• โควิด-19 ทั่วโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น มีคนป่วยเข้า รพ.มากขึ้น ย้ำการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมีความจำเป็น
  • ไทยพบ "BA.2.75" มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศ แทนที่ BA.5 แล้ว
  • ติดโควิด-19 กักตัว 5 วัน ตรวจ ATK ขึ้น 1 ขีด ยังแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ แนะใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง แยกตัวอย่างน้อย 7-10 วัน จนอาการดีขึ้น ไม่มีไข้ และตรวจ ATK ซ้ำแล้วได้ผลเป็นลบ จึงกลับมาทำงาน หรือใช้ชีวิต โดยป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดจนครบ 14 วัน

สถานการณ์โควิด-19 ในไทยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จากตัวเลขการรายงานอย่างเป็นทางการ พบยอดผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาลลดลงเล็กน้อย แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตกลับพุ่งสูงขึ้น และพบการติดเชื้อรอบตัวมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาเตือนเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาว่า ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกเป็นช่วงขาขึ้นของการระบาด จึงทำให้มีผู้ป่วยต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้น นอกจากนี้ยังเน้นย้ำแต่ละประเทศจำเป็นต้องหาทางควบคุมการระบาด กระตุ้นเตือนให้ประชาชนป้องกันตัวด้วยวิธีต่างๆ และจัดระบบบริการให้ประชาชนเข้าถึงบริการดูแลรักษาและป้องกันได้อย่างทั่วถึง เพื่อรักษาชีวิต ป้องกันความสูญเสีย และป้องกันปัญหาระยะยาวหลังการติดเชื้ออย่าง "ลองโควิด" โดยการติดเชื้อระลอกนี้มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้มาจากทวีปเอเชียและยุโรปรวมกันคิดเป็นร้อยละ 91.43 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 79.13!!!

...

ไทยพบ "BA.2.75" เพิ่มขึ้น กลายเป็นสายพันธุ์หลัก แทนที่ "BA.5" แล้ว

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในไทยช่วงรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (ระหว่างวันที่ 26 พ.ย. - 2 ธ.ค. 65) จากผลการตรวจแบบ SNP/Deletion จำนวน 435 ราย พบว่า ภาพรวมสัดส่วนของสายพันธุ์ BA.2.75 เพิ่มขึ้นเป็น 75.9% จากสัปดาห์ก่อนที่มีสัดส่วน 58.9% ทั้งนี้เมื่อแยกตามกลุ่มพบว่า ในกลุ่มผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 60.1% เป็น 75.4% ทำให้ขณะนี้สายพันธุ์ BA.2.75 กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศ แทนที่สายพันธุ์ BA.5 จากการถอดรหัสพันธุกรรมแบบทั้งตัว (Whole genome sequencing) ของตัวอย่างในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน พบสายพันธุ์ BA.2.75 และลูกหลานของ BA.2.75 เช่น BA.2.75.2, BA.2.75.5.1 (BN.1), BA.2.75.1.2 (BL.2), BA.2.75.3.4.1.1.1.1 (CH.1.1) มากกว่า 856 ราย

เผยไทยไม่พบ "เดลตา" แล้ว ชี้สาเหตุ "BA.2.75" ระบาดเร็ว

ขณะเดียวกันยังพบสายพันธุ์ BQ.1 ที่ระบาดในอเมริกาและยุโรปจำนวน 13 ราย ส่วนสายพันธุ์ XBB และลูกหลานที่ระบาดมากในสิงคโปร์ พบ 30 ราย ส่วนสายพันธุ์ XBC (เดลตาครอน) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ลูกผสมของเดลตาและโอมิครอน BA.2 ที่มีข่าวระบาดในประเทศฟิลิปปินส์ พบเพียง 1 ราย และเนื่องจากในปัจจุบันสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศเกือบทั้งหมดเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ไม่พบสายพันธุ์เดลตาแล้ว จึงมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดการผสมกันเป็นสายพันธุ์ลูกผสมของเดลตาและโอมิครอนขึ้นภายในประเทศ หากไม่พบว่าแพร่ได้เร็วก็จะหายไปในที่สุด

สำหรับสายพันธุ์ BA.2.75 มีการกลายพันธุ์อย่างหนึ่งที่สำคัญ คือ G446S บนโปรตีนหนาม ซึ่งจับกับตัวรับในเซลล์ของมนุษย์ และเกี่ยวข้องกับการหลบภูมิคุ้มกัน สถานการณ์ในประเทศที่มีสัดส่วนของสายพันธุ์ BA.2.75 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นสายพันธุ์หลักแทนที่ BA.5 บ่งชี้ว่ามีข้อได้เปรียบในการแพร่ระบาด เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้พบผู้ติดเชื้อในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ ทำให้ผู้ที่เคยติดเชื้อสายพันธุ์ก่อนหน้านี้สามารถป่วยซ้ำได้อีก แต่ยังไม่พบสัญญาณความรุนแรงของเชื้อที่กลายพันธุ์

