ปัจจัยในการทำธุรกิจ คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งสถาบันการเงินจะพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ โดยดูจากสินทรัพย์ถาวรของผู้กู้ เช่น ที่ดิน อาคาร รถยนต์ และเครื่องจักร เป็นต้น รวมถึงมีข้อจำกัดมากมาย รัฐบาลจึงช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยใช้เวที APEC 2022 ผลักดันแนวคิดเรื่อง “การอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน” ด้วยการส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) และ Startups มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคในการขอเงินทุน พร้อมทั้งเสนอให้ใช้ข้อมูลทางเลือก เช่น การใช้ประวัติธุรกรรมออนไลน์แทนเอกสารหลักฐานรายได้ หรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการยื่นและอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงิน การขอสินเชื่อผ่าน Mobile Banking การยืนยันตัวตนลูกค้าผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ การเบิกเงินและชำระหนี้ผ่านบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยดำเนินธุรกิจ โดยการนำ Big Data มาใช้วิเคราะห์กลุ่มลูกค้าและทิศทางของตลาด
นอกจากนี้ ไทยยังต้องการผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปกอย่างเป็นรูปธรรม โดยส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) ซึ่งเป็นการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับทุกภาคส่วน เพื่อให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ เช่น การระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลที่มีบทบาทสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การแลกเปลี่ยนการใช้เครื่องมือด้านการเงินและการคลังเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งการทำประกันที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและพลังงานหมุนเวียน (Green Insurance) การออกพันธบัตรสีเขียว (Green Bond) และการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม (Green Taxes) เป็นต้น โดยประเทศไทยได้มีการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินโครงการต่างๆ ที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) เพื่อนำไปใช้ในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงการออกมาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
กระแสความตื่นตัวในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้ตราสารหนี้ประเภท ESG bond ซึ่งประกอบด้วย Green bond, Social bond และ Sustainability bond มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
Green bond ตราสารหนี้สีเขียว
• ระดมทุนเพื่อใช้ในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
• เช่น โครงการพลังงานทางเลือก การบำบัดน้ำเสีย การคมนาคมสะอาด
Social bond ตราสารหนี้เพื่อสังคม
• ระดมทุนเพื่อนำไปพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน
• เช่น การให้บริการสาธารณสุข ส่งเสริมการศึกษา จัดหาอาชีพ การสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย
Sustainability bond ตราสารหนี้เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน
• ระดมทุนเพื่อนำไปพัฒนาและส่งเสริมความยั่งยืน โดยมีทั้งองค์ประกอบทั้ง Green และ Social
นอกจากนั้น ตราสารหนี้ประเภท Climate bond ซึ่งเน้นการระดมทุนเพื่อลดโลกร้อน หรือ Blue bond ที่ระดมทุนเพื่อดูแลฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของ Green bond