• "โอมิครอน" ครองโลก แตกสายพันธุ์ย่อยพรึ่บ คาด "XBB" ระบาดหนักกว่า BA.5 "องค์การอนามัยโลก" รายงานข้อมูล "โอมิครอน" ครองโลกต่อเนื่อง ซ้ำร้ายแตกหน่อสายพันธุ์ย่อย 390 เผย "XBB" ระบาดรวมกันแล้ว 100 ประเทศ หมอเผยทำไมเด็กเล็กต่ำกว่า 2 ปี ต้องฉีดวัคซีน ชี้เสี่ยงป่วยรุนแรง เหมือนกลุ่ม 608

ถึงแม้จะสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในไทยและทั่วโลกดูเหมือนจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่เอาเข้าจริงแล้วโคโรนาไวรัสนั้น ยังไม่สิ้นฤทธิ์ แต่ยังคงอยู่และมีความอันตรายเหมือนเดิม โดย "องค์การอนามัยโลก" ได้เผยแพร่รายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไวรัสโควิดฯสายพันธุ์ "โอมิครอน" ยังครองการระบาดทั่วโลก โดยตรวจพบล่าสุดในสัดส่วนถึง 99.7% !!!

ผงะ "โอมิครอน" กลายพันธุ์แตกหน่อ "สายพันธุ์ย่อย" พรึ่บ

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ โพสต์ข้อมูลความรู้ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ปัจจุบัน "โอมิครอน" แตกหน่อต่อยอดมีสายพันธุ์ย่อยไปแล้วมากถึง 390 สายพันธุ์ย่อย ทั้งนี้ พบว่ามีการผสมกันระหว่างสายพันธุ์ย่อยเกิดเป็นสายพันธุ์แบบ recombinant จำนวน 48 สายพันธุ์ ซึ่ง BA.5 ยังพบในสัดส่วนสูงถึง 77.1%, BA.4 พบในสัดส่วน 5.4%, และ BA.2 พบในสัดส่วน 4.3%

...

สำหรับสายพันธุ์ย่อย XBB ที่ดื้อต่อภูมิคุ้มกันอย่างมากนั้น ล่าสุดตรวจพบว่ากระจายไปแล้ว 35 ประเทศทั่วโลก ในขณะที่สายพันธุ์ย่อย BQ.1.x นั้น พบว่ามีการแพร่ระบาดไปแล้ว 65 ประเทศ ที่สำคัญคือขณะนี้สายพันธุ์ย่อยที่เกิดขึ้นมานั้น ทั้งจาก BA.2, BA.4 และ BA.5 มีการกลายพันธุ์ของบริเวณหนามเปลือกนอกของไวรัสที่ตำแหน่งกรดอะมิโน ที่มีความเหมือนกันหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ตำแหน่ง S : R346X, S : K444X, S : V445X, S : N450X และ S : N460X ลักษณะการกลายพันธุ์ดังกล่าว ที่เหมือนกันของแต่ละสายพันธุ์ย่อยนั้น ที่ไม่ได้เป็นลูกหลานกันโดยตรง บ่งชี้ว่าไวรัสกำลังมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปในทางเดียวกัน

ดังนั้น ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสมรรถนะของไวรัสได้ สำหรับสถานการณ์ไทยในปัจจุบันนั้น ยังมีการติดเชื้อกันรอบตัวอย่างต่อเนื่อง ประชาชนควรระมัดระวังและป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งการทำงาน ศึกษาเล่าเรียน และตะลอนท่องเที่ยว

ข้อมูลชี้ "XBB" กำลังครองการระบาดระลอก 3 ปีนี้ คาดมีผู้ติดเชื้อมากกว่า "BA.5"

การระบาดในสิงคโปร์ Hartono S นำเสนอข้อมูลชี้ให้เห็นว่า XBB กำลังครองการระบาดระลอกที่สามของปีนี้ โดยมีสัดส่วนเกินครึ่ง และคาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในระลอกนี้จะมากกว่าระลอกก่อนที่เกิดจาก BA.5 ทั้งนี้ระลอกก่อนมีอัตราการติดเชื้อซ้ำราว 5% แต่ระลอก XBB ขณะนี้มีอัตราติดเชื้อซ้ำมากกว่าเดิมถึง 3 เท่าและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่านี้ ซึ่งอาจมาจากหลายปัจจัย ทั้งสมรรถนะของไวรัสเอง รวมถึงระดับภูมิคุ้มกันในประชากรที่ลดลง ไม่ว่าจะเป็นภูมิจากวัคซีนหรือจากการติดเชื้อมาก่อนก็ตาม

