ผ่านเส้นชัยมาแล้ว...กับการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจโลก 21 เขต หรือ “เอเปก” ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว รอบนี้ไทยสร้างคอนเทนต์การฟื้นฟูเศรษฐกิจใหม่จากที่โลกตกเป็นเหยื่อโควิด–19 โดย...“เปิดกว้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันสู่สมดุล”
ตอกเสาเข็มให้ประเทศสมาชิกเพิ่มโอกาสด้านการค้าการลงทุนทุกมิติและแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่าหวังผล “กำไร”
น่าสนใจว่าแนวคิดนี้เป็น “โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่” หรือ “บีซีจี”...“เศรษฐกิจชีวภาพ” กับ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” และ “เศรษฐกิจสีเขียว”
แก้ปัญหาโลกร้อนโดยอาศัย “ท่องเที่ยว” เป็นสื่อนำ
ที่จริงแล้ว...บ้านเราได้เตรียมเรื่องนี้คู่อาหารไทยเพื่อลดโลกร้อนไว้ก่อนและมีผลต่อการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ลดความยากจนเกษตรกรและชุมชน ยกระดับอาหารสู่สุขภาพส่วนรวม
บวกกับหนุนอุตสาหกรรมชีวภาพการผลิตยาและเครื่องมือแพทย์ เสริมความเข้มแข็งวัสดุชีวภาพให้มีศักยภาพส่งออก...เป็นแหล่งสร้างงานให้แก่ผู้มีทักษะเพิ่มรายได้สูงขึ้น
...
ประเด็นที่ดูจะตื่นเต้นที่สุด...คือการสร้างระบบบริหารจัดการการท่องเที่ยวนำไปสู่ท็อป 3 เอเปก โดยเซฟการใช้ทรัพยากรให้น้อยลงแต่เพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น...เท่านี้ก็น่าดีใจจนขนหัวลุกแล้ว?
พุ่งเป้าไปที่ภาคการท่องเที่ยวให้ชัดๆ...เพราะเป็นกลไกเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ.นี้ หากย้อนไปเมื่อปี 2562 เคยทำรายได้กว่า 3.3 ล้านล้านบาท...ปี 2565 เพิ่งมอบรางวัลคู่ผัวตัวเมียมาทัวร์ไทยคนที่ 10 ล้านพอดี ไม่มีอะไร...นอกจากขนรำไทยกลองยาวไปรับถึงสุวรรณภูมิกันคึกคักเมื่อต้นเดือนธันวาคม
เรื่องนี้...น้ำฝน บุณยะวัฒน์ รองผู้ว่าการด้านนโยบายและแผน ททท. เคยพูดไว้น่าฟังว่า...ท่องเที่ยวสำคัญเรื่องขีดความสามารถรองรับนักท่องเที่ยว มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติ เราจึงต้องตระหนักถึงการบริหารจัดการให้มีคุณภาพและยั่งยืน
ควรเน้นคำว่า “กำไร” ที่สมดุลกันระหว่าง “ดีมานด์” กับ “ซัพพลาย”
ได้แก่ สินค้า การบริการ ผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานที่ทำกำไรเป็นตัวตั้ง เลิกเบียดเบียนแหล่งท่องเที่ยวพร้อมเติมต้นทุนให้สังคม วิถีชีวิต และท่องเที่ยวมากกว่าการแสวงหา “รายได้”
นี่คือสำนึกหนึ่งที่ผลักดันให้ “ท่องเที่ยว” มีส่วนช่วยแก้ปัญหา “โกลบอล ฮีตติ้ง” ที่หนักข้อขึ้นทุกวัน จนโลกต้องลุกขึ้นมานั่งจับเข่าคุยกัน...และไทยพบคำตอบว่าปี 2548 สามารถลดสิ่งนี้ได้ 20-25%
หมายมั่นปั้นมืออีกว่าปี 2573 ต้องได้ 50% แล้วรู้มั้ย?...ขณะนี้เราติดชาร์ต 20 ที่มีก๊าซไม่พึงปรารถนาอยู่เพียง 0.8% เมื่อเทียบกับโลกมี
นอกจากนี้...ไทยได้ตอบโจทย์นำรถยนต์พลังงานไฟฟ้า “อีวี” มาใช้แทนรถเชื้อเพลิงและส่งเสริมให้ผู้ผลิตแห่มาลงทุนในไทย เพื่อไทยแลนด์จะผุด “ฮับ” อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ปลอดคาร์บอนฯในภูมิภาคนี้...นี่คือโพรเซสที่รัฐบาลนี้นัยว่าเริ่มต้นแล้วสำหรับบ้านเรา
วกกลับมาเว้ากันเรื่อง “ท่องเที่ยว” ที่โมเดลบีซีจีตั้งให้เป็นซุปเปอร์ฮีโร่บริหารจัดการ “เศรษฐกิจสีเขียว” น้ำฝน มองว่า...ต้องเป็นท่องเที่ยวเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ขณะนี้เป็นหัวใจสำคัญนำไปสู่เป้าหมาย ด้วยการผลักดันกิจกรรม “การท่องเที่ยวเชิงอาหารเกษตรอินทรีย์ไทย”
...
