมาไทยตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. แต่คาดการณ์ว่าเดือน ม.ค. คนจีนจะมาไทย 4 หมื่นคน เดือน ก.พ. จะมา 5 หมื่นคน อีกทั้งประเทศจีนออกกฎใหม่ว่า คนที่จะเดินทางเข้าประเทศจีน ต้องมีการตรวจเชื้อแบบ PCR หนักกว่าไทย ถ้ามองด้านรายได้ไทยสามารถให้บริการทางด้านการตรวจแบบ PCR สร้างรายได้ให้กับประเทศเพิ่มมากขึ้น

...

ส่วนจะการันตีว่ามาตรการโควิดในไทย จะไม่มีความรุนแรงมากกว่านี้หรือไม่นั้น นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่มีอะไรการันตีได้ เพียงแต่ว่าเราผ่านจุดนั้นมาแล้ว การันตีได้ว่าจะไม่มีการล็อกดาวน์ หากใครเจ็บป่วย ถ้าใครฉีดวัคซีนเกินสี่เข็ม ไม่มีโรคประจำตัว ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 608 จะไม่เกิดความรุนแรงอาการหนักหรือเสียชีวิต การันตีได้ว่ามียาเวชภัณฑ์และหมอเพียงพอต่อการรักษา

สรุปแนวทาง-มาตรการป้องกันโควิดฯ เตรียมรับมือนักท่องเที่ยวจากจีน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ได้ข้อสรุปแนวทางและมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิดฯ เพื่อเตรียมรับผู้เดินทางจากประเทศจีน ดังนี้

  • กำหนดมาตรการป้องกันโรคโควิดฯ เพื่อรับผู้เดินทางจากประเทศจีน ได้แก่ การตรวจเอกสารรับรองการได้รับวัคซีนโควิด-19 และกำหนดให้ผู้เดินทางซื้อประกันสุขภาพเดินทางระยะสั้นที่ครอบคลุมการรักษาโรคโควิดฯ ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย ทั้งนี้ พิจารณามาตรการดังกล่าวอย่างสอดคล้องกับข้อกำหนดของประเทศจีนในการรับผู้เดินทางเข้าประเทศ ที่กำหนดให้มีการตรวจ RT-PCR ก่อนขึ้นเครื่อง 48 ชั่วโมง
  • สื่อสารประชาสัมพันธ์ถึงมาตรการของไทยและคำแนะนำต่างๆ ให้กับผู้เดินทางก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย โดยผ่านกลไกของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ ผู้ประกอบการสายการบิน ศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยวในประเทศต่างๆ
  • เสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบการป้องกันควบคุมโรคโควิดฯ ของประเทศไทย โดยเฉพาะระบบเฝ้าระวังในผู้เดินทางเข้าประเทศที่ช่องทางเข้าออกประเทศ โดยการสุ่มตัวอย่างตรวจสายพันธุ์ (ปัจจุบันสายพันธุ์ที่พบในจีนไม่แตกต่างจากที่เคยมีรายงาน) และประเมินสถานการณ์เป็นระยะ เพื่อนำไปพิจารณากำหนดมาตรการที่เหมาะสม
  • เตรียมความพร้อมระบบบริการสาธารณสุขให้รองรับผู้ป่วยชาวต่างชาติได้มากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยว
  • สื่อสารเน้นย้ำมาตรการป้องกันตนเองตลอดระยะเวลา ที่ผู้เดินทางท่องเที่ยวอยู่ในประเทศไทย เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล และจัดบริการสายด่วนสำหรับนักท่องเที่ยว
  • ด้านผู้ประกอบการและร้านค้า ควรดำเนินการตามแนวทาง SHA, SHA Plus
  • ภาคสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคม สื่อสารไปยังผู้ประกอบกิจการ หรือผู้ที่ให้บริการนักท่องเที่ยวให้ได้รับวัคซีนโควิดฯ ครบ 4 เข็ม โดยทางภาคสาธารณสุขจะมีการเตรียมวัคซีนให้กับแรงงาน ภาคธุรกิจท่องเที่ยว และภาคการคมนาคม เพื่อการกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรค รวมถึงประชาชนคนไทยทุกคนให้ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิดฯ จำนวนรวม 4 เข็ม เพื่อลดการป่วยหนัก และลดการเสียชีวิต

คาดปีนี้ นทท.จีนแห่เข้าไทย 5 ล้านคน เผยยังไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อโควิดฯ

