- โควิดลาม! จับตา "BN.1" จับโปรตีนตัวรับ ACE2 บนผิวเซลล์ได้ดี-หนีภูมิเก่ง ไขข้อข้องใจฉีดวัคซีนเข็ม 5 จำเป็นหรือไม่ กลุ่มไหนควรฉีดมากที่สุด คลายข้อสงสัยคนไทยต้องใส่ "หน้ากากอนามัย" อีกนานแค่ไหน และเพราะอะไร?
สถานการณ์โควิดทั่วโลกกลับมาหลอนอีกครั้ง และยังคงพบการระบาดอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสายพันธุ์ "โอมิครอน" ที่ระบาดอยู่ในปัจจุบันมาครบ 1 ปีแล้ว และมีการกลายพันธุ์แตกหน่อไปเป็นสายพันธุ์ย่อยต่างๆ อีกกว่า 500 สายพันธุ์ โดยแต่ละสายพันธุ์ก็มีความร้ายกาจแตกต่างกันไป ปัจจุบันประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่จากโอมิครอน โดยเฉพาะสายพันธุ์ "BA.2.75" ซึ่งพบสัดส่วนมากขึ้นจนกลายเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศแทนที่ BA.5 ไปแล้ว นอกจากนี้ BA.2.75 ยังมีข้อได้เปรียบบ่งชี้ในการแพร่ระบาด เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลทำให้พบผู้ติดเชื้อในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ ทำให้ผู้ที่เคยติดเชื้อสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ สามารถป่วยซ้ำได้อีก!!!
...
"BA.2.75" หนีภูมิไม่เก่ง แต่ทำไมแพร่ระบาดได้ดี?
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก "Anan Jongkaewwattana" ระบุว่า มีงานวิจัยออกมาตรงกับสถานการณ์ในไทยขณะนี้ เพราะกำลังสงสัยว่าทำไม BA.2.75 เป็นสายพันธุ์หลักเข้ามาแทนที่ BA.5 ได้ ทั้งๆ ที่ผลการทดสอบในหลายห้องปฏิบัติการว่าไวรัสสายพันธุ์นี้ไม่ได้มีคุณสมบัติหนีภูมิคุ้มกันจากวัคซีน หรือภูมิจากธรรมชาติที่โดดเด่นเหมือนสายพันธุ์อื่นๆ ผลการศึกษาในงานวิจัยนี้พบว่า BA.2.75 โดดเด่นเรื่องความสามารถในการจับกับโปรตีนตัวรับ "ACE2" บนผิวเซลล์ได้ดีกว่า BA.2 เดิมถึง 9 เท่า ซึ่งอธิบายได้ว่า หนีภูมิอาจไม่ต้องเก่งมาก แต่จับกับเซลล์ได้ดี ก็สามารถกลายเป็นไวรัสสายพันธุ์หลักได้
จับตา "BN.1" จับ ACE2 ได้ดีเหมือน BA.2.75 แต่หนีภูมิเก่งกว่า!
ดังนั้น การใช้ความสามารถในการหนีภูมิอย่างเดียว อาจจะไม่พอในการทำนายทิศทางของไวรัสในการปรับตัวเอง ไวรัสที่จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในธรรมชาติ จึงพยายามสร้างสมดุลระหว่างความสามารถในการจับกับโปรตีนตัวรับ และความสามารถในการหนีภูมิให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ ซึ่งตัวไหนไปอยู่ตำแหน่งที่ลงตัวน่าจะเป็นตัวที่เหมาะสมที่สุดในธรรมชาติ ซึ่งถ้าดูจากกราฟที่เทียบทั้งการหนีภูมิ และความสามารถในการจับกับโปรตีน ACE2 แล้ว ตัวที่น่าจับตามองที่สุดตอนนี้คือ กลุ่ม "BN.1" เพราะจับกับ ACE2 ได้ระดับเดียวกับ BA.2.75 แต่หนีภูมิเก่งกว่าอย่างมีนัยสำคัญ
คลายข้อสงสัยการบูสวัคซีนเข็มกระตุ้น หลังโควิดกลับมาลามอีกระลอก
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังไม่คลี่คลายลงโดยง่าย และกำลังค่อยๆ ลามกลับมาอีกระลอก คำถามเรื่องการฉีดวัคซีน จึงเป็นคำถามที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากว่า เข็มกระตุ้นควรฉีดหรือไม่ ต้องฉีดเมื่อไหร่ และกลุ่มไหนสมควรต้องได้รับการฉีด
ล่าสุด ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า โควิดปัญหาที่ถูกถามบ่อยคือเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด เมื่อฉีดวัคซีนแล้ว 3 เข็ม 4 เข็ม หรือ 5 เข็ม แล้วจะต้องฉีดวัคซีนอีกหรือไม่?
