นับวันยิ่งน่ากลัวสำหรับ “แชร์ลูกโซ่” ภัยการเงินที่อาศัยความโลภของคนผสมผสานรูปแบบที่ซับซ้อนแนบเนียนหลอกลวง “เหยื่อให้หลงเชื่อ” สร้างความเสียหายต่อคนไทยสูญเงินหมดตัวมามากมาย

แม้ปัจจุบัน “มีข่าวเตือนภัยธุรกิจแชร์ลูกโซ่เกิดขึ้นทุกวัน” ก็ยังมีผู้ตกเป็นเหยื่อเช่นเดิม โดยเฉพาะ “แชร์ลูกโซ่ออนไลน์” เข้าถึงได้ง่ายเพียงแค่ปลายนิ้วคลิกหลอกระดมเงินเป็นเครือข่ายแฝงมากับ “ธุรกิจขายตรง หรือชักชวนลงทุนธุรกิจมีกำไรมากกว่าปกติ” เพื่อเป็นแรงจูงใจหาสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

แต่การไม่ตกเป็นเหยื่อนั้นจำต้องรู้เท่าทันกลโกงนี้ “เพจ FIN Talks” ได้เปิดพูดคุยหัวข้อ “Investment scam มั้ย? ลงทุนยังไงอันไหนจริงหรือ หลอก” ในการให้ความรู้ Investment scam คืออะไรอยู่ในการลงทุนสินทรัพย์ใดบ้าง Forex, Crypto, Metaverse หรือหุ้น? สังเกตยังไงว่าจริงหรือหลอก มีกูรูในทุกสินทรัพย์มาให้คำแนะนำครั้งนี้

พ.ต.อ.ปองพล เอี่ยมวิจารณ์ กรรมการผู้จัดการ บ.บล็อกเชนไพรมารี่ จำกัด บอกว่า เท่าที่ตาม FOREX 3D รู้สึกเป็นห่วงหลายคนอาจตกเป็นเหยื่อ หรือตกเป็นผู้สมคบคิดแบบไม่รู้ตัว โดยเฉพาะแชร์ลูกโซ่ค่อนข้างดูได้ยากมาก เพราะตามกฎหมายการเข้าข่ายความผิดนั้นต้องมีองค์ประกอบทั้งโฆษณา ประกาศ หรือชักชวนคนอื่น

...

เพื่อเข้ามาร่วมลงทุนด้วยการรับปากจะมีผลตอบแทนสูงกว่าสถาบันการเงินตามกฎหมายจ่ายให้ได้ แล้วคำว่า “แชร์ลูกโซ่” มักเรียกเฉพาะในไทย ส่วนต่างประเทศแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ “Ponzi scheme” เป็นธุรกิจหลอกลวงร่วมลงทุนชวนเชื่อจะได้ผลตอบแทนสูง และ “pyramid scheme” เป็นการหลอกชวนลงทุนต่อกันไปเรื่อยๆ

ทว่ากลไกตามประสบการณ์ที่เคยเจอมานั้น “ดารานักแสดง” มักถูกเชิญเข้าไปร่วมงานเปิดตัวธุรกิจเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ โดยที่ไม่รู้ตัวว่าเป็นการเปิดตัวธุรกิจแฝง สุดท้ายเข้าข่ายต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดี เพราะมีส่วนช่วยโฆษณา หรือชักชวนบุคคลอื่นเพื่อให้เข้ามาร่วมธุรกิจแชร์ลูกโซ่ จนต้องถูกเชิญมาสอบถามข้อเท็จจริงกันบ่อยๆ

ส่วนลักษณะการร่วมกระทำความผิดนี้ “ต้องนำชื่อเสียงไปช่วยยืนยันต่อการลงทุนธุรกิจนั้น” แต่กรณีดารานักร้องถูกเชิญไปร่วมเปิดตัว หรือนักร้องเพลงในงานอาจยังไม่ถือเป็นการยืนยันว่า “ธุรกิจนั้นเงินดี หรือเป็นธุรกิจถูกต้อง” เว้นแต่คนนั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้วยไอทีถูกเชิญไปร่วมงานโดยจะรู้ หรือไม่รู้ตัวก็ตาม

ย่อมเข้าข่ายร่วมทำความผิดต้องถูกเชิญสอบปากคำ หรืออาจตั้งข้อกล่าวหาตามมาได้

ส่วนตัวสมัยเป็นตำรวจนั้น “เคยดำเนินคดีผู้ต้องหาแชร์ลูกโซ่เยอะมาก” ทั้งยังมีดารา นักร้อง นักแสดง ถูกกล่าวอ้างเชิญไปในงานเปิดตัวธุรกิจแชร์ลูกโซ่ ทำให้ต้องถูกเชิญตัวเข้าสอบปากคำกันหลายคน

