“อนุทิน” ยันเชื่อมั่นคณะกรรมการด้านวิชาการทาง การแพทย์ของไทยในการรับมือนักท่องเที่ยวจีนแห่เที่ยวไทย เพราะสามารถควบคุมการติดเชื้อ เจ็บป่วย เสียชีวิตได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ การันตีได้ว่ามียา เวชภัณฑ์และหมอเพียงพอต่อการรักษา ขณะที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขชี้ อย่าเพิ่งวิตกกังวลจนเกินไป 5 ม.ค.นี้ ได้ข้อสรุปหลังประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นยังยึดมติที่ประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการฯ ยังไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในผู้เดินทางจากประเทศจีน ย้ำให้ผู้ประกอบการคนไทยรีบฉีดวัคซีนให้ครบ 4 เข็ม กระตุ้นภูมิคุ้มกันโรค ลดป่วยหนัก ลดเสียชีวิต
จากกรณีจีนเปิดให้คนในประเทศเดินทางระหว่างประเทศได้ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2566 เป็นต้นไป ทำให้มีชาวจีนแห่จองทัวร์เดินทางออกนอกประเทศอย่างคึกคัก แต่กลับสร้างความกังวลไปทั่วโลก เนื่องจากขณะนี้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กลับมาระบาดอย่างหนักในประเทศจีน ทำให้หลายประเทศรีบออกประกาศข้อจำกัดสำหรับผู้เดินทางจากจีน ขณะที่ประเทศไทย ที่ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่นักท่องเที่ยวจีนต้องการมาที่สุด นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เคยระบุไว้ว่า หากจีนเปิดประเทศ ททท.คาดหมายว่าในไตรมาสแรกของปี 2566 จีนจะเข้ามาเที่ยวไทยราว 3 แสนคน ไทยกลับยังไม่มีมาตรการรองรับที่ชัดเจนใดๆ
ต่อมาเมื่อวันที่ 3 ม.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงในเรื่องนี้ว่า จะมีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 5 ม.ค. กำหนดเป็นมาตรการของประเทศร่วมกันต่อไป กรมควบคุมโรคได้ประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2565 คณะกรรมการวิชาการฯ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์มหาวิทยาลัย ได้ดูข้อมูลจากต่างประเทศที่เป็นทางการ นำมาพิจารณาให้เหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด อย่างไรก็ตาม อยากให้ดูข้อมูลที่เป็นทางการ ที่เชื่อถือได้ เพื่อไม่ให้เกิดการวิตกกังวลมากเกินไป หลายประเทศยังมีการติดเชื้อรายใหม่อยู่มาก ไม่ใช่เฉพาะประเทศจีน ขณะเดียวกันคนไทยเราก็เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น ดังนั้น เรามีคณะทำงานติดตามข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างใกล้ชิด ไม่ต้องวิตกกังวลจนเกินไป
...
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่มี ศ.เกียรติคุณ นพ.สมหวัง ด่านชัยวิจิตร เป็นประธานฯ เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2565 มีวาระพิจารณาการเตรียมรับการเดินทาง ที่จะเพิ่มขึ้นจากประเทศจีน ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยประมาณ 5 ล้านคน ในปี 2566 รวมทั้งจะมีผู้เดินทางจากไทยไปจีนมากขึ้นด้วย สรุปแนวทางและมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 เพื่อเตรียมรับผู้เดินทางจากประเทศจีน 7 ข้อหลักๆ มีทั้งการตรวจเอกสารรับรองการได้รับวัคซีนโควิด-19 และกำหนดให้ผู้เดินทางซื้อประกันสุขภาพเดินทางระยะสั้นที่ครอบคลุมการรักษาโรคโควิด-19 ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย สุ่มตัวอย่างตรวจสายพันธุ์ และประเมินสถานการณ์เป็นระยะ เตรียมความพร้อมระบบบริการสาธารณสุขให้รองรับผู้ป่วยชาวต่างชาติได้มากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยว ย้ำมาตรการป้องกันตนเองตลอดระยะเวลาที่ผู้เดินทางท่องเที่ยวอยู่ในประเทศไทย เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล รวมถึงให้ผู้ประกอบการและร้านค้า ดำเนินการตามแนวทาง SHA, SHA Plus และให้ผู้ประกอบกิจการหรือผู้ที่ให้บริการนักท่องเที่ยว รวมถึงประชาชนคนไทยทุกคนได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบ 4 เข็ม เพื่อการกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรค ลดการป่วยหนักและลดการเสียชีวิต
นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังระบุ จากการประเมินสถานการณ์รอบด้าน ในขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในผู้เดินทางจากประเทศจีน หากมีข้อมูลการเฝ้าระวังสายพันธุ์หรือสถานการณ์ระบาดที่เปลี่ยนแปลง จะพิจารณาความจำเป็นของการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทยอีกครั้ง
วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม กล่าวที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงมาตรการป้องกันโควิด-19 รองรับนักท่องเที่ยวจีนที่จะเปิดประเทศในวันที่ 8 ม.ค. ว่า เปิดแล้วก็ดีเราก็เตรียม มาตรการทำอย่างไรไม่ให้เกิดผลกระทบ สาธารณสุข ทีมแพทย์มีมาตรการอยู่แล้ว วันนี้หลายประเทศมีการรับมืออยู่แล้ว บางอย่างอาจเหมือนกัน บางอย่างอาจไม่เหมือน เพราะมาตรการพื้นฐานแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน โดยของไทยถือว่าเป็นเกรด A ฉะนั้นต้องเชื่อมั่นตรงนี้ เพราะถือเป็นรายได้ให้กับประเทศ เห็นว่าช่วงเทศกาลปีใหม่คนไปท่องเที่ยวเยอะมาก สิ่งที่อยากให้ระวังคือดูแลและป้องกันตัวเอง ใครเป็นก็รักษาพยาบาล แต่ถ้าอาการหนักหนาสาหัสต้องดูว่าจะทำอย่างไร แต่ตนเคยแก้ปัญหาตรงนี้มาแล้วประสบการณ์ของเราเป็นสิ่งสำคัญ หลายประเทศก็เอาตัวอย่างไปทำ
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงมาตรการรับมือนักท่องเที่ยวจีน ว่า วันที่ 5 ม.ค. จะหารือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและ กีฬา และกระทรวงคมนาคมว่า ทำอย่างไรให้เกิดความ ปลอดภัยกับประชาชนมากที่สุด ส่วนจะมีมาตรการที่ เข้มข้นกับชาวจีนหรือไม่นั้น ในที่ประชุมคณะกรรมการ วิชาการทางการแพทย์ มีมติว่าไม่จำเป็นจะต้องแยกปฏิบัติใดๆ เพราะเรามีความพร้อม ตนเชื่อนักวิชาการ ของคณะกรรมการวิชาการทางการแพทย์ของไทย เพราะได้กำหนดมาตรการมาหลายรอบแล้ว ประเทศไทย สามารถควบคุมการติดเชื้อ การเจ็บป่วย หรือเสียชีวิต ได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ ฉะนั้นเราจะไปเทียบกับคนที่ ด้อยกว่าทำไม วัคซีนที่มีในไทยยังสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ ขอให้คนไทยไปรับวัคซีนเข็มบูสเตอร์ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ส่วนการรับมือถ้าประเทศจีนเปิดประเทศนั้น ไม่ได้แห่กันมาไทยตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. แต่คาดการณ์ว่าเดือน ม.ค. คนจีนจะมาไทย 4 หมื่นคน เดือน ก.พ. จะมา 5 หมื่นคน อีกทั้งประเทศจีนออกกฎใหม่ว่า คนที่จะเดินทางเข้าประเทศจีน ต้องมีการตรวจเชื้อแบบ PCR หนักกว่าไทย ถ้ามอง ด้านรายได้ไทยสามารถให้บริการทางด้านการตรวจแบบ PCR สร้างรายได้ให้กับประเทศเพิ่มมากขึ้น
ส่วนจะการันตีว่ามาตรการโควิดในไทยจะไม่มี ความรุนแรงมากกว่านี้หรือไม่นั้น นายอนุทินกล่าวว่า ไม่มีอะไรการันตีได้ เพียงแต่ว่าเราผ่านจุดนั้นมาแล้ว การันตีได้ว่าจะไม่มีการล็อกดาวน์ หากใครเจ็บปวด ถ้าใครฉีดวัคซีนเกินสี่เข็ม ไม่มีโรคประจำตัว ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 608 จะไม่เกิดความรุนแรงอาการหนัก หรือเสียชีวิต การันตีได้ว่ามียา เวชภัณฑ์ และหมอ เพียงพอต่อการรักษา
ขณะที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 3 ม.ค. ว่า ขณะนี้หลายประเทศยังคงเข้มงวดกับ ผู้เดินทางมาจากประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย อินเดีย แคนาดา ญี่ปุ่น อิตาลี สเปน มาเลเซีย ไต้หวัน กาตาร์ อิสราเอล เกาหลีใต้ ที่นอกจากกำหนดให้นักเดินทางจากจีนต้องแสดงผลการตรวจหาเชื้อโควิดเป็นลบก่อนออกเดินทางแล้ว ยังประกาศใช้มาตรการดังกล่าวกับผู้เดินทางจากฮ่องกงและมาเก๊า ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค.นี้ ส่วนเบลเยียมเตรียมทดสอบตัวอย่างน้ำทิ้ง จากเครื่องบินที่เดินทางมาจากจีนเพื่อหาเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ ขณะที่โมร็อกโกประกาศสั่งห้ามผู้ที่ เดินทางมาจากจีน ไม่ว่าจะมีสัญชาติใดมาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา ด้านนางเหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ประณามข้อกำหนดดังกล่าว ระบุเป็นการเลือกปฏิบัติ พร้อมเตือนว่าจีนอาจใช้มาตรการตอบโต้
...