มจพ. เปิดตัว "รถขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติแบบไร้คนขับ" ทำความเร็วได้สูงสุด 15 กิโลเมตร/ชั่วโมง ชาร์จแบต 1 ครั้งจะวิ่งได้ระยะทาง 31 กิโลเมตร



วันที่ 15 ธันวาคม 2565 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุม Cloud 9 ชั้น 9 อาคารสำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดีมจพ. ร่วมกับ ศ.ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร ประธานคณะกรรมการโครงการพลิกโฉมมจพ. ผศ.ดร.วัลลภ กิติสาธร พร้อมคณาจารย์และนักศึกษา แถลงข่าวเปิดตัว "รถขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติแบบไร้คนขับ มจพ." (KMUTNB Automated People Mover หรือ KMUTNB APM) พร้อมชมการสาธิตและทดลองนั่งรถโดยสาร APM ณ ลานรวมน้ำใจ มจพ.

ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดีมจพ. กล่าวถึงรายละเอียดว่า โครงการ KMUTNB APM เป็นโครงการต้นแบบรถไฟฟ้าล้อยางวิ่งบนพื้นคอนกรีต โดยมีรางเหล็กวางอยู่ตรงกลาง เพื่อช่วยนำทางและบังคับการเคลื่อนที่ได้อย่างปลอดภัย เป็นระบบขนส่งทางรางอัตโนมัติแบบไร้คนขับ ใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ขนาด 22 KW และแบตเตอรี่ขนาด 16.2 KWh โครงสร้างใช้แชสซีเก่าของรถยนต์มินิบัส มาประกอบโครงสร้างตัวถังขึ้นใหม่ทั้งหมด มีขนาดความกว้าง 2.40 เมตร ยาว 7.20 เมตร วัสดุภายนอกเป็นโลหะบางส่วนและไฟเบอร์กลาส ติดตั้งระบบปรับอากาศ

...

ด้านในตกแต่งโครงสร้างด้วย "เส้นใยกัญชง" และ "เส้นใยมะพร้าว" มีเก้าอี้นั่ง 4 ที่ บรรทุกผู้โดยสารได้ 30 คน สามารถทำความเร็วได้สูงสุด 15 กิโลเมตร/ชั่วโมง สำหรับการชาร์จแบต 1 ครั้งจะวิ่งได้ระยะทาง 31 กิโลเมตร ควบคุมการเดินรถแบบอัตโนมัติทั้งระบบ

สำหรับระบบรถโดยสารอัตโนมัติไร้คนขับ เหมาะสำหรับการใช้งานในสนามบิน การเดินทางระหว่างอาคาร พื้นที่ชุมชน สำหรับประเทศไทยมีการใช้งานระบบ APM คือ รถไฟฟ้าสายสีทอง และระบบขนส่งผู้โดยสารภายในสนามบินสุวรรณภูมิ

โครงการ KMUTNB APM ที่เปิดตัวครั้งนี้ เป็นโครงการนำร่องเฟสแรก ใช้งบประมาณกว่า 9 ล้านบาท โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำหรับเฟสที่สองจะเป็นการพัฒนาระบบให้มีความคล่องตัว เหมาะกับการใช้งานในพื้นที่กว้างๆ โดยจะมีการทดลอง สร้างและผลิตใช้งานในบริเวณพื้นที่ของ มจพ.วิทยาเขตปราจีนบุรี ในปี พ.ศ. 2566