คำว่าฉีดวัคซีนมาแล้วนั้น ให้นับจำนวนเข็มที่ฉีดรวมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดใด ถึงแม้ว่าจะเป็นวัคซีนเชื้อตายของจีนก็ให้นับรวมด้วย วัคซีนทุกชนิดที่ฉีดไม่แตกต่างกัน สามารถให้ข้ามชนิดกันได้ ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนได้รับวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม และเมื่อให้มานานแล้วเกิน 4 เดือนขึ้นไป จะให้เข็ม 4 ก็ไม่ว่ากัน
...
วัคซีนโควิดเข็ม 5 จำเป็นหรือไม่-ใครควรฉีด
ในรายที่ได้ 4 เข็มมาแล้ว จะให้เข็มต่อไปขอให้พิจารณาถ้าร่างกายแข็งแรงปกติดี อายุน้อยกว่า 60 ปี ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้เพิ่มอีก ถึงแม้ว่าจะติดโรค ความรุนแรงของโรคก็จะน้อยมาก ซึ่งการจะให้ต่อไปในเข็มที่ 5 เราจะคำนึงในการให้ดังนี้
- 1.ในผู้ที่มีร่างกายเปราะบาง และอ่อนแอมากๆ ผู้สูงอายุมากๆ โรคเรื้อรัง เช่น โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคทางปอดและหัวใจ รวมทั้งโรคสมอง ผู้ป่วยติดเตียง ควรจะได้รับวัคซีนต่อไป ถ้าให้วัคซีนเข็มที่ 4 มานานแล้วเกิน 6 เดือน ก็สามารถกระตุ้นเข็มต่อไปได้
- 2.การให้วัคซีนเข็มที่ 5 ขอให้พิจารณาสภาวะร่างกายของเรา ถ้าเราแข็งแรงดี ก็ไม่จำเป็น แต่ถ้าร่างกายอ่อนแอมากๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว ก็ควรจะมีการกระตุ้น
- 3.ในกรณีที่ได้วัคซีนมาแล้ว 3-4 เข็ม หรือมากกว่า แล้วเกิดการติดเชื้อ การติดเชื้อนั้นถือว่าเป็นการฉีดวัคซีนอีก 1 เข็มโดยธรรมชาติ ดังนั้นผู้ที่ติดเชื้อแล้ว ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นเป็นภูมิต้านทานแบบลูกผสมที่มีประสิทธิภาพสูง
...
ผู้ที่ติดเชื้อแล้ว จะฉีดวัคซีนอีกหรือไม่ ควรปฏิบัติดังนี้
- 1.ถ้าไม่เคยฉีดวัคซีนมาเลย แล้วติดเชื้อ จะแนะนำให้ฉีดวัคซีนต่อไป โดยเข็มแรกให้ห่างจากการติดเชื้อประมาณ 2-3 เดือน แล้วฉีดเข็มที่ 2 ที่ห่างจากการติดเชื้อ 6-12 เดือน ก็จะได้ภูมิคุ้มกันที่สมบูรณ์
- 2.ถ้าฉีดวัคซีนมาแล้ว 1 เข็มแล้วติดเชื้อ ให้ฉีดวัคซีนเข็มต่อไปห่างจากการติดเชื้อประมาณ 3 ถึง 6 เดือน ถือว่าได้รับ 3 เข็ม (การติดเชื้อนั้นถือว่าเป็นการฉีดวัคซีนอีก 1 เข็มโดยธรรมชาติ) ให้นับรวมการติดเชื้อเป็นการฉีดโดยธรรมชาติ 1 เข็ม และถ้าจะฉีดเข็มต่อไปก็ควรห่างอย่างน้อยอีก 4-6 เดือน โดยหลักการยิ่งห่างยิ่งดี
- 3.ในกรณีที่ได้วัคซีนมาแล้ว 3-4 เข็ม หรือมากกว่า แล้วเกิดการติดเชื้อ การติดเชื้อนั้นถือว่าเป็นการฉีดวัคซีนอีก 1 เข็มโดยธรรมชาติ ดังนั้นผู้ที่ติดเชื้อแล้ว ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นเป็นภูมิต้านทานแบบลูกผสมที่มีประสิทธิภาพสูง
ไขข้อสงสัยเรื่องการสวมใส่ "หน้ากากอนามัย" หมอห่วงการกำจัดขยะจากแมสก์