โดยต้องพุ่งเป้าไปที่ประเด็นสมรรถนะของ "ไวรัสกลายพันธุ์" ข้อมูลจาก Wenseleers T เบลเยียม ชี้ให้เห็นว่า สายพันธุ์ไวรัสที่กลายพันธุ์ ทั้ง XBB, BQ.1.1, BA.2.75.2, BA.4.6, BF.7 นั้น มีสมรรถนะในการขยายการระบาดสูงกว่าตระกูล BA.5.X เดิม ไม่ว่าจะทวีปใดก็ตาม ทั้ง อเมริกาเหนือ ยุโรป เอเชีย และโอเชียเนีย

...

ไทยเสี่ยงสูงเหตุเปิดเสรีใช้ชีวิต แนะมีสติ-ป้องกันตัว-เตรียมรับมือระบาดซ้ำ

พัฒนาการของไวรัสยามเปิดเสรีใช้ชีวิต Turville T (ออสเตรเลีย) วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจ อ้างอิงจากการวิจัยทีมงานเผยแพร่ในวารสาร Nature Microbiology (30 พ.ค.65) โดยประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ทำให้ไวรัสมีการแพร่เชื้อจำนวนมาก อาจทำให้สมรรถนะของไวรัสโรคโควิดฯ หลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม จากเดิมที่ไวรัสพยายามหลบหลีกภูมิคุ้มกัน และเปลี่ยนแนวทางการจับกับตัวรับบนผิวเซลล์ จนทำให้ความรุนแรงของโรคลดลง แต่อิสระในการแพร่เชื้อที่มีในปัจจุบัน จะทำให้ไวรัสที่กลายพันธุ์อาจกลับไปใช้กระบวนการจับกับตัวรับ TMPRSS2 ที่พบมากในปอด และนำไปสู่การป่วยที่รุนแรงมากขึ้นได้ อย่างไรก็ตามสมมติฐานข้างต้นคงต้องรอการติดตามพิสูจน์ต่อไป ที่น่าจับตาดูคือสถิติหลายประเทศในยุโรป ที่มีจำนวนผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลและไอซียูมากขึ้น

ดังนั้น ด้วยข้อมูลเชิงนิเวศจะเห็นได้ว่า ประเทศไทยย่อมมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากปัจจุบันเราเปิดเสรีการใช้ชีวิต และการท่องเที่ยวเดินทางจำนวนมาก จำเป็นต้องใช้ชีวิตอย่างมีสติ ตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมรับมือการระบาดซ้ำ และป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้องเป็นกิจวัตรเวลาออกนอกบ้าน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

...

WHO เผย "XBB-BQ.1" ปัจจุบันยังระบาดช้ากว่า BA.5

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงอัปเดตสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย XBB และ BQ.1 เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2565 ที่ผ่านมา WHO และภาคีทั่วโลกได้เฝ้าติดตามโอมิครอนกลายพันธุ์สายพันธุ์ย่อยมากกว่า 300 สายพันธุ์ ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างใกล้ชิด พบว่า กว่าร้อยละ 80 ของตัวอย่างส่งมาถอดรหัสพันธุกรรม ที่ห้องปฏิบัติการทั่วโลกยังคงเป็นโอมิครอนสายพันธุ์ BA.5 

จากการถอดรหัสพันธุกรรมโอมิครอนทั่วโลก WHO และเครือข่ายพบโอมิครอนสองสายพันธุ์ย่อย XBB และ BQ.1 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาดเหนือกว่าโอมิครอนทุกสายพันธุ์ในปัจจุบัน โดยไวรัส 2 สายพันธุ์ย่อยดังกล่าว ยังคงมีการแพร่ระบาดในระดับต่ำ กล่าวคือเพิ่มจำนวนอย่างช้าๆ เมื่อเทียบกับโอมิครอน BA.5  ส่วนโอมิครอน XBB เป็นสายพันธุ์ลูกผสม (recombinant) ระหว่าง BA.2.10.1 และ BA.2.75 ในขณะที่โอมิครอน BQ.1 เป็นเหลนของ BA.5 

"ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ทั่วโลกยังไม่พบผู้ติดเชื้อโอมิครอน XBB หรือ BQ.1 ที่มีอาการรุนแรงต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น หรือแตกต่างไปจากโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม เช่น BA.1, BA.2, BA.4 และ BA.5 อย่างมีนัยสำคัญ"

...

