เหตุเกิดที่ธนาคาร เจ้าหน้าที่ : อาจารย์...อาจารย์เคยติดหรือยัง? ...ผม : ส่ายหน้าพร้อมยิ้มให้...เจ้าหน้าที่ (ยิ้ม แต่ใส่หน้ากากตลอดนะ) ....ผม : แล้วในออฟฟิศเป็นไงบ้างครับ?...เจ้าหน้าที่ : ติดกันหมดแล้วครับอาจารย์ กำลังลุ้นว่าจะติดซ้ำไหม

ผม : อย่าติดซ้ำเลยครับ เพราะติดแต่ละครั้งก็จะเสี่ยงนะ... เจ้าหน้าที่ : ครับอาจารย์ ไม่อยากติดซ้ำ

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ บอกว่า ปรากฏการณ์ข้างต้นสะท้อนให้เห็นเรื่องผลลัพธ์ในการควบคุมป้องกันโรคว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างไร นอกจากนี้ยังเป็นบทเรียนให้ที่ทำงานต่างๆลองทบทวน วิเคราะห์ หาทางช่วยกันปกป้องการแพร่ระบาดในสถานที่ทำงาน รวมถึงในครัวเรือนของบุคลากร

“ถ้าเราขันน็อตป้องกันให้เข้มแข็งขึ้น ทั้งที่บ้าน ที่เรียน ที่ทำงาน ผลลัพธ์ในอนาคตย่อมดีขึ้น โอกาสติดจะลดลง หรือติดแล้วโอกาสแพร่ให้คนที่บ้าน ที่เรียน ที่ทำงาน เป็นทอดๆก็จะลดลง”

...

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง ไม่กินดื่มร่วมกัน เว้นระยะห่างระหว่างกันทั้งคนกันเองในที่นั้นๆหรือกับคนที่เราพบปะบริการ ล้างมือเสมอเวลาสัมผัสสิ่งของสาธารณะ ไม่สบายรีบตรวจ และให้หยุดไปรักษาให้หาย เสียก่อน แยกตัวอย่างน้อย 7-10 วัน จนกว่าอาการดีขึ้น ไม่มีไข้ และตรวจซ้ำ ได้ผลลบจึงออกมาใช้ชีวิต

โดยป้องกันอย่างเคร่งครัดจนครบสองสัปดาห์ รวมถึงการหาทางเสริม เช่น ติดตั้งพัดลมระบายอากาศ เครื่องฟอกอากาศ ฯลฯ ป้องกันไม่ให้ติด...หากติดให้รีบตรวจรีบแยกตัวและรักษาให้หาย...และช่วยกันให้ความรู้ในการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องแก่คนรอบข้าง ไม่หลงกับข่าวลวงหรือกิเลส

“...ไม่ใช่แค่ธนาคารแต่ที่อื่นๆ ทั้งบ้าน ที่ทำงาน โรงเรียน มหาลัย ตลาด ก็ย่อมมีโอกาสอยู่รอดปลอดภัยไปด้วยกัน”

ไวรัส “โควิด-19” สายพันธุ์ “โอมิครอน” นั้น แตกหน่อต่อยอดเกิดลูกหลานไปแล้วกว่า 540 สายพันธุ์ย่อย น่าสนใจว่ามี 5 ตัว ที่ได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะดูจะมีอิทธิพลต่อการระบาดมากกว่าตัวอื่นๆ

ได้แก่ BA.2.75.x, BA.5, BQ.1.x, XBB.x และ BA.2.30.2

ข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับการประเมินจำนวนการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับ “โควิด-19” Msemburi Wจากองค์การอนามัยโลกและทีมงาน ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารระดับโลก Nature (14 ธันวาคม 2565) โดยประเมินว่าจำนวนการเสียชีวิตจากโควิด-19 ที่รายงานทั่วโลกนั้นต่ำกว่าจำนวนเสียชีวิตที่เกิดขึ้นจริง

พบว่ามีจำนวนการเสียชีวิตส่วนเกิน (excess deaths) จากทุกสาเหตุซึ่งสัมพันธ์กับการติดเชื้อโรคโควิด–19 ในช่วงปี 2020–2021 สูงถึง 14.83 ล้านคน

น่าสนใจด้วยว่าจำนวนการเสียชีวิตส่วนเกินดังกล่าวนั้น สูงกว่าตัวเลขเสียชีวิตจากโควิดที่มีในระบบรายงานในช่วง 2 ปีแรกของการระบาด (5.42 ล้านคน) ถึง 2.74 เท่า

ผลการศึกษาข้างต้นก็สอดคล้องกับข้อมูลจากประเทศต่างๆที่ได้นำเสนอมาให้เห็น เช่น สิงคโปร์ที่ชี้ให้เห็นว่าอัตราเสียชีวิตส่วนเกินนั้นเกิดกับกลุ่มที่ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าการติดเชื้อมีส่วนที่ทำให้โรคประจำตัวต่างๆรุนแรง และนำไปสู่การเสียชีวิตได้

...