แล้วบางคนเข้าข่ายการกระทำความผิดโดยที่ไม่รู้ตัวว่า “กำลังถูกหลอกใช้เป็นเครื่องมือ” ยิ่งกว่านั้นยังมี “บรรดาอาจารย์มหาวิทยาลัยดังๆ” ก็เข้ามาร่วมลงทุนธุรกิจแชร์ลูกโซ่แล้วใช้ความเป็น “อาจารย์มหาวิทยาลัย” อันเป็นผู้มีความรู้น่าเชื่อชักชวนคนอื่น และขยายเป็นโครงข่าย จนสุดท้ายก็ถูกดำเนินคดีไปก็มีความเสี่ยงต่อมา “โพสต์ หรือแชร์ข้อความธุรกิจแชร์ลูกโซ่ผ่านออนไลน์” ที่อาจไม่มีเจตนาแต่ผู้ใช้โซเซียลฯได้เห็นข้อความแล้วรู้สึกมั่นใจว่า “คนโพสต์มีความน่าเชื่อถือ” ก็อาจตกเป็นผู้ต้องหาได้เหมือนกัน

ย้ำด้วย “ธุรกิจแชร์ลูกโซ่โกงเงินคนอื่น” มักผ่องถ่ายเงินบางส่วน “เปิดธุรกิจบังหน้าเป็นการฟอกเงิน” อย่างเช่นเพื่อนคนหนึ่งทำธุรกิจแชร์ลูกโซ่โกงเงินคนอื่น “นำมาร่วมหุ้นเปิดบริษัทกับเรา” นั่นก็กลายเป็นว่า “บริษัทนิติบุคคลนั้น” มีส่วนร่วมกระทำความผิดฐานการฟอกเงินแล้ว

ฉะนั้นกรณีนี้ “การลงทุนธุรกิจกับบุคคลใด” ควรตรวจสอบแหล่งที่มาให้ดีว่า “เงินนั้นได้มาจากการกระทำผิดหรือไม่” เพราะมิเช่นนั้นอาจเกิดความเสี่ยงให้ต้องตกเป็นผู้ต้องหาแบบไม่รู้เรื่องได้ด้วยซ้ำ

ถัดมาคือ “พฤติการณ์หลอกลวง” ค่อนข้างมีรูปแบบหลากหลายแตกต่างกันอย่างเช่น “คดีแชร์ลูกโซ่ยูฟันสโตร์” ปรากฏขึ้นครั้งแรกในปี 2012 “เปิดตัว ที่ประเทศฮ่องกง” ใน 1 ปี ชักชวนคนมาร่วมสมัครได้ 800 คน ทำให้อยู่ไม่ได้ ก่อน “ย้ายมาตั้งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย” คราวนี้ได้ผู้สมัครเข้าร่วมลงทุนราว 1,200 คน

ครั้งที่ 3 ได้ย้ายมาเปิดสำนักงานใหญ่ที่ถนนบางนาตราด ประเทศไทยได้เพียง 8 เดือน ก็สามารถชักชวนคนไทยเข้ามาสมัครร่วมลงทุนกับธุรกิจยูฟันมากกว่า 12,000 คน กลายเป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงคนไทยมักหลอกลวงได้ง่ายกว่าคนต่างชาติ เพราะด้วยอุปนิสัยเชื่อคนง่าย และกล้าเสี่ยงต่อการลงทุนนั้น

...

หนำซ้ำ “ผู้ตกเป็นเหยื่อคดียูฟัน” หลายคนกลับมีประวัติเคยแจ้งความตกเป็นผู้เสียหายคดีแชร์ลูกโซ่อื่นมาก่อนต่อเนื่อง เพราะเขามีคอนเซิร์นว่า “เป็นสมาชิกรุกกอบโกยผลกำไรก่อนแล้วรีบออกไม่เสี่ยงถูกจับดำเนินคดี” แต่ด้วยคดียูฟันปลีกตัวออกไม่ทันเลยต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดีตามมา

หากว่าตามกฎหมายแล้ว “บุคคลจะเป็นผู้เสียหายนั้นต้องไม่รู้ว่าเป็นธุรกิจปลอมหลอกลวงเอาเงินคนอื่น” แต่กรณีเข้ามาโกยกำไรแล้วรีบออกเร็วนั้น “ไม่นับเป็นเหยื่อ” เพราะมีพฤติกรรมเจตนารับรู้มาแต่ต้น

ปัญหาคือว่า “กระบวนการธุรกิจแชร์ลูกโซ่ค่อนข้างซับซ้อนแนบเนียน” ทำให้ยากต่อการพิสูจน์ทราบได้ว่า “สิ่งใดจริง หรือเรื่องใดโกหก” อย่างเช่นกรณี “คดียูฟัน” กล่าวอ้างสร้างภาพหลอกนำเงินที่ได้จากคนไทยไปลงทุนซื้อเหมืองทองในจีน พร้อมทั้งถ่ายรูปคนถือป้ายคดียูฟันโชว์ในเหมืองทอง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ