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ระบุถึงการใส่หน้ากากอนามัยว่า มีการตั้งคำถามว่า เราจะใส่หน้ากากอนามัยไปนานแค่ไหน ขอช่วยกันตัดสินใจเองในยามปกติ หน้ากากอนามัยจะมีไว้สำหรับให้ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเป็นผู้ใส่ เพื่อป้องกันการกระจายของโรค คนปกติไม่มีความจำเป็นต้องใส่ ทุกคนต้องมีความรับผิดชอบ ถ้ารู้ว่าป่วยควรจะใส่ และมีระเบียบวินัย
การใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรคโควิดนั้น ถ้าใส่ไม่ถูกวิธี หรือไม่ดูแลเรื่องสุขอนามัย ประสิทธิภาพในการป้องกันก็จะลดน้อยลงอย่างมากๆ มีการศึกษามาสนับสนุนชัดเจน เช่น ใส่ไม่ถูกวิธี การจับต้องหน้ากากอนามัยหลังใส่แล้วโดยไม่ได้ล้างมือ มีการศึกษาว่าในแต่ละชั่วโมงจะมีการจับหน้ากากอนามัยเป็นจำนวนมากหลายครั้ง ทำให้ประสิทธิภาพลดลงอย่างมากเนื่องจากมีการปนเปื้อน
...
โดยการศึกษาที่น่าสนใจ โรงพิมพ์ในวารสาร PNAS ศึกษาคนที่ใส่หน้ากากอนามัยและไม่ใส่หน้ากากอนามัยแข่งขันหมากรุก จะพบว่าการใส่หน้ากากอนามัยจะมีผลต่อความนึกคิด (cognitive) ในช่วงแรกของการแข่งขัน และถ้าใส่ไปนานๆ ก็จะมีการปรับตัว หน้ากากอนามัยอาจมีผลต่อการนึกคิดคำนวณระดับสูง แต่ในภาวะปกติคงไม่เห็นความแตกต่าง
ในเด็กเล็กโดยเฉพาะเด็กอนุบาล การเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษา จะมีทั้งภาษาพูด (verbal) และภาษาท่าทาง (non verbal) เช่น การสังเกตจากริมฝีปาก ดังนั้นในเด็กเล็ก การใส่หน้ากากอนามัยให้ถูกต้องก็ทำได้ยากอยู่แล้ว และยังมีผลต่อการเรียนรู้สำหรับเด็ก
ดังนั้นจึงมีความเห็นว่าในชั้นเรียนของเด็กเล็ก การใส่หน้ากากอนามัยจะขัดขวางต่อการเรียนรู้ และการปฏิบัติตัวของเด็กในการดูแลหน้ากากอนามัยก็ทำได้ยากที่จะให้มีประสิทธิภาพ ความจำเป็นในการใส่หน้ากากอนามัยจึงน้อยลง ในภาวะที่ความรุนแรงของโรคลดน้อยลง เด็กก็มีการเรียนรู้จากครูด้วย
นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่ง คือ การกำจัดขยะหน้ากากอนามัย เพราะการใช้หน้ากากอนามัยจำนวนมากที่เป็นหน้ากากอนามัยสังเคราะห์ จะทำให้เกิด micro plastic เพิ่มขึ้นในสิ่งแวดล้อม ซึ่งในขณะนี้ถ้าอยู่ในที่โล่งแจ้ง เช่น ชายทะเล สวนสาธารณะ ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใส่หน้ากากอนามัย หวังว่าหลังเดือนกุมภาพันธ์ไปแล้ว ส่วนใหญ่จะมีภูมิต้านทานจากการฉีดวัคซีน หรือติดเชื้อแล้ว โรคจะลดน้อยลง และมีการปรับตัวได้มากขึ้น ความจำเป็นที่จะต้องใส่หน้ากากอนามัยก็จะน้อยลง จะใส่เมื่ออยู่ในกลุ่มคนหมู่มาก เช่น ในรถประจำทาง เครื่องบิน รถไฟฟ้า และผู้ที่ต้องใส่ก็น่าจะอยู่ในกลุ่มของผู้ป่วย หรือผู้มีอาการโรคทางเดินหายใจ.
กราฟิก : Varanya.p