ลองหลับตาถึงอนาคต เราอาจได้พบว่าหลายจินตนาการจากนิยายวิทยาศาสตร์อาจกำลังเกิดขึ้นจริง โดยมีโลกวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน ผ่านกลไกสำคัญ นั่นคือ มนุษย์ หรือบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านนี้ แต่ก่อนจะไปถึงวันนั้น การสร้างโอกาสและสิ่งแวดล้อมทางการศึกษา เป็นสิ่งสำคัญ วิสัยทัศน์ด้านนี้ได้นำไปสู่การเปิดประตูการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นในประเทศไทยด้วย ขณะเดียวกันก็มีความสำเร็จเกิดขึ้น และเป็นความภูมิใจที่หลายคนอาจไม่เคยได้ทราบ
การวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ในไทย
ปัจจุบันมีการศึกษาและวิจัยด้านระบบปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ ในประเทศไทยอย่างจริงจัง และมีงานวิจัยหลายชิ้นเตรียมพัฒนาออกมาใช้งานจริงด้วย ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อให้ผู้ที่ไม่มีพื้นฐานด้านระบบ AI สามารถปรับใช้ได้ในโลกของการทำงานจริง ไปจนถึงการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ในการใช้งานที่หลากหลายโดยใช้ฐานข้อมูลที่น้อยลง เพื่อแก้ปัญหาข้อมูลหายากหรือมีค่าใช้จ่ายสูง
นอกจากนี้ยังมีการวิจัยทางด้านหุ่นยนต์ที่เป็นรูปธรรมด้วย อาทิ การพัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถเคลื่อนไหวในพื้นที่ซับซ้อน โดยมีแรงบันดาลใจจากการเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิตธรรมชาติ จำพวกแมลงหรือหนอน เป็นต้น ซึ่งอนาคตจะเกิดเป็นหุ่นยนต์ที่เคลื่อนที่และใช้งานในพื้นที่ที่ซับซ้อน เข้าถึงยาก และอันตรายในภาคอุตสาหกรรม หรือกระทั่งงานวิจัยระบบต้นแบบเทคโนโลยีหุ่นยนต์ฝึกเดินเสมือนจริงอัจฉริยะ เพื่อศึกษาการควบคุมการทำงานของระบบหุ่นยนต์ช่วยเหลือทางการแพทย์ ก็นับเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิจัยด้านนี้ของนักศึกษาและนักวิจัย ที่หวังจะใช้ความรู้ความสามารถ และความรักในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของตัวเอง ออกไปขับเคลื่อนสังคม
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ความสำเร็จของการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังหมายถึงการมีเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย อีกตัวอย่างหนึ่งของงานวิจัยที่เกิดจากการศึกษาอย่างจริงจังจากโจทย์ความต้องการในปัจจุบัน เช่น การวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน เพื่อให้มีความเสถียรและปลอดภัยมากยิ่งขึ้นในภาคธุรกิจ งานวิจัยด้านการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยานาโนยุคใหม่จากขยะหรือสารไร้ค่า เพื่อประยุกต์ในอุตสาหกรรม งานวิจัยที่สามารถเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสารที่มีมูลค่าสูง อย่างสารนำพาประจุในแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน รวมถึงการเปลี่ยนให้เป็นพอลิเมอร์ที่มีคุณสมบัติพิเศษขั้นสูงและสารดูดซับขั้นสูงที่มีรูพรุนพิเศษเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมเฉพาะด้าน นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาวัสดุโปร่งใสที่สามารถเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าอีกด้วย
การศึกษาด้านวิศวกรรมชีวโมเลกุลก็เป็นอีกแขนงหนึ่งที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในอนาคตด้วยเช่นกัน ตัวอย่างงานวิจัยที่น่าสนใจ ได้แก่การศึกษาโครงสร้างของเอนไซม์เฉพาะทางเพื่อสร้างผลิตผลที่มีมูลค่าสูง อาทิ ความสามารถในการเพิ่มผลิตผลน้ำตาลที่เกิดได้ยากและมีราคาสูงในตลาคเคมีภัณฑ์ และการพัฒนาโครงสร้างของอนุพันธุ์ไคโตโอลิโกแซคคาไรด์ที่มีฤทธิ์เป็นยาต้านจุลชีพใหม่ เป็นต้น หรือแม้แต่การพัฒนางานวิจัยด้านชีววิทยาสังเคราะห์ เพื่อออกแบบและสร้างผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพในระดับเซลล์ขึ้นมาใหม่ ก็เป็นประโยชน์ที่ก่อให้เกิดสารมีมูลค่าเพิ่มได้ (ฮอร์โมนพืชภายใต้ชื่อ BioVis) นอกจากนี้งานวิจัยด้านการใช้สารชีวภาพโดยเฉพาะเอนไซม์ที่มีความจำเพาะอย่างสูงต่อสารที่ต้องวิเคราะห์ เพื่อวัดปริมาณการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว โดยมุ่งเน้นการสร้างอุปกรณ์ต้นแบบและนวัตกรรมทางเคมีไฟฟ้าหรือการเปล่งแสง ก็พร้อมสำหรับการประยุกต์ใช้งานได้จริงในอนาคตอันใกล้
เบื้องหลังความสำเร็จเกิดขึ้นที่นี่
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังคงเป็นตัวเอกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมเสมอ ด้วยวิสัยทัศน์การนำความรู้ด้านนี้ไปพัฒนาชาติ การถือกำเนิดขึ้นของสถาบันที่เปิดหลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาโทและเอก ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในชื่อ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) จึงเกิดขึ้น พร้อมความครบครันของระบบนิเวศทางการศึกษา ทั้งเครื่องไม้เครื่องมือ และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้ สถาบันวิทยสิริเมธี คือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของงานวิจัยหลายชิ้นที่พร้อมออกมาขับเคลื่อนประเทศต่อไปด้วย
การมีสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างแท้จริง จึงนับเป็นส่วนสำคัญหนึ่งของการเปิดประตูแห่งอนาคตสำหรับนักศึกษาที่มีความรักและสนใจ รวมถึงความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนี้อย่างมากด้วย หากไฟแห่งการสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงก่อตัวขึ้น สถาบันการศึกษาที่ตอบโจทย์ก็มีส่วนสำคัญอย่างมากที่เข้ามาร่วมผลักดัน และสานโอกาสครั้งใหม่ให้เกิดขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ได้เปิดการเรียนการสอนทั้งสิ้น 4 สำนักวิชา ประกอบด้วย 1. สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล (School of Molecular Science and Engineering: MSE) 2. สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน (School of Energy Science and Engineering: ESE) 3. สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล (School of Biomolecular Science and Engineering: BSE) และ 4. สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (School of Information Science and Technology: IST)
โดยดำเนินการผ่าน 3 ภารกิจที่สำคัญ คือ 1. การสร้างนักวิจัยระดับโลกที่รอบรู้และมีความเป็นผู้นำ [Cultivate Global Well-versed Leader] 2. การบุกเบิกการวิจัยวิทยาศาสตร์ใหม่เพื่อการสร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรม [Create Frontier Science and Innovation] และ 3. การนำความรู้ไปขับเคลื่อนการพัฒนาที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศและสอดรับกับทิศทางระดับโลก [Contribute to National Demands and Global Challenges]
ในวันที่ทั่วโลกกำลังแข่งขันกันที่ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คำตอบของประเทศไทยก็สามารถเริ่มขึ้นที่นี่ได้เช่นกัน