...มีต้นน้ำคือ “เกษตรกร” กลางน้ำเป็น “ผู้ผลิต” และปลายน้ำได้แก่ “ผู้บริโภค”
“ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจ ททท.ได้ร่วมกับสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทยหรือโทค่ามาก่อน สมาคมดังกล่าวเป็นผู้ริเริ่มปรับแนวคิดที่เคยทำมากได้น้อยให้ทำน้อยได้มากจากนักท่องเที่ยวกับผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งมีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคมเกษตรอินทรีย์...ที่ลงทุนน้อยแต่ได้มาก”
“โทค่า”...ยังมีส่วนส่งเสริมการเรียนรู้วิถีอินทรีย์แก่เกษตรกร เช่น รู้คุณค่าการทำเกษตรที่ปลอดสารพิษ ร่วมอุดหนุนสินค้า เรียนรู้การท่องเที่ยวอันเกิดจากวิถีอินทรีย์และขจัดขยะ เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก มีการทดลองทำจริงถึงฟาร์มแบ่งปันความรู้ก่อนกลับไปทำเอง...
นอกจากนี้ “โทค่า” ยังทำแพลตฟอร์มขึ้นทางเว็บไซต์ ไลน์ สำหรับสมาชิกศึกษาวิธีการทำและสร้างผลผลิตกับพาไปศึกษาดูงานก่อนกลับไปใช้ แล้วยังเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคปลายน้ำคือนักท่องเที่ยวสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าวแบบฟรีออฟชาร์จ
อีกทั้งโคท่ายังใจปํ้าให้อินเซนทีฟในรูป “เอิร์ธ พอยต์” เก็บสะสมคะแนนจากการร่วมสังคมอินทรีย์ ด้วยการอุดหนุนสินค้าเกษตรกรซื้อเมนูอินทรีย์จากผู้ประกอบการ จัดเก็บขยะลดก๊าซเรือนกระจก โดยเกษตรกรผู้ผลิตเก็บพอยต์ที่สะสมแลกสิทธิประโยชน์เป็นส่วนลดและรางวัลได้
โครงการข้างต้นนี้เริ่มใช้กับนักท่องเที่ยวไทยนำร่องตลาดต่างชาติ ให้รู้ถึงพฤติกรรมการบริโภคอาหารคนไทยที่เปลี่ยนไปแล้ว...ต้องไม่ลืมว่าอาหารคือปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจมาเที่ยวไทย มีสัดส่วนรายจ่ายสูงเมื่อเทียบค่าที่พัก นำเที่ยว ช็อปปิ้งและอื่นๆในชีวิตประจำวัน
...
อีกอย่างวิธีการนี้เป็น “ไทยแลนด์โชว์” การช่วยลดก๊าซเรือนกระจก จากการใช้อาหารบริการตลาดท่องเที่ยว ผนวกกับช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากคือเกษตรกรให้มีคุณภาพดีขึ้น จากผลผลิตคุณภาพเพิ่มพูนและขยายตลาดกว้างขึ้นกับมีส่วนร่วมเสริมสร้างสุขอนามัยแก่ผู้บริโภค
พูดก็พูด...ไทยเป็นชาติเดียวในโลกที่มีโพรเซสนี้ให้สมาชิก เอเปกสแกนไปใช้!
“ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์คือพื้นที่เริ่มต้นของโรงแรมระดับ 5 ดาวหลายโรง หันมาใช้อาหารเกษตรอินทรีย์ต้อนรับนักท่องเที่ยวและได้ผลตอบรับที่ดี มีการพาไปเยี่ยมชมการทำเกษตรอินทรีย์ แล้วลงมือทำครีเอทีฟทัวริซึมปรุงอาหารด้วยตนเองก่อนกินกันในฟาร์มอย่างเอนจอยอีตติ้ง”
แม้แต่ร้านไอศกรีมชั้นนำในภูเก็ตก็เปลี่ยนมาใช้วัตถุดิบเกษตรอินทรีย์ผลิตสินค้า เป็นที่ถูกอกถูกใจในรสชาติทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ
ขณะนี้มีจำนวนเกษตรกรสังคมเกษตรอินทรีย์กับโทค่าเพิ่มในกรุงเทพฯและภูมิภาคต่างๆ อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่นอุดรธานี นครปฐม สมุทรสงคราม ภูเก็ต พังงา กระบี่ พัทลุง...
ที่น่ายินดีคือได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการศึกษาทำวิจัยพืชผักเกษตรไทย อาทิ ผักบุ้ง คะน้า ผักกูด ผักเหลียง และอีกมากเพื่อหาค่าคาร์บอนก่อนนำผักเหล่านี้มาประกอบอาหารอย่างถูกวิธี...
...
เพื่อ “โกลบอล วอร์มมิง” ตามโมเดลบีซีจี
กรณีตัวอย่างข้างต้นเหล่านี้นับว่าเป็นการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมจับต้องได้...สะท้อนการแก้ปัญหาโลกวิกฤติ...สร้างมลพิษ “ก๊าซเรือนกระจก” อย่างไม่ดราม่า...วาดฝัน.