สำหรับไทยเรานั้น ข้อมูล Ourworldindata ชี้ให้เห็นสถานการณ์เกี่ยวกับการเสียชีวิตส่วนเกินที่สูงกว่าหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลอดสองปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ระลอกสองจนถึงปัจจุบัน และเห็นชัดเจนหลังจาก “เดลตา” และ “โอมิครอน” ระบาด สอดคล้องกับข่าว ประจำวันจากสื่อต่างๆที่นำเสนอให้รับรู้ได้ว่ามีคนเสียชีวิตที่บ้าน ที่ป้อม หรืออื่นๆอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้อยู่ในระบบรายงานเสียชีวิตจากโควิด

“การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท รับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัวและสังคม ถือเป็นเรื่องจำเป็น รู้เท่าทันสถานการณ์รอบตัว จะได้ปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง”

ต่อเนื่องอัปเดตความรู้โควิด-19 Stein SR และคณะจาก National Institute of Allergy and Infectious Diseases, National Institute of Health ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสาร Nature (14 ธ.ค.65) ทำการศึกษาในศพผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 จำนวน 44 คน

สาระสำคัญคือ ตรวจพบไวรัสกระจายอยู่ในเนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ ทุกระบบในร่างกาย โดยสามารถตรวจพบในศพของผู้เสียชีวิตนานสุดถึง 8 เดือน (230 วัน) หลังจากที่ติดเชื้อและมีอาการ

...

ผลการศึกษานี้ตอกย้ำให้เห็นว่า การติดเชื้อโควิด-19 ไม่ใช่หวัดธรรมดา แต่มีลักษณะเป็นการติดเชื้อที่กระจายไปได้ทั่วทุกระบบในร่างกาย คณะผู้วิจัยประเมินว่ากลไกการติดเชื้อทั่วทุกระบบเช่นนี้น่าจะสัมพันธ์กับปัญหาเรื่องภาวะ “ลองโควิด” ซึ่งพบในผู้ป่วยจำนวนมากทั่วโลกหลังจากหายจากการติดเชื้อช่วงแรก

และ...จำเป็นต้องต่อยอดการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจ “ลองโควิด” เพื่อหาทางดูแลรักษาต่อไป...ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ ย่อมดีที่สุด

สะท้อนสถานการณ์ระบาดในไทยมีการติดเชื้อกันมากในแต่ละวัน ควรไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบตามกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเข็มสุดท้ายนานเกิน 6 เดือนไปแล้ว

ย้ำว่า...ควรเลี่ยงกิจกรรมเสี่ยง สถานที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี เลือกใช้บริการร้านอาหารกินดื่มที่มีพนักงานใส่หน้ากาก รักษาระยะห่างระหว่างบริการ และไม่แออัด

ที่สำคัญมากคือ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง ปิดปาก ปิดจมูก ระหว่างใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้าน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

การระบาด “โควิด-19” ยากที่จะควบคุมเพราะว่าช่วงที่คนคนนั้นไม่มีอาการไปจนถึงช่วงที่มีอาการ ช่วงเวลาที่มีโอกาสแพร่เชื้อได้ก็กินเวลานานได้ถึง 10-14 วันนับจากที่ติดเชื้อมา หากไม่ได้ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอทั้งฝ่ายคนที่ติดเชื้อ เสี่ยงติดเชื้อ และคนทั่วไป ความเสี่ยงย่อมมีแน่นอนระหว่างดำรงชีวิตประจำวัน

...

...เกิดติดเชื้อแพร่เชื้อกันได้โดยไม่รู้ตัว หรือไม่ทันระวังตัว นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราเห็นการรณรงค์ให้ไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นกันให้ครบตามที่กำหนด เพื่อหวังว่าจะช่วยลดโอกาสป่วยรุนแรงเวลาที่ติดเชื้อมา ลดความเสี่ยงที่จะเสียชีวิต และลดความเสี่ยงของ “ลองโควิด” ไปได้บ้าง

สิ่งที่เราทำได้นอกเหนือไปจากวัคซีนคือ การป้องกันตัวอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ ด้วยการใส่หน้ากากเสมอเวลาใช้ชีวิตนอกบ้าน ล้างมือ เว้นระยะห่างจากคนอื่น เลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่น หากต้องพบปะพูดคุยใกล้ชิดก็ควรใช้เวลาสั้นๆ ไม่ไปในที่อโคจร ที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี

สุดท้าย...หากไม่สบาย สงสัยว่ามีความเสี่ยงก็ควรตรวจ ATK ด้วยตนเอง ดังที่เคยแนะนำไว้มาตลอดว่า ถ้ามีอาการไม่สบาย ตรวจแล้วผลบวกแปลว่าติดเชื้อก็ให้แยกตัว 7-10 วันจนกว่าอาการจะดีขึ้น ไม่มีไข้และตรวจ ATK ซ้ำได้ผลลบ จึงค่อยออกมาใช้ชีวิต...ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดจนครบสองสัปดาห์

แต่หากไม่สบายตรวจได้ผลลบอย่าเพิ่งวางใจ ให้ตรวจซ้ำทุกวันอย่างน้อย 3 วันติดกัน ส่วนคนที่ไปคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ หรือประเมินตนเองว่ามีความเสี่ยงก็ตรวจ ATK วันเว้นวัน จำนวน 3 ครั้งใน 5 วัน

มองด้วยตารอบตัว...ตอนนี้ติดเชื้อแพร่เชื้อกันมากจริงๆ ไม่ใช่เวฟเล็กแน่นอน.