กระทรวงศึกษาธิการมุ่งมั่นแก้ปัญหาหนี้สินให้ครูไทย จัดงาน “มหกรรมการเงินเพื่อครูไทย Unlock a Better Life” มุ่งเป้าลดหนี้สิน ทั้งลดดอกเบี้ยเงินกู้ ปรับโครงสร้างหนี้ ชะลอการฟ้องร้องบังคับคดี พร้อมอัปสกิล เสริมทักษะการวางแผนการเงินและการลงทุน สร้างความแข็งแรงทางด้านการเงินอย่างยั่งยืน หลังพบครูมีหนี้สินก้อนมหึมารวมกันกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ล่าสุดสามารถช่วยไกล่เกลี่ยหนี้ของครูไทยที่ถูกฟ้องร้องได้กว่า 6 พันล้านบาท
จากนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่ตั้งเป้าให้ปี พ.ศ.2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน โดยกระทรวงศึกษาธิการรับดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่พบว่ากว่าร้อยละ 80 ของครูไทยในปัจจุบัน ประสบปัญหาภาวะหนี้สินที่ มีรวม กันกว่า 1.4 ล้านล้านบาท จึงหาแนวทางเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน ด้วยการจัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย “Unlock a Better Life” สร้างโอกาสใหม่ เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่า ระหว่างวันที่ 17-18 ธันวาคม 2565 เวลา 10.00-18.00 น. ณ บริเวณฮอลล์ 5 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อสร้างโอกาสให้กับครูไทยแก้ปัญหาเรื่องภาระหนี้ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ยและค่างวดรายเดือน จัดตั้งสถานีแก้หนี้ร่วมช่วยแก้ปัญหา ลดหนี้สิน พร้อมให้ความรู้ด้านวินัยการเงินและการลงทุน สร้างความแข็งแรงให้กับครู ไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดี
สำหรับการช่วยเหลือลดภาระหนี้ให้กับครูไทย โดยกระทรวงศึกษาธิการในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ พร้อมทั้งสถาบันการเงินร่วมกำหนดแนวทาง ลดภาระหนี้โดยรวมของครูไทยให้ลดน้อยลง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งระบบอย่างยั่งยืน ภายใต้แผนกลยุทธ์ที่สำคัญคือ การลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อให้ครูได้มีภาระหนี้สินที่ลดลง ควบคุมยอดหนี้เพื่อไม่ให้เกินความสามารถในการชำระ เพื่อให้ครูมีเงินคงเหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 เพื่อลดปัญหาการก่อหนี้เพิ่มหนี้ใหม่ ปรับโครงสร้างหนี้ โดยรวมหนี้มาไว้กับสถาบันการเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ และชะลอการดำเนินการทางกฎหมาย จัดตั้งสถานีแก้หนี้ให้คำปรึกษากับครู รวมทั้งติดอาวุธให้ความรู้เสริมทักษะทางการเงินแก่ครูเพื่อต่อยอดในการลงทุน สร้างความแข็งแรงทางด้านการเงินอย่างยั่งยืน
...
ทั้งนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่มอบหมายให้คณะกรรมการกํากับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ศธ. กระทรวงการคลัง และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันกําหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา มีเป้าหมายให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อเป็นกําลังสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ จัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความพร้อม มีขวัญและกําลังใจในการทํางาน เพื่อร่วมกันสร้าง พัฒนา และหล่อหลอมเยาวชนของชาติให้เป็นทรัพยากรบุคคลอันทรงคุณค่าของประเทศ ที่สําคัญทําให้คุณครูสามารถดํารงตนอย่างมีศักดิ์ศรีในสังคม
นายวิษณุกล่าวอีกว่า หากแก้ไขปัญหาหนี้สินได้เป็นผลสำเร็จจะส่งผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ นับเป็นการเพิ่มระดับขีดความสามารถ เพิ่มความแข็งแกร่งของประเทศในเวทีระดับโลก การจัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย “Unlock a better life” สร้างโอกาสใหม่ เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่า จะเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่สนับสนุนให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม และจะเป็นจุดเปลี่ยนในด้านการดําเนินชีวิตส่วนตัวและครอบครัว นําไปสู่ความเชื่อมั่นว่าการจัดงานมหกรรมในครั้งนี้จะเป็นพันธกิจกับทุกหน่วยงานที่จะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้สินครูให้สําเร็จอย่างยั่งยืน เพราะทุกคนเป็นหุ้นส่วน มีความรับผิดชอบร่วมกันในการสร้างเยาวชนไทยให้เติบโตเป็นคนดี เป็นคนเก่ง และเป็นพลังสําคัญในการพัฒนาประเทศชาติ
ด้าน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ปัจจุบันมีครูกว่า 9 แสนคนทั่วประเทศ หรือประมาณร้อยละ 80 มีหนี้สินรวมกัน 1.4 ล้านล้านบาท เจ้าหนี้รายใหญ่สุด คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู จํานวน 8.9 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 64 รองลงมาคือ ธนาคารออมสิน จํานวน 3.49 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25 ของหนี้สินครูทั้งหมด โดยกระทรวงศึกษาธิการได้เร่งรัดการขับเคลื่อนตามนโยบายในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา มีเป้าหมายให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นผู้มีวินัยทางการเงิน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ และจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างขวัญและกําลังใจในการปฏิบัติงาน และเป็นการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพครู ศธ.
รมว.ศึกษาธิการกล่าวอีกว่า การจัดมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย “Unlock a better life” สร้างโอกาสใหม่ เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่า จะช่วยขยายผลการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน ได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงิน และสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศ รวมถึงมีการดําเนินการไกล่เกลี่ยหนี้ของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ถูกฟ้องร้องดําเนินคดี หรือถูกบังคับคดีทางกฎหมาย และผู้คํ้าประกัน จํานวน 15,131 ราย รวมมูลค่ากว่า 6,021 ล้านบาท มีการปรับโครงสร้างหนี้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูและสถาบันการเงิน นอกจากนี้ยังเป็นการเสริมสร้างความรู้ด้านการวางแผนทางการเงิน ให้คำปรึกษาการออม การกู้ยืม การลงทุน และการบริหารจัดการหนี้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา และประชาชนทั่วไป ให้เป็นผู้มีความรู้ และมีระเบียบวินัยทางการเงินด้วย