"กรมวิทย์" เฝ้าระวังกลายพันธุ์ ย้ำการป้องกัน ชี้วัคซีนเข็มกระตุ้นจำเป็น ลดติดเชื้อ-ป่วยหนัก

นายแพทย์ศุภกิจ ระบุอีกว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับเครือข่าย ยังคงเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID อย่างสม่ำเสมอ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างเพาะเชื้อสายพันธุ์ที่พบใหม่ เพื่อการทดสอบกับภูมิคุ้มกันของคนไทยว่า สามารถลบล้างเชื้อ (Neutralize) ได้มากน้อยเพียงใด ขณะที่การปฏิบัติตนเพื่อการป้องกันโรค การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ รวมถึงการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังจำเป็น โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือน ขอให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น สามารถลดโอกาสติดเชื้อ และลดอาการรุนแรงเมื่อมีการติดเชื้อได้

...

อัปเดตลูกหลาน "โอมิครอน" จับตา 3 สายพันธุ์ย่อย "ดื้อภูมิ-ดื้อยาแอนติบอดี"

ขณะที่ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผลการศึกษาของต่างประเทศ ถึงสายพันธุ์ย่อยโอมิครอนที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปัจจุบันว่า Akerman A และคณะจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย เผยแพร่ผลการศึกษาใน medRxiv เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปัจจุบันนั้น ทั้ง BQ.1.1 ที่ระบาดมากในยุโรปและอเมริกา, XBB.1 ที่ระบาดมากในแถบเอเชีย, และ BR.2.1 ที่ขณะนี้พบมากในออสเตรเลีย ซึ่งทั้ง 3 สายพันธุ์ล้วนมีสมรรถนะในการแพร่ระบาดสูงกว่าสายพันธุ์ BA.2.75 และถือเป็น 3 สายพันธุ์ที่ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากที่สุด นอกจากนี้ยังดื้อต่อยาแอนติบอดีที่ใช้ในการรักษาด้วย ดังนั้นจากผลการศึกษาดังกล่าวชี้ให้เห็นความสำคัญของการป้องกันการแพร่ระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้ไทยมีการติดเชื้อจำนวนมาก และมีรายงานทางการที่ระบุว่าสายพันธุ์หลักที่ระบาดปัจจุบันในไทย คือ BA.2.75 ดังนั้นในอนาคตอันใกล้ย่อมมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการแพร่ระบาดจากสายพันธุ์ต่างๆ ข้างต้น ซึ่งมาจากการเดินทางและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่มีจำนวนมาก

"ดังนั้นการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจึงมีความจำเป็นเหนือสิ่งอื่นใด การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องควรปฏิบัติอย่างเป็นกิจวัตร และป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ให้ติดเชื้อซ้ำย่อมดีที่สุด"

...

โควิด-19 กลายพันธุ์ไม่มีผลต่อ "ยารักษา" แต่มีผลต่อ "วัคซีน"

ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ไม่มีผลต่อยาที่ใช้รักษา โดยมีการกลายพันธุ์เรื่อยมา ซึ่งทุกคนทราบกันดี การกลายพันธุ์เปลี่ยนแปลงพันธุกรรมในส่วนของหนามแหลม ทำให้มีผลต่อวัคซีนที่ใช้ในการป้องกัน ทำให้มีประสิทธิภาพลดลง และยาในกลุ่มของแอนติบอดี รวมทั้งโมโนโคลนอลแอนติบอดี มีประสิทธิภาพลดลง

ส่วนยาที่ใช้รักษาไม่ว่าจะเป็น remdicevir และ molnupiravir มีผลต่อการแบ่งตัวของไวรัส โดยขัดขวาง RNA dependence RNA polymerase ส่วนยา paxlovid ขัดขวาง enzyme protease ไม่ได้อยู่ในส่วนที่มีการกลายพันธุ์ของไวรัส ดังนั้น การกลายพันธุ์ของไวรัสในปัจจุบันจึงยังไม่มีผลต่อประสิทธิภาพของการให้ยาต้านไวรัสในการรักษาดังกล่าว ยาต้านไวรัสที่กล่าวถึงจึงยังมีประสิทธิภาพในการรักษาเหมือนเดิม ถึงแม้ว่าไวรัสจะกลายพันธุ์ก็ตาม

...