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า การเตรียมรับสถานการณ์เดินทางที่จะเพิ่มขึ้นจากประเทศจีน คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยประมาณ 5 ล้านคน ในปี 2566 รวมทั้งจะมีผู้เดินทางจากประเทศไทยไปประเทศจีนมากขึ้นด้วย จึงต้องมีการพิจารณามาตรการและเตรียมแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมกับสถานการณ์

ด้าน ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์สมหวัง ด่านชัยวิจิตร ประธานคณะกรรมการด้านวิชาการฯ ได้ให้หลักการในการพิจารณามาตรการว่า ควรคำนึงถึงหลักการเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ตั้งอยู่บนพื้นฐานด้านวิชาการ ความปลอดภัยสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ที่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงให้มีความสอดคล้องกับมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้าออกของประเทศต่างๆ

"ที่ประชุมคณะกรรมการวิชาการฯ ได้ร่วมกันพิจารณาและประเมินความเสี่ยงโดยใช้ข้อมูลสถานการณ์โรค ข้อมูลการเดินทางระหว่างประเทศ รวมถึงมาตรการของประเทศต่างๆ มีความเห็นร่วมกันว่า ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้"

...

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาเตรียมการจัดทำแผนรองรับในระยะต่างๆ ให้มีการติดตามประเมินมาตรการที่กำหนดเป็นระยะ ทั้งนี้ จากการประเมินสถานการณ์รอบด้าน ในขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดให้ตรวจหาเชื้อโควิดในผู้เดินทางมาจากประเทศจีน เพื่อสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของ European

ไทยควรดำเนินการอย่างไรสำหรับนักท่องเที่ยวจีน

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" ไว้อย่างสนใจ ถึงการดำเนินการสำหรับนักท่องเที่ยวจีน ที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ว่า ถึงแม้ในวงวิชาการบางส่วน อาจมองว่าการปิดกั้นหรือคัดกรองโรคในกลุ่มนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศนั้นอาจมีประโยชน์น้อย ในการสกัดกั้นการระบาดภายในประเทศ เนื่องจากในภาวะปัจจุบันโควิดกระจายไปทั่วโลก ทั้งในไทยและต่างประเทศไปแล้ว แต่หากคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน คือ การนำเข้าสายพันธุ์ต่างถิ่นที่มากับกลุ่มนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ก็จะส่งผลต่อสัดส่วนสายพันธุ์ระบาดที่จะเป็นไปในพื้นที่ที่รับมา และเปลี่ยนแปลงนิเวศการระบาด ที่อาจกระตุ้นให้มีการแพร่กระจายที่มากขึ้น ไวขึ้น และผสมจนเกิดสายพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาสมรรถนะไปกว่าเดิมได้

...

ในสถานการณ์ระบาดปัจจุบันที่เด่นชัดว่า จีนมี BF.7 เป็นหลักและเกิดการระบาดรุนแรง ต่างจากประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ที่มักเป็นสายพันธุ์ผสม และต่างจากไทยที่มี BA.2.75 ดังนั้นการเฝ้าระวังและคัดกรองโรคจึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำ

เช่นเดียวกับนโยบายหลายประเทศ ที่ประกาศมาตรการคัดกรองนักท่องเที่ยวจากจีน อาทิ อเมริกา ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย เกาหลีใต้ และอินเดีย รวมถึงอิตาลีที่กำลังพิจารณาเช่นกัน หลังจากเพิ่งตรวจพบการติดเชื้อกว่าครึ่งหนึ่งในเที่ยวบินของกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน

เผยเหตุผลทำไม? ไทยจึงไม่ต้องกังวล

นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความระบุว่า ทำไมไทยจึงพอจะเบาใจได้ เรื่องนักท่องเที่ยวจีนอาจทำให้โควิดมีการแพร่ระบาดอย่างมากในประเทศไทย หลังจากที่จีนได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายโควิดเป็นศูนย์มาเป็นลำดับ และกำลังจะมีมาตรการสำคัญยิ่งใหญ่ แทบจะเรียกว่าเป็นการเปิดประเทศกันเลยทีเดียว คือนับตั้งแต่ 8 มกราคม 2566 จีนจะยกเลิกการกักตัวสำหรับผู้ที่จะเดินทางเข้าออกประเทศจีน ทำให้ประชาชนของทุกประเทศสามารถเดินทางเข้าจีนได้สะดวกง่ายดายขึ้น และในขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวชาวจีน ก็สามารถออกมาเที่ยวนอกประเทศได้สะดวกเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ผลของการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว ทำให้จีนซึ่งเป็นประเทศที่มีพลเมืองมากที่สุดในโลกราว 1,400 ล้านคน เกิดการติดเชื้อเป็นจำนวนมาก เนื่องจากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจีนควบคุมโควิดได้ดีมาก จนมีผู้ติดเชื้อไม่ถึง 1 ล้านคน เสียชีวิตไปเพียง 5,000 คนเศษๆ ทำให้ประเทศต่างๆ มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการเปิดประเทศของจีนแตกต่างกันออกไป แยกได้ 2 กลุ่ม คือ

...

