ผู้ใช้ทางพิเศษส่วนใหญ่อาจพบเจอปัญหาการใช้งาน Easy Pass บนทางพิเศษและมอเตอร์เวย์ ซึ่งนอกจากจะเป็นปัญหาที่กวนใจใครหลายคนแล้ว ยังทำให้การจราจรบนทางพิเศษติดขัดไม่ราบรื่นเหมือนชื่อ เพราะต้อง ต่อแถวจ่ายเงินสดเพื่อผ่านด่าน รวมถึงบางครั้งอาจพบปัญหาไม้กั้นไม่ยกให้รถขับผ่าน หรือแม้กระทั่งการใช้งาน M-Flow ที่ดูเหมือนจะอำนวยความสะดวกมากขึ้นกว่า Easy Pass เพราะผู้ขับขี่สามารถขับผ่านได้โดยไม่ต้องต่อคิวจ่ายเงิน หรือชะลอรถเพื่อให้เครื่องเซนเซอร์ที่หน้ากระจกส่งสัญญาณหาไม้กั้น แต่ระบบของ M-Flow ก็ยังมีปัญหาการใช้งานในบางจุดที่ทำให้ผู้ขับขี่สับสนว่าจะต้องชำระเงินผ่านช่องทางใด หลังจากที่ขับผ่านด่านเก็บเงินมาสักระยะหนึ่งแล้ว นอกจากนี้ยังมีขั้นตอนการสมัคร M-Flow ที่ค่อนข้างซับซ้อน และต้องใช้ข้อมูลประกอบการสมัครจำนวนมาก จึงทำให้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ริเริ่มแคมเปญ “Easy Pass Plus” นี้ขึ้นมา เพื่ออำนวยความสะดวก และเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการฯ โดยไม่ต้องกังวลว่าชำระเงินไม่ทันเวลาที่กำหนด หรือจะโดนค่าปรับในภายหลัง

หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า Easy Pass Plus คือแคมเปญที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ริเริ่มขึ้นมา ด้วยเหตุผลที่ต้องการให้ผู้ใช้บริการทางพิเศษสมัครสมาชิกได้สะดวกมากขึ้น โดย คุณกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการฝ่ายกลยุทธ์และแผนงาน (การทางพิเศษแห่งประเทศไทย) ได้กล่าวถึงแคมเปญ Easy Pass Plus ในครั้งนี้ว่า “แคมเปญ Easy Pass Plus เกิดขึ้นมาจากตอนที่เปิดรับสมัครสมาชิก M-Flow ของกรมทางหลวง ซึ่งแต่เดิมการรับสมัคร M-Flow จะมีวิธีการรับสมัครแค่แบบเดียว และค่อนข้างซับซ้อน โดยผู้ใช้งานจะต้องอัปโหลดข้อมูลบัตรประชาชน กรอกข้อมูลลักษณะของรถที่ใช้งาน และถ่ายรูปกับรถที่ต้องการลงทะเบียน นอกจากนี้ยังมีระบบตรวจสอบอีกหลายขั้นตอน ที่ทำให้ประชาชนไม่สะดวกต่อการใช้งาน การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จึงหาวิธีแก้ไข ด้วยการเชิญชวนสมาชิก Easy Pass มาเข้าร่วมสมาชิก M-Flow พร้อมกับก่อตั้งเป็นแคมเปญ Easy Pass Plus ที่สมาชิกทุกคนสามารถเลือกใช้งาน Easy Pass และ M-Flow ได้ตามอัธยาศัย โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าชำระบริการในภายหลัง เพราะถ้าเลือกผ่านช่องทาง Easy Pass ระบบก็จะตรวจจับเซนเซอร์ และตัดเงินที่บัญชีบัตร Easy Pass ของผู้ใช้บริการ รวมถึงถ้าเลือกผ่านช่องทาง M-Flow ระบบก็จะตัดเงินที่บัญชีบัตร Easy Pass เช่นเดียวกัน”

Easy Pass คือระบบเก็บค่าผ่านทางที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ดำเนินงานมานานกว่า 10 ปี โดยใช้บัตรสมาร์ทการ์ดที่ชื่อว่า OBU หรือ On Board Unit ในการส่งสัญญาณเพื่อให้ไม้กั้นตรงด่านเก็บเงินทำงาน พร้อมกับเชื่อมข้อมูลในบัตรสมาร์ทการ์ดเข้ากับฐานข้อมูลว่าตอนนี้มียอดเงินเหลืออยู่จำนวนเท่าไร หลังจากนั้นระบบจะตัดเงินเพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถขับผ่านด่านเก็บเงินได้อย่างสะดวก ส่วนของระบบเก็บค่าผ่านทาง M-Flow ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ภายในปีนี้ เป็นการพัฒนาที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้รถบนท้องถนน โดยเปลี่ยนจากตัวตรวจจับเซนเซอร์มาเป็นตัวอ่านป้ายทะเบียน พร้อมกับมีระบบแยกอักขระตัวอักษรและตัวเลข เพื่อเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของกรมขนส่งทางบก เท่านี้ก็จะทราบลักษณะรถของผู้ใช้งานได้ทันทีว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร นี่จึงเป็นความแตกต่างของระบบ Easy Pass และ M-Flow ที่เหล่าผู้ใช้งานสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน

ในตอนนี้ผู้ใช้บริการทางพิเศษ สามารถอัปเดต หรือลงทะเบียนปรับปรุงข้อมูลลงระบบ M-Flow ผ่านแอปพลิเคชัน EXAT Portal หรือที่ www.thaieasypass.com ได้แล้ว ซึ่งแอปฯ ดังกล่าวเป็นแพลตฟอร์มกลางของ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ที่รวบรวมข้อมูลไว้ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นข่าวสาร การประชาสัมพันธ์ การตรวจสอบสภาพการจราจรบนทางพิเศษ การขอรับบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ (EXAT e-Service) หรือระบบให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินบนทางด่วน (SOS) ก็จะอยู่ในแอปฯ นี้เช่นเดียวกัน ซึ่ง คุณกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการฝ่ายกลยุทธ์และแผนงาน (การทางพิเศษแห่งประเทศไทย) ได้กล่าวถึงขั้นตอนการโอนย้ายข้อมูลจาก Easy Pass ไปยัง M-Flow เอาไว้ว่า “สมาชิก Easy Pass ที่ลงทะเบียนในระบบ เว็บไซต์ thaieasypass.com หรือ App EXAT Portal มาก่อนหน้านี้ เพียงล็อกอินเข้าสู่ระบบ และแจ้งว่าต้องการสมัครสมาชิกเพื่อเข้าร่วมระบบ M-Flow จากนั้นรอการยืนยันจากทางระบบก็เป็นอันเสร็จสิ้น และในอีกส่วนหนึ่งคือให้สมาชิก Easy Pass อัปเดตข้อมูลบางประการ อาทิ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล ชื่อที่อยู่ และเลขทะเบียนรถ เมื่อกรอกข้อมูลครบถ้วนแล้ว ผู้ใช้บริการก็จะสามารถใช้งานได้ตามปกติ”

ปัจจุบันระบบ M-Flow ได้เปิดให้บริการบนถนนวงแหวนกาญจนาภิเษกฝั่งตะวันออก หรือที่รู้จักกันในชื่อมอเตอร์เวย์สาย 9 ที่ด่านธัญบุรี 1, ด่านธัญบุรี 2, ด่านทับช้าง 1 และด่านทับช้าง 2 ไปเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งในอนาคต ทางการพิเศษแห่งประเทศไทย เตรียมเปิดทางพิเศษฉลองรัชที่ด่าน ฯ สุขาภิบาล 5-1, ด่าน ฯ สุขาภิบาล 5-2 และด่านฯ จตุโชติ โดยทาง คุณกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการฝ่ายกลยุทธ์และแผนงาน (การทางพิเศษแห่งประเทศไทย) ได้กล่าวถึงส่วนขยายเพิ่มเติมว่า “ในแผนงานระยะที่หนึ่ง ทั้งด่านสุขาภิบาล 5-1, ด่านสุขาภิบาล 5-2 และด่านจตุโชติ จะเปิดให้บริการปลายปีนี้ โดยถัดจากนั้นภายในปีหน้า กรมทางหลวง จะเปิดเส้นทางเพิ่มเติมในสายที่ 7 และต่อจากนั้นในปี 2567 กรมทางหลวง จะเปิดเส้นทางมอเตอร์เวย์ในสาย M6 และ M81 คือเส้นบางปะอิน-นครราชสีมา และเส้นบางใหญ่-กาญจนบุรี ขณะเดียวกัน การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ก็จะเปิดด่านฉลองรัช บูรพาวิถี และวงแหวนกาญจนาภิเษกที่เหลือเพิ่มเติม นอกจากนี้ภายในปี 2568 การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ก็จะเปิดทางพิเศษที่อยู่ในระหว่างก่อสร้างที่เหลือทั้งหมด เท่านี้ ก็จะครบตามเป้าหมายที่วางเอาไว้”

เชื่อได้เลยว่าผู้ใช้รถบนท้องถนนน่าจะเคยสัมผัสระบบ Easy Pass และ M-Flow กันมาบ้างแล้ว ซึ่งในการใช้งานจริงถือว่าระบบ M-Flow มีประสิทธิภาพมากกว่า Easy Pass เพราะเป็นระบบที่ผู้ใช้บริการสามารถขับผ่านได้โดยไม่ต้องชะลอหยุดที่ด่านเก็บเงิน แถมระหว่างการขับผ่านไม่มีไม้กั้นมาขวางให้กวนใจอีกด้วย แต่ในตอนนี้ยังมีพี่น้องประชาชนบางรายที่ยังไม่กล้าใช้งานระบบ M-Flow การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จึงอยากเชิญชวนให้ประชาชนเข้ามาลองใช้เพื่อให้เกิดความคุ้นชิน เพราะในอนาคตช่องทาง M-Flow จะขยายเพิ่มมากขึ้น และช่องทางเงินสดก็จะลดลง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ตั้งใจเอาไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในอนาคต