นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยว่า การเกิดอุทกภัยใหญ่แต่ละครั้ง ส่งผลให้ภาคเกษตรกรรมได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะในส่วนของไม้ผลและไม้ยืนต้น ถ้าถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานานจะทำให้ต้นตายได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ผลไม้ยืนต้นด้วย อย่าง ชมพู่ พุทรา ละมุด มะขาม มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน จะทนต่อสภาพน้ำท่วมขังได้นานกว่ามะละกอ กล้วย ทุเรียน มะม่วง ส้ม มะนาว อย่างไรก็ตาม ถ้าระยะเวลาการท่วมขังไม่นาน ระดับน้ำที่ท่วมขังไม่สูงถึงระดับใบพืช และน้ำที่ท่วมขังมีการไหลไม่อยู่นิ่งและรากพืชไม่เน่า ต้นไม้จะมีชีวิตรอดได้ แต่จำเป็นต้องได้รับการดูแลฟื้นฟูอย่างถูกวิธีหลังน้ำลด

“เพราะน้ำที่ท่วมขังจะทำให้ระบบรากขาดออกซิเจน ส่งผลให้รากไม่สามารถดูดน้ำและแร่ธาตุต่างๆไปเลี้ยงลำต้นที่อยู่เหนือดิน จะเกิดอาการใบเหลือง ซึ่งมักเกิดกับใบแก่ที่อยู่ทางส่วนโคนของกิ่ง สำหรับอาการซีดเหลืองมักพบในต้นไม้ที่ถูกน้ำท่วมขังต่อเนื่อง อาจแสดงอาการทั่วทั้งต้น และอาจพบอาการใบลู่หรือห้อยลงด้วย อาการทิ้งใบ ดอก และผล นอกจากนั้นพืชถูกน้ำท่วมขังจะเกิดความเครียด ทำให้พืชสร้างเอทิลีนสูงกว่าปกติ ส่งผลให้ต้นพืชทิ้งดอกและผล อาการนี้จะเกิดขึ้นค่อนข้างเร็วและรุนแรงจนหมดหรือเกือบหมดต้น และยังแสดงอาการอื่นๆทางสรีรวิทยาของพืช เช่น การปิดของปากใบเพื่อลดการคายน้ำ ส่งผลให้การสร้างอาหารและส่งเลี้ยงรากลดลงร่วมกับรากขาดออกซิเจนในดินทำให้รากพืชเน่า”

...

สำหรับวิธีการฟื้นฟูไม้ผลไม้ยืนต้นหลังประสบอุทกภัย อธิบดีกรมวิชาการเกษตรแนะนำว่า โดยเบื้องต้นเกษตรกรควรจะต้องมีการบำรุงรักษาให้พืชเกิดรากใหม่และให้แตกใบอ่อนโดยเร็ว ขณะเดียวกันต้องมีการจัดการดินให้ถูกต้อง

“หลังน้ำท่วมใหม่ๆ ดินยังเปียกอยู่ ห้ามนำเครื่องจักรกลหนักเข้าไปในพื้นที่และห้ามบุคคล รวมทั้งสัตว์เข้าไปเหยียบย่ำบริเวณโคนต้นพืชโดยเด็ดขาด เพราะจะกระทบกระเทือนต่อระบบรากของพืช ทำให้ต้นไม้ทรุดโทรมและอาจตายได้ และเร่งระบายน้ำออกจากแปลงและบริเวณโคนต้นพืชโดยเร็ว โดยอาจขุดร่องระบายน้ำ หรือใช้เครื่องช่วยสูบน้ำออกจากพื้นที่ให้มากที่สุด รวมทั้งในสภาพน้ำท่วมที่มีการชะพาเอาดินหรือทรายมาทับถมในบริเวณแปลงปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้น หลังจากน้ำลดลงและดินแห้งแล้วควรทำการขุดหรือปาดเอาดินหรือทรายออกจากโคนต้นพืช”

นายระพีภัทร์ แนะนำอีกว่า ควรมีการตัดแต่งกิ่ง เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง เป็นการลดการคายน้ำของพืชและเร่งให้พืชแตกใบใหม่เร็วขึ้น สำหรับไม้ผลที่กำลังติดผลให้ปลิดผลออกบ้าง เพื่อลดการใช้อาหารในต้นพืช การพ่นปุ๋ยทางใบให้แก่พืชเพื่อช่วยให้ต้นพืชตั้งตัวเร็วขึ้น ควรพ่นปุ๋ยทางใบหรือปุ๋ยเกล็ดสูตรเสมอสูตร 20-20-20 หรือ 21-21-21 อัตราตามคำแนะนำข้างฉลาก พ่นทุก 10 วัน จนกระทั่งต้นแตกใบอ่อนจนเป็นใบเพสลาด

ที่สำคัญ ไม้ผลไม้ยืนต้นหลังน้ำท่วมมักจะพบปัญหาเรื่องรากเน่าและโคนเน่า ดังนั้นเมื่อดินแห้งแล้วควรมีการพรวนดินบ้าง เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่รากพืช ทำให้รากพืชแตกใหม่ได้ดีขึ้น และควรมีการปรับปรุงสภาพของดิน โดยการโรยปูนขาวหรือโดโลไมท์ กรณีที่พบต้นที่แสดงอาการโรครากเน่าโคนเน่า ให้ตรวจสอบแผลที่โคนต้นและตรวจดูว่ารากเน่าถอดปลอกหรือไม่ กรณีเกิดแผลที่โคนต้น ให้ถากเนื้อเยื่อที่เสียออกแล้วทาด้วยเมทาแลกซิล หากเกษตรกรมีข้อสงสัยสามารถสอบถามขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่ งานไม้ผล สถาบันวิจัยพืชสวน โทร.0-2940-5484 ต่อ 124.