ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ที่ส่งเงินสมทบทุกเดือน ถือเป็นเรื่องดีที่ยังอุ่นใจได้เสมอว่าแม้ทำงานแล้วอายุมากขึ้นจนถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน ยังคงได้รับสิทธิประโยชน์จากกรณีชราภาพที่ออมเงินออมสุขไว้ให้ผู้ประกันตนได้มีหลักประกันในช่วงบั้นปลายชีวิต

สำหรับกรณีชราภาพ ผู้ประกันตนที่ได้รับเงินบำนาญชราภาพ จะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วครบ 180 เดือน จะได้รับสิทธิประโยชน์เงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนตลอดชีวิต ในอัตราร้อยละ 20 ของเงินค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ซึ่งใช้เป็นฐานการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง แต่ถ้าผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน จะปรับเพิ่มอัตราเงินบำนาญชราภาพขึ้นอีกร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก 12 เดือน ทั้งนี้ หากผู้รับบำนาญถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่รับบำนาญ ให้จ่ายบำเหน็จแก่ทายาทเป็นจำนวนเท่ากับบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนเดือนที่เหลือ หลังจากผู้รับบำนาญถึงแก่ความตายจนครบ 60 เดือน ส่วนเงินบำเหน็จชราภาพ จะเป็นการจ่ายเงินก้อนครั้งเดียวให้แก่ผู้ประกันตน โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1.จ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน ได้รับเงินเท่ากับจำนวนเงินสมทบของกรณีชราภาพในส่วนของผู้ประกันตนเพียงฝ่ายเดียว

2.จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 180 เดือน ได้รับเงินเท่ากับจำนวนเงินสมทบของกรณีชราภาพในส่วนของผู้ประกันตน รวมกับเงินสมทบในส่วนของนายจ้างและผลประโยชน์ตอบแทน

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ที่อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนแล้ว สามารถยื่นเอกสารแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคม ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ที่สะดวกทั่วประเทศ โดยผู้ประกันตนสามารถขอรับเงินชราภาพได้ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิรับเงินกรณีชราภาพ ซึ่งปัจจุบันผู้ประกันตนสามารถรับเงินชราภาพผ่านพร้อมเพย์ โดยลงทะเบียนกับธนาคารที่เปิดบัญชีเงินฝากไว้ได้ทุกธนาคารเช่นกัน