แต่เมื่อ “ตำรวจไทยจับกุมทลายเครือข่าย” แล้วทำการสืบสวนสอบสวนพบว่า “คนเหล่านั้นไปเที่ยวเหมืองทองถ่ายรูปโชว์เท่านั้น” เช่นเดียวกับ “การทำธุรกิจเหมืองแร่นิเกิลในอินโดนีเซีย” ก็แอบอ้างกันทั้งสิ้น แล้วยิ่งกว่านั้น “ผู้ตรวจสอบบัญชี” กลับสมคบคิดตกแต่งบัญชีรายได้จาก 4 หมื่นล้านบาท เหลือ 4 แสนกว่าบาท

ตอกย้ำสมัยเป็น “รองโฆษก ตร.” เคยมีผู้เสียหายร้องเรียน “กรณีตำรวจไม่รับแจ้งความคดีแชร์ลูกโซ่” ทำให้ตำรวจบางคนเปิดรับทำคดีเองปรากฏว่า “ตีกินเรียกรับเงินจากคนร้าย” แล้วมาแจ้งผู้เสียหายอาจต้องถูกจับดำเนินด้วย เพราะชักชวนคนอื่นเช่นกัน จนเกิดกลัวไม่กล้าแจ้งความ ทำให้ผู้กระทำผิดไม่ถูกดำเนินคดี

...

ปัจจุบันนี้โชคดี “กรมสอบสวนคดีพิเศษ” เคลื่อนไหวปราบปรามขบวนการแชร์ลูกโซ่เต็มที่อย่างมีประสิทธิภาพสูง “สามารถติดตามจับผู้กระทำความผิดต่อเนื่อง” แต่กรณี “ผู้เสียหาย” มักมีโอกาสได้เงินคืนค่อนข้างยาก เพราะทรัพย์สินที่คนร้ายโกงไปนั้นถูกผ่องถ่ายโอนไปต่างประเทศเป็นหลักจนหมด

ส่วนที่เหลือในประเทศเป็นทรัพย์สินประเภททองคำ รถยนต์ บ้าน ได้จากการโกงผู้เสียหายนั้น “ตำรวจ” ทำการตรวจยึดเข้าสู่กระบวนการขายทอดตลาดเฉลี่ยคืนผู้เสียหายที่แจ้งความเท่านั้น ฉะนั้นแนะนำผู้เสียหายคดีแชร์ลูกโซ่ควรแจ้งความ ไม่ว่าจะชักชวนคนอื่น หรือไม่ชักชวนก็ตาม แล้วค่อยไปพิสูจน์ความบริสุทธิ์กัน

เช่นเดียวกับ ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ ผู้ก่อตั้ง Bitcast นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย บอกว่า การหลอกให้ลงทุน Investment Scam เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันเพียงแต่ “รูปแบบเปลี่ยนไปตามยุคสมัย” ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นต้องค้นหาคือ “แหล่งที่มาของรายได้ธุรกิจหลอกลวงมาจากที่ใด?” อันจะเป็นเครื่องมือช่วยป้องกันได้ดีที่สุด

...

ส่วนใหญ่แล้ว “ธุรกิจแชร์ลูกโซ่” มักไม่เกิดกิจกรรมลักษณะที่มาของรายได้นั้นจริงๆ “แต่เป็นการเอาเงินของคนเข้ามาทีหลังนำมาจ่ายให้กับคนแรก” อันเป็นหลักโครงสร้างของกระบวนการแชร์ลูกโซ่ที่ทำกันอยู่

หากย้อนดูกรณี “แชร์ลูกโซ่ดังๆ” อย่างยูทูบเบอร์ “นัตตี้” ถูกกล่าวหาว่าโกงเทรด “อันเป็นแชร์ลูกโซ่แบบเดิม” อาศัยสิ่งบางอย่างมาหลอกให้คนเกิดความโลภอยากได้เงินรวยเร็วๆ ทั้งมีข้อสังเกตต่อว่า “ขบวนการแชร์ลูกโซ่” มักพูดคุยผ่านโซเซียลฯในห้องปิด ทำตัวลับๆล่อๆ ไม่เปิดเผยให้คนอื่นได้เห็นมาก เพราะกลัวถูกจับผิด

ฉะนั้นแม้กาลเวลาเปลี่ยนไป “คนยังมีความโลภ” ทำให้มิจฉาชีพเข้าใจจุดนี้ดีแล้วเปลี่ยนรูปแบบและเครื่องมือให้สอดรับยุคสมัย “หลอกเหยื่อได้ง่ายเหมือนเดิม” อย่างเช่นสมัยก่อน “แก๊งตกทอง” สร้างเหตุการณ์ทำทองตกมีคนเก็บได้ต้องการขายให้เหยื่อราคาถูกเร่งด่วน แล้วให้ตัดสินใจแบบเร็วๆ มักส่งผลให้คนมีสติลดลงเสมอ

ฉะนั้นเมื่อเจอ “ภัยแชร์ลูกโซ่” ควรต้องมีสติท่องคาถาสำคัญคือ “ไม่โลภ ไม่หูเบา ไม่ใจร้อน ไม่หลงเชื่อ” แล้วก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อถูกแก๊งมิจฉาชีพหลอกได้ง่ายอีกต่อไป.