เมื่อวันศุกร์ที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา มีรายงานข่าวจากจังหวัดนครศรีธรรมราช เกี่ยวกับการตัดสินความผิดของอดีตผู้อำนวย การโรงเรียนรายหนึ่ง ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในคดีอื้อฉาว ให้เด็กนักเรียนรับประทานอาหารกลางวันด้วยขนมจีนคลุกนํ้าปลา

ท่านผู้อ่านคงจะจำได้ว่าเมื่อปี พ.ศ.2562 ได้มีการเผยแพร่คลิปนักเรียนนั่งกินอาหารกลางวันซึ่งเป็นขนมจีนคลุกนํ้าปลาในถาดหลุม ณ โรงเรียนแห่งหนึ่งไปตามโซเชียลต่างๆอย่างกว้างขวาง

เนื่องจากคลิปนี้เป็นคลิปที่เผยแพร่อย่างรวดเร็วมาก และมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือด ที่เรียกว่า “ไวรัล” ในสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งมีการตั้งข้อสังเกตว่าจากคลิปที่เห็นน่าจะเป็นผลมาจากการทุจริตในโครงการอาหารกลางวันอย่างแน่นอน ขอให้มีการสืบสวนสอบสวนโดยเร่งด่วนที่สุด

ต่อมาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานีเขต 2 ก็มีคำสั่งย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนที่เป็นที่เกิดเหตุไปช่วยราชการในจังหวัด และตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้น

พบว่ามีการกระทำทุจริตจริง จึงมีมติให้ไล่ออกอดีตผู้อำนวยการคนก่อเหตุ และมีการส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 ซึ่งมีการสั่งฟ้องศาลในที่สุด

จากนั้นกาลเวลาก็ผ่านไปมาจนถึงวันที่ 21 ตุลาคมดังกล่าว ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 ก็ขึ้นอ่านคำพิพากษา สรุปข้อใหญ่ใจความดังที่เป็นข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ทุกฉบับว่า จำเลยหรืออดีตผู้อำนวยการโรงเรียนนั้นมีความผิดจริง

แม้จำนวนเงินจะไม่มากนัก แต่การกระทำของจำเลยในการเบียดบังเอาผลประโยชน์ที่ไม่ควรได้ และกระทำอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้เด็กนักเรียนในปกครองไม่ได้รับอาหารที่มีคุณภาพ และจำนวนไม่เพียงพอต่อการพัฒนาทางร่างกายส่งผลเสียในระยะยาวแก่เด็กๆ

...

พฤติการณ์แห่งคดีจึงร้ายแรง ไม่สมควรรอการลงโทษ

พร้อมกับพิจารณาโทษหลายกระทง ซึ่งเป็นการกระทำความผิดอย่างเดียวถึง 77 กระทง สมควรลงโทษรุนแรง แต่จำเลยสารภาพมีประโยชน์ต่อการพิจารณาให้ลดโทษจำคุก เหลือกระทงละ 2 ปี 6 เดือน รวมโทษจำคุกทั้งหมด 192 ปี 6 เดือน แต่ให้จำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3)

กล่าวโดยสรุปก็คือ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนรายนี้ จะต้องโดนจำคุก 50 ปี ซึ่งรายงานข่าวเบื้องต้นก็แจ้งด้วยว่า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้คุมตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่เรือนจำที่นครศรีธรรมราชทันที

แต่จะมีการประกันตัวออกมาอุทธรณ์สู้คดี เพราะยังเหลือชั้นศาลอุทธรณ์อีก 1 ศาลหรือไม่ คงต้องติดตามข่าวกันต่อไป

ดังที่ทราบกันแล้วว่า ในการพิจารณาคดีของศาลทุจริตและประพฤติมิชอบนั้น จะมีแค่ 2 ศาลเท่านั้น โดยให้จบแค่ศาลอุทธรณ์เท่านั้น

การแก้กฎหมายขั้นตอนสำหรับคดีทุจริตคิดมิชอบ เกิดขึ้นในยุค พล.อ.ประยุทธ์นี่แหละ ดูเหมือนจะราวๆปี 2559 เพื่อให้มีศาลขึ้นมารับผิดชอบในการพิจารณาคดีโดยตรง และรวดเร็วทันการณ์ เนื่องจากคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของข้าราชการ ถือเป็นเรื่องสำคัญของ ประเทศ ที่จะต้องมีการควบคุมให้ลดน้อยลงให้จงได้

หนทางหนึ่งก็คือ ต้องลงโทษได้เร็ว และแรงพอสมควร จึงจะสร้าง ความหวั่นเกรงและหลาบจำให้แก่ผู้ที่จะคิดกระทำการทุจริตลงได้

ในความเห็นของผม คดีนี้จึงนับเป็นคดีตัวอย่างที่จะทำให้ผู้ทุจริตทั้งหลาย เกิดความหวาดกลัวที่จะกระทำความผิดไม่มากก็น้อย

แต่ก็ฝากไปถึงหน่วยราชการที่รับผิดชอบในการปราบปรามทุจริต อย่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มงวด และเอาจริงเอาจังในทุกๆคดี ยิ่งร้ายแรงเท่าใด หรือเป็นฝีมือของผู้มีอิทธิพลขนาดไหน ยิ่งต้องลงมือเต็มที่โดยไม่เห็นแก่หน้า

เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาว่า ก็ดีแต่จัดการกับปลาซิวปลาสร้อยเท่านั้น แต่ของแข็งจริงๆ ไม่กล้าแตะต้อง...ฝากไว้ด้วยก็แล้วกันครับ.

“ซูม”