กระต่ายหลายๆตัวในนิทานมักออกมาในลีลาเจ้าปัญญา เจ้าปัญหา บางลีลาเจ้าเล่ห์ แต่เจ้าตัวในนิทานอีสป...อีสปเขียนให้ประมาทลืมตัวถือว่าฝีเท้าเร็วกว่า...ลงท้ายก็วิ่งแพ้เต่า
เขียนถึงตอนนี้! ผมเริ่มสงสัยเด็กๆรุ่นใหม่เคยอ่านนิทานเรื่องกระต่ายกับเต่าหรือเปล่า?
นิทานเรื่องนี้อยู่ในชุดนิทานสุภาษิต ในแบบเรียนเร็วใหม่ เบบี้บูมรุ่นผมหัดอ่านตอนเรียนชั้น ป.เตรียม
ถ้างั้นเพื่อให้แน่ใจลองรื้อฟื้นความจำเล่ากันอีกสักครั้ง
เมื่อกระต่ายกับเต่าตกลงวิ่งแข่งกัน...กระต่ายทะนงว่าฝีเท้าเร็วกว่า วิ่งปราดนำหน้าไปพักใหญ่ หันมามองหลัง เต่ายังคลานกระดุบกระดิบ อยู่ไกลลิบๆก็ยิ้มเย้ย แล้วเอนตัวนอน ลมพัดมาโชยอ่อนกระต่ายเผลอหลับไปนาน
ลืมตาตื่น เห็นเต่าต้วมเตี้ยมนำอยู่ตรงหน้า กระต่ายเร่งฝีเท้าเต็มที่ แต่...ช้าเกินไป เต่าถึงหลักชัย ชนะไปแล้ว
นิทานเรื่องนี้ สอนว่ายังไง...ผมก็ลืมๆไปเสียแล้ว จะแต่งเองด้วยการเดา ก็กลัวจะไม่เหมือนของเก่า
ในหนังสือเรื่องคมๆ ความหมายชวนคิด มีนิทานกระต่ายกับเต่า ภาคสอง เรื่องเริ่มว่า กระต่ายเรียนรู้จากประสบการณ์ ในทุกเกมแข่งขัน ไม่ควรประมาทคู่ต่อสู้ จึงหาโอกาสไปท้าเต่าวิ่งแข่งอีกครั้ง
เต่ารับคำท้า แน่นอน ทันทีที่ได้สัญญาณให้วิ่ง
เต่าขยับตัวไปไม่กี่ก้าว กระต่ายก็วิ่งรวดเดียวเข้าเส้นชัย แน่นอน เกมนี้กระต่ายชนะ
ต่อมา เต่าคิดหาวิธีที่จะไม่แพ้บ้าง มันบอกกระต่ายสองครั้งที่แข่งกันมา เจ้าเป็นผู้เลือกเส้นทาง กระต่ายก็ยังมั่นใจในความได้เปรียบของฝีเท้า รับคำท้า
การแข่งขันครั้งที่สามเริ่มขึ้น น่าระทึกใจ เป็นไปตามคาดกระต่ายวิ่งปราดนำหน้าไปไกลลิบๆ แต่พอไปถึงริมแม่น้ำ มันก็ข้ามไปไม่ได้
หันรีหันขวางพักใหญ่ จนเต่าต้วมเตี้ยมตามมาถึง...มันมองกระต่ายคลานลงแม่น้ำ ทำตาปริบๆ ปล่อยเต่าว่ายข้ามแม่น้ำไปถึงฝั่งตรงข้าม
...
กระต่ายจอมทะนงไม่อยากเชื่อก็ต้องเชื่อในเหตุการณ์ตรงหน้า การวิ่งแข่งครั้งนี้ มันเป็นฝ่ายแพ้
โลกเราเป็นเช่นนี้เอง การแข่งขันไม่ว่าเกิดขึ้นกับสัตว์หรือคน เมื่อมีฝ่ายชนะก็ต้องมีฝ่ายแพ้
เต่ากับกระต่ายเรียนรู้รสชาติชัยชนะและความพ่ายแพ้มาด้วยกัน มันหันหน้าเข้าคุยกันน่าจะมีวิธีที่ดีกว่า
นิทานกระต่ายกับเต่าก็เดินหน้าไปตามลีลากระต่าย มันเป็นฝ่ายคิดได้แล้วเอาไปบอกเต่า แล้วทั้งสองก็เริ่มเกมวิ่งแข่งขันกันด้วยกติกา ที่เพิ่งคิดได้ใหม่
สัญญาณวิ่งถูกยก กองเชียร์ (การแข่งขัน ที่ไหนก็ต้องมีล่ะน่า!) เส้นทางที่เลือกแรก เป็นทางบก กระต่ายแบกเต่าไว้บนหลัง...แล้วก็ออกวิ่งเต็มฝีเท้า
ไปถึงริมแม่น้ำ เต่าก็เปลี่ยนบทแบกกระต่ายไว้บนหลัง แล้วว่ายข้ามน้ำ ไม่ช้ามันก็ถึงฝั่งตรงข้าม
นี่คือเส้นชัยที่ทั้งเจ้าเต่า เจ้ากระต่าย ได้ร้องไชโย ไปพร้อมๆกัน
นิทานเรื่อง ยุคใหม่ของกระต่ายกับเต่าก็จบลงตรงนี้ ไม่มีคำสอนต่อท้าย
ไม่น่าเชื่อว่า กติกาใหม่ที่กระต่ายคิดเข้าอีหรอบเดียวกับทฤษฎีวินวิน ที่ทำให้ศาสตราจารย์ จอห์น แนช ได้รับรางวัลโนเบล วิธีที่พ่อค้าน้อยใหญ่สุมหัวกันฮั้ว หากำไรจากลูกค้าได้มากกว่าเก่า
จนหลายบ้านเมืองต้องมีกฎหมายป้องกันการผูกขาด
แต่วิธีที่กระต่ายวิ่งแข่งกับเต่าในรอบสี่ เป็นวิธีที่กระทั่งมนุษย์ก็ควรใช้ นี่คือวิธีที่ทำให้มีความสุขไปด้วยกัน ไม่ใช่เกมแข่งขันที่ทุกครั้ง ก็ซ้ำซาก เฮๆกันในหมู่ผู้ชนะ และมีเสียงร้องไห้จากฝ่ายผู้แพ้
ปีนี้ผมขอให้เป็นปีที่กระต่ายมีความสุขหัวเราะได้ ไม่ปล่อยให้เต่าหรือใครร้องไห้อยู่ข้างหลัง
สวัสดีปีใหม่ ปีกระต่ายเจ้าปัญญา ขอให้พาบ้านเมืองอยู่รอดปลอดภัยนะครับ.
กิเลน ประลองเชิง