  • 1. กลุ่มที่ยังคงมาตรการต่างๆ สำหรับรับมือนักท่องเที่ยวชาวจีนเหมือนเดิม ได้แก่ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ กลุ่มเศรษฐกิจยุโรป และประเทศไทย โดยต่างเชื่อว่าสามารถที่จะรับมือและควบคุมการระบาดของโควิดได้ เพื่อแลกกับรายได้จำนวนมากที่จะเข้าสู่ประเทศ
  • 2. กลุ่มที่ทำการปรับมาตรการควบคุมโรคเข้มข้นขึ้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อิตาลี ญี่ปุ่น อินเดีย โดยมีความกังวลว่า จะมีโควิดจากนักท่องเที่ยวเข้ามาสู่ประเทศตนเอง จึงให้ความสำคัญมิติทางสาธารณสุขมากกว่ามิติทางด้านเศรษฐกิจ


สำหรับกลุ่มประเทศที่ไม่ได้เพิ่มมาตรการเข้มเข้นนั้น เพราะมีความเชื่อว่าไวรัสก่อโรคในขณะนี้ คือ สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งมีความสามารถในการติดต่อได้ง่ายก็จริง แต่ไม่ได้รุนแรงและผู้เสียชีวิตไม่มากนัก อาจถือเป็นโรคประจำฤดูกาล จึงไม่ควรเสียโอกาสในการหารายได้เข้าประเทศ อย่างไรก็ตาม แนวความคิดดังกล่าว จำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลรองรับว่า สายพันธุ์ที่มีการระบาดในประเทศจีนนั้น ไม่ได้แตกต่างไปจากสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่แล้วในประเทศของตนเอง

สายพันธุ์ระบาดในไทยน่ากลัวกว่า!

ซึ่งนับเป็นข่าวดี ที่ศูนย์จีโนมแห่งชาติคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยข้อมูลว่า จากตัวอย่างการถอดรหัสไวรัสในประเทศจีนขณะนี้ เป็นไวรัสสายพันธุ์ที่ไม่ได้รุนแรงกว่าสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในประเทศไทย แล้วก็ไม่ได้รุนแรงกว่าสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ทั่วโลก กล่าวคือ

  • เป็น BA.5.2 จำนวน 25.8%
  • BF.7 จำนวน 23.5%
  • โดยที่ BA.5.2 จะสู้สายพันธุ์หลักของไทยในปัจจุบันคือ BA.2.75 ไม่ได้
  • โดย BA.2.75 ของไทยแพร่เก่งกว่า BA.5.2 ของจีนอยู่ 63% และแพร่เก่งกว่า BF.7 อยู่ 9%

ในขณะเดียวกันของประเทศอิตาลี ที่มีข่าวว่ามีนักท่องเที่ยวจากจีนสองไฟลต์ตรวจพบโควิดประมาณครึ่งหนึ่ง ก็ถอดรหัสเบื้องต้นแล้วพบว่าไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด ส่วนในเยอรมนีและในกลุ่มประเทศยุโรปก็พบหลักการเดียวกัน คือ ไวรัสที่ก่อโรคในประเทศจีน ล้วนแต่เป็นสายพันธุ์ที่เคยระบาดในประเทศอื่นๆ แล้วทั้งสิ้น ดังนั้นการที่มีการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อโดยธรรมชาติต่อไวรัสสายพันธุ์ที่ล้ำหน้ากว่าสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในจีน จึงทำให้เกิดความเบาใจว่าจะไม่มีการระบาดที่รุนแรงจากนักท่องเที่ยวชาวจีน แต่ทั้งนี้ก็ต้องติดตามข้อมูลรายละเอียด ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของประเทศจีนไปเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรงเพิ่มขึ้น มาตรการต่างๆ ก็ต้องยกระดับเข้มข้นขึ้นทันที.

กราฟิก : Varanya.p