ทั้งนี้ WHO และเครือข่ายทั่วโลกไม่ได้ประมาท ยังคงเฝ้าติดตามการแพร่ระบาดของโอมิครอนทุกสายพันธุ์ย่อยอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยขอเน้นย้ำว่าการตรวจวินิจฉัยด้วย ATK, PCR, และการถอดรหัสพันธุกรรมยังคงดำเนินการเป็นปกติ และวัคซีนยังคงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดิมในการป้องกันการติดเชื้อ ที่เจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต

หมอเผยเหตุผลสำคัญ ทำไมเด็กเล็ก ต้องฉีดวัคซีนโควิดฯ?

นอกจากนี้ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุถึงความสำคัญในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดฯในเด็กเล็ก ว่า เด็กเล็กโดยเฉพาะที่อายุน้อยกว่า 2 ปี ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ที่เมื่อติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรงได้ จะเห็นได้จากกลุ่มเสี่ยงของโรคทางเดินหายใจ นอกจากผู้สูงอายุ 608 แล้วจะรวมเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปีเข้าไว้ด้วย ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงควรได้รับวัคซีน เพื่อให้มีภูมิต้านทานถึงแม้ว่าภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากวัคซีนนั้น จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้แบบสมบูรณ์ แต่สามารถลดความรุนแรงของโรคลงได้ และเป็นที่ยอมรับทั่วไป

ปัจจุบันมีวัคซีนโควิดฯในเด็กตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ถึงแม้จะเป็น mRNA วัคซีน ได้มีการศึกษาวิจัยถึงความปลอดภัยของวัคซีน และมีการอนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ได้จากวัคซีนกับความเสี่ยงในการติดเชื้อ

ซึ่งวัคซีนที่ใช้ในเด็กเล็กขณะนี้ ขนาดของ mRNA น้อยกว่าในผู้ใหญ่ 10 เท่า ในขณะที่น้ำหนักตัวเด็กโดยเฉลี่ยแล้วน้อยกว่าผู้ใหญ่ 5 เท่า ดังนั้นการให้วัคซีนในเด็กเล็ก จึงจำเป็นต้องให้ถึง 3 ครั้ง โดย 2 ครั้งแรกห่างกัน 1 เดือนและครั้งที่ 3 ห่างจากครั้งที่ 2 สองเดือน โดยการรับวัคซีนไม่ได้เป็นภาคบังคับ แต่เป็นไปด้วยความสมัครใจของผู้ปกครอง และจะไม่มีเงื่อนไขในการเข้าเรียนว่า จะต้องได้รับวัคซีนมาก่อนหรือไม่

เตือนผู้ปกครองพาเด็กเล็กไปฉีดวัคซีน หวั่นอากาศเปลี่ยนหวนระบาดซ้ำอีก 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 หลังจากที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและโควิดฯอาจกลับมาระบาดอีกครั้งหนึ่ง ว่า จะต้องเพิ่มการระมัดระวังมากขึ้น โดยการฉีดวัคซีนสามารถป้องกันความรุนแรงของโรคได้ โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ และมีผลยืนยันแล้วว่าไม่มีอาการหนัก จนถึงขั้นต้องใส่เครื่องช่วยหายใจหรือเสียชีวิต จึงเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์มากหากร่วมกันฉีดวัคซีน

"ทั้งนี้ วัคซีนให้บริการครอบคลุมเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน จนถึง 4 ขวบ เป็นวัคซีนไฟเซอร์ฝาแดง ซึ่งเตรียมไว้พร้อมแล้วและกระจายไว้ทั่วประเทศ จึงขอเชิญชวนให้ผู้ปกครองพาเด็กไปรับวัคซีน เราต้องฉีดถึง 3 เข็ม ควรรีบไปฉีด ความปลอดภัยจะเกิดขึ้นกับทั้งครอบครัว ขอผู้ปกครองอย่าเป็นกังวลว่า เด็กจะนำเชื้อจากโรงเรียนมาติดผู้ปกครอง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่บ้าน"

กราฟิก : sathit chuephanngam