กสทช. ฉะ "กกท." ทำ MOU บอลโลก เอื้อเอกชน ผิดคำพูดกับ กสทช. จี้ต้องแก้ทันที ไม่งั้นยึด 600 ล้านคืน ยันคนไทยต้องได้ดูบอลโลกทุกช่องทาง
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 65 นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ที่ปรึกษาประธาน กสทช.และประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยถึงกรณี MOU บอลโลกที่ กสทช. ทำร่วมกับ กกท. ว่า กกท. มีความไม่ตรงไปตรงมา คือ มีการมอบสิทธิ์ผูกขาดให้กับเอกชน โดยห้ามออกอากาศผ่านมือถือ หรืออินเทอร์เน็ตทั้งหมด ออกอากาศได้เฉพาะทรูรายเดียว จึงขัดกับวัตถุประสงค์การใช้เงินของ กองทุน กทปส. รวมถึงขัดกับวัตถุประสงค์ของการเอ็มโอยู ขัดกับนโยบายรัฐบาล ซึ่งถ้า กสทช. นั่งนิ่งเฉย มีโอกาสทำผิดกฎหมาย ดังนั้น กสทช. จึงต้องมีหนังสือเตือน
นพ.ประวิทย์ กล่าวว่าก่อนหน้านี้ กกท. รับทราบ และเคยมีหนังสือถึงเอกชนรายนี้แล้วด้วยว่า หากเอ็มโอยูระหว่าง กกท.กับเอกชน ขัดกับเอ็มโอยูหลักระหว่าง กสทช. และกกท. เอ็มโอยูดังกล่าวไม่มีผล ดังนั้น หาก กสทช. ชี้แล้วว่ากกท.ทำผิดข้อตกลง หรือผิดกฎหมาย ง่ายที่สุดคือ กกท.ต้องไปตกลงกับเอกชนว่า ให้สิทธิ์ออกอากาศผ่านสตรีมมิงได้ แต่ไม่ใช่สิทธิ์ผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว โดยต้องอนุญาตให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ซึ่งเขามีหน้าที่ออกอากาศตามกฎมัสต์แครี่ แค่นั้นก็จบ
แต่ตอนนี้ กกท.กำลังหลงประเด็น เนื่องจากเอกชนรายนี้ฟ้องร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โดยอ้างว่าเป็นไปตามสิทธิ์ ดังนั้น ผู้ให้บริการรายอื่นห้ามถ่ายทอดสด ซึ่งตามความเป็นจริง ถือว่าถูกต้องแค่ครึ่งเดียว ซึ่งสิทธิ์นั้นไม่ใช่สิทธิ์จากฟีฟ่า แต่เป็นสิทธิ์จาก กกท. หาก กกท.เพิกถอนสิทธิ์ตรงนั้น ก็จบ และหาก กกท.เพิกถอนสิทธิ์ผูกขาด ให้ผู้ให้บริการรายอื่นสามารถถ่ายทอดสดได้ ทุกอย่างก็จบศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ก็จะเพิกถอนคำสั่ง
...
ขณะเดียวกัน มีการกล่าวอ้างว่า กรณีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ เมื่อ 2 ปีก่อน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ได้รับสิทธิ์เช่นกัน โดยซื้อลิขสิทธิ์ผ่านผู้แทนของ กกท. โดยต้องอธิบายว่า เอไอเอสยืนยันว่า ครั้งนั้นซื้อลิขสิทธิ์เฉพาะโอทีที ส่วนของไอพีทีวี ผู้ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.ยังออกอากาศตามกฎมัสต์แครี่ได้ 100% ซึ่งต่างจากบอลโลกครั้งนี้ ที่พอซื้อสิทธิ์ไอทีที แต่ห้ามไอพีทีวีออกอากาศด้วย
ดังนั้น กรณีโอลิมปิก กล่องทรูไอดีจอดำ เป็นเพราะว่า ไม่ใช่ผู้ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. และไม่มีหน้าที่ตามกฎมัสต์แครี่นั่นเอง หากจะออกอากาศต้องซื้อลิขสิทธิ์ ซึ่งก็ตรงไปตรงมา แต่กลับกันครั้งนี้ AIS PLAYBOX เป็นผู้ได้รับใบอนุญาต จึงต้องทำหน้าที่ในการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกอยู่แล้ว แต่กลับถูกคำสั่งศาลห้ามออกอากาศ
เรื่องนี้เป็นเรื่องการใช้เงินแผ่นดิน ที่ผิดวัตถุประสงค์ ดังนั้น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ควรเข้ามาตรวจสอบด้วย แต่ขณะนี้ ทั้งสำนักงานอัยการสูงสุด และ สตง. ยังไม่เรียกข้อมูลจาก กสทช. ซึ่งหากตัดสินผิดพลาด ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายให้กับเงินแผ่นดิน ใครจะรับผิดชอบ
สำหรับเงินจำนวน 600 ล้านบาทที่ กสทช. เรียกคืน เพราะทำผิดเอ็มโอยู เชื่อว่ากองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ มีเพียงพอที่จะสำรองจ่ายก่อนได้ หรือของบประมาณจากรัฐ รวมถึงทำหนังสือขอผ่อนผัน พร้อมดอกเบี้ยก็สามารถทำได้ ซึ่งหาก กกท. ยังไม่ชี้แจง หลังจากนี้ ต้องรอมติ กสทช. ส่งหนังสือเพื่อขอคืนเงินต่อไป” นพ.ประวิทย์ กล่าว.