เตือนติดโควิด-19 กักตัว 5 วัน ตรวจ ATK จนเหลือ 1 ขีด ยังแพร่เชื้อได้

ล่าสุด ประเด็นการติดโควิดต้องกักตัวกี่วัน กำลังกลายเป็นคำถาม? ที่ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก ภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาดกลับมาปะทุอีกครั้งในช่วงนี้

โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแนะนำกรณีติดโควิด-19 ระบุว่า ติดโควิด-19 กักตัว 5 วัน เหลือ 1 ขีด หลายรายหลังจากนั้นยังพบไวรัสจำนวนมาก ไม่ใช่ซากเชื้อ ระวังแพร่ต่อให้คนอื่น โดยเฉพาะคนเปราะบาง ดังนั้นการใส่หน้ากากอนามัยที่มิดชิด ทานข้าวคนเดียวต่ออีก 5 วัน ที่สำคัญพวกหมอและพยาบาล กักตัว 5 วัน ให้ทำงานต่อ ATK อย.สหรัฐฯ ประกาศมาตลอดว่าไม่ไว และมีโอกาสที่จะตรวจขึ้น 2 ขีด ตั้งแต่ต้นน้อยมาก

"ดังนั้น ถ้ารอ 2 ขีด จะพลาดโอกาสที่ยาต้านไวรัสที่ต้องกินเร็วแต่ต้นจึงจะได้ผล ถ้าทำ PCR เสียเงินเอง หรือเริ่มฟ้าทะลายโจรไปก่อน ถ้าฟ้าทะลายโจรเอาไม่อยู่ พบแพทย์ทันที หาสาเหตุ และรักษา"

เป็นโควิด-19 ต้องกักตัวกี่วันถึงจะปลอดภัย? ไม่แพร่เชื้อ

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" ระบุว่า ย้ำดังๆ อีกครั้งเรื่องการปฏิบัติตัวในช่วงโควิดฯ ระบาดหนักตอนนี้ ติดเชื้อแล้วยังควรต้องแยกตัวจากผู้อื่นให้ถูกต้อง ซึ่งหลักฐานทางการแพทย์จากการวิจัยจากสหรัฐฯ และอังกฤษ พบดังนี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานพยาบาล สถานศึกษา สถานที่ดูแลเด็ก/ผู้สูงอายุ รวมถึงสถานบริการที่มีการให้บริการดูแลผู้คนจำนวนมาก ความเสี่ยงจะสูงมาก และนำไปสู่ความสูญเสียได้มากเป็นเงาตามตัว ดังนั้นทุกสถานที่ทำงานนายจ้างและลูกจ้างควรปรึกษาหารือวางแผนการทำงาน เพื่อที่จะสามารถแยกตัวจากคนอื่นได้ เพื่อปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยทั้งต่อเพื่อนร่วมงานและลูกค้า

"ทางที่เหมาะสมที่สุดคือ "แยกตัวอย่างน้อย 7-10 วัน จนอาการดีขึ้น ไม่มีไข้ และตรวจ ATK ซ้ำแล้วได้ผลเป็นลบ จากนั้นจึงค่อยมาทำงาน หรือใช้ชีวิต โดยป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดจนครบ 14 วัน"

นอกจากนี้ที่ทำงานควรช่วยกันปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีการถ่ายเทอากาศ ระมัดระวังการรับประทานอาหารร่วมกัน และรณรงค์ให้ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ หมั่นอัปเดตข้อมูลให้รู้เท่าทันสถานการณ์การระบาดทั่วโลก เพื่อที่จะได้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที หาความรู้ที่ทันสมัยทั้งเรื่องวัคซีน ยา และเรื่องโรค โดยรับข่าวสารจากต่างประเทศและแหล่งความรู้ที่น่าเชื่อถือ ระบุที่มาและตรวจสอบได้ ตระหนักถึงความจริงว่า โรค "โควิด-19" ยังระบาดทั่วโลก ขอให้จดจำบทเรียนยามวิกฤติในรอบปีกว่าที่ผ่านมาว่า "เกิดอะไรขึ้นและสูญเสียมากมายเพราะเหตุใดบ้าง"

ดังนั้นใครที่เคยติดเชื้อมาก่อน ก็ควรป้องกันไม่ให้ติดซ้ำ และหมั่นประเมินสุขภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการผิดปกติสงสัยเรื่องลองโควิด ปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและให้การดูแลรักษา ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเป็นกิจวัตร ล้างมือหลังหยิบจับของสาธารณะ เว้นระยะห่างจากคนอื่น และใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้องเมื่อออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน ไม่ว่าจะไปเรียน ไปทำงาน หรือไปท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจก็ตาม.

กราฟิก : sathit chuepphanngam