หากโครงการใดสักโครงการหนึ่ง ได้รับการดูแลฟูมฟักมายาวนานต่อเนื่องเป็น 10 ปี คงยืนยันได้ว่าโครงการนั้นมีความหมาย มีคุณค่า และสำคัญมากมายขนาดไหนในความคิดของผู้ทำ
“โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา” คือหนึ่งในโครงการที่ธนาคารกสิกรไทย สนับสนุนอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน จนมาถึงโครงการ “น่านเพาะพันธุ์ปัญญา” ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ให้เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาของประเทศไทย โดยเฉพาะ 2 องค์ประกอบสำคัญนั่นคือ “นักเรียน” และ “ครู” ด้วยการเปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนการสอนให้เกิดขึ้นจากภายใน ให้เด็กเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งการเรียนรู้ และคุณครูเป็นผู้ดูแลรดน้ำพรวนดิน โดยการเสริมสร้างทักษะความสามารถในการศึกษาหาความรู้ผ่านโครงงานฐานวิจัย (Research-based Learning: RBL) จนทำให้แต่ละคนเติบโตมาเป็นไม้ใหญ่ในแบบของตัวเอง พร้อมรากฐานแห่งทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองที่จะติดตัวไปตลอดชีวิต
หลังดำเนินงานมาครบตามเป้าหมาย 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2562-2565 “โครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา” ก็มาถึงวันสิ้นสุดโครงการ แต่สิ่งที่พร้อมรับการสานต่อคือปรัชญาการสอนและการเรียนรู้ที่เติบโตในพื้นที่การศึกษาที่ร่วมโครงการและรอการต่อขยาย ซึ่งเราจะพาคุณไปรับรู้เรื่องราวเบื้องหลัง ถึงที่มาที่ไปของโครงการ รวมถึงทิศทางในอนาคตจากบทความชิ้นนี้
จุดเริ่มต้นโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา
หากย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย เลขานุการบริษัท และรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย หนึ่งในผู้ที่คลุกคลีกับโครงการมาตลอด 10 ปี ได้เล่าให้เราฟังว่า
“คุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย เป็นคนวางรากฐานของธนาคารกสิกรไทย และถ่ายทอดเจตนารมณ์ต่อเนื่องมาทุกๆ รุ่น คุณบัณฑูร บอกว่า แม้เราจะทำธุรกิจ แต่เราจะหวังแต่กำไรอย่างเดียวไม่ได้ สิ่งที่เราต้องทำคือ การเป็นกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศเจริญเติบโต และเราต้องเอาใจของเราไปใส่กับผู้มีส่วนได้เสียของเราด้วย”
“และสิ่งที่เป็นกลไกจะพัฒนาประเทศ จะต้องเป็นฟันเฟืองที่มีความแหลมคมพอ ที่จะหมุนประเทศไปข้างหน้า ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนได้คือการศึกษา”
เจตนารมณ์และความคิดของธนาคาร ในการช่วยขับเคลื่อนประเทศผ่านการศึกษา ไม่ได้เพิ่งเกิดเมื่อ 10 ปีที่แล้วเท่านั้น ดร.อดิศวร์ ยังเล่าให้เราฟังว่าความเชื่อนี้มีมาตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว และส่งต่อมาให้กับพนักงาน และผู้บริหารของธนาคารกสิกรไทยมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการต่างๆ มากมาย ในส่วนของ “โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา” นั้น เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2556 และเป็นโครงการที่ยาวนานที่สุดที่ธนาคารกสิกรไทยเคยทำมา
“โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ชื่อนี้ก็ถูกตั้งจากคุณบัณฑูร ที่ตั้งชื่อนี้ขึ้นมาก็เพื่อสะท้อนเจตนารมณ์ของเรา ในการพัฒนาเรื่องการศึกษาให้กับเด็กๆ และเราร่วมมือกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ “สกว.” ลงเงินกันคนละครึ่ง จนกลายเป็นเงินทุนที่ใหญ่มากในการทำโครงการนี้ เราทำงานร่วมกันกับ สวก. หนักมาก มีการประชุมพูดคุยกันต่อเนื่องยาวนาน และต่างคิดตรงกันว่าเราได้เจอพาร์ตเนอร์ที่คิดเหมือนกัน”
“และเริ่มโครงการก็เริ่มต้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2556 จนมาถึงตอนนี้ก็ 10 ปีแล้ว เป็นโครงการที่ยาวนานที่สุดที่ธนาคารกสิกรไทยเคยทำมา รวมทั้งเป็นโครงการที่เราหวงแหนมากที่สุด และสิบปีที่ผ่านมา สิ่งที่เราได้เรียนรู้มากที่สุดก็คือ การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียน”
การเรียนรู้ไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียน
ถ้าจะถามว่า กระบวนการเรียนรู้ของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา สร้างความแตกต่างให้กับเด็กๆ อย่างไร หนึ่งในคนที่อธิบายสิ่งนี้ได้ดีที่สุดคงหนีไม่พ้น รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ผู้ถ่ายทอดกระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญา และกรรมการกำกับดูแลทิศทางการ ดำเนินงาน โครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา และเป็นผู้ที่ร่วมเดินทางกับโครงการเพาะพันธุ์ปัญญามาตลอด 10 ปี
“ถ้าเราเคยเห็นเด็กที่นำเสนอโครงงานทั่วประเทศ เราจะเห็นถึงความไม่เป็นธรรมชาติ เพราะว่าเขาถูกฝึกให้ไปล่ารางวัล เขาจะพยายามแสดงออกเพื่อให้กรรมการประทับใจมากกว่า และมุมมองที่กรรมการตัดสินเด็กก็เป็นมุมมองเพียงมุมเดียว คือความใหม่ ความเว่อร์วังอลังการของเด็ก ซึ่งหลายๆ เรื่องมันเกินความสามารถของเด็ก แต่เพราะความต้องการรางวัล โรงเรียนจึงให้เด็กทำโครงการที่เกินความสามารถ”
“แต่ความสำเร็จของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา คือการที่เราเปลี่ยนความรับรู้ของคุณครูเสียใหม่ ว่าการทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้คืออะไร อย่างแรกเด็กต้องเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของเขาเอง เขาต้องทำสิ่งที่เขาอยากจะทำ ไม่ได้เป็นตัวแทนทำในสิ่งที่ครูอยากให้ทำ ดังนั้นครูต้องเปลี่ยนไปตามความหลากหลายของเด็ก และเด็กก็จะเกิดการเรียนรู้ที่หลากหลายเมื่อเขาได้ออกไปเจอกับชีวิตจริง และเขานำชีวิตจริงตรงนั้นมาเข้าสู่กระบวนการทำโปรเจกต์”
หัวใจสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในกระบวนการเรียนรู้มีอยู่ 2 ส่วน คือ “ครู” และ “นักเรียน” รศ.ดร.สุธีระ ยังเผยกับเราอีกว่า กระบวนการเรียนรู้ที่ใช้ “รางวัล” เป็นแรงผลักดัน หรือที่เรียกว่า Punished by Reward มีงานวิจัยยืนยันออกมาแล้วว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งผิด เพราะเมื่อเด็กได้รางวัลไปแล้ว ต่อไปก็จะอยากได้รางวัลที่ใหญ่โตขึ้น ไม่ต่างอะไรกับการเสพยาเสพติด และการทำแบบนี้ยังเป็นการทำลายเด็กอีก 90% ที่ไม่ได้รางวัลอีกด้วย
“ถ้าเด็กที่พลาดรางวัลนั้นไม่ได้มี Growth Mindset จริงๆ เขาจะกลัวในการทำสิ่งที่ยาก เพราะเขากลัวความพ่ายแพ้ กลัวเพราะทุกคนคาดหวังจากเขา เราเรียกสิ่งนี้ว่า Fixed Mindset”
“แต่ถ้าเราให้เด็กทำงานเป็นกลุ่ม มีการร่วมมือกัน เราจะได้เด็กที่มี Soft Skills และไม่ได้ถูกผลักดันจากรางวัล แต่ผลักดันด้วยแรงบันดาลใจ เพราะฉะนั้นครูต้องสร้างแรงบันดาลใจ พาเขาออกไปดูโลก เขาได้ออกไปใช้ชีวิต เขาก็จะมีคำถามขึ้นมาเอง ผมเรียกว่าสิ่งนี้คือการทำงานด้วยจิตที่เป็นกุศลหรือ “ฉันทะ” พอฉันทะเกิดมาแล้ว “วิริยะ” และ “จิตตะ” จะตามมาเอง และหน้าที่ของครูคือ “วิมังสา” ชวนเขาสะท้อนคิด”
ดร.อดิศวร์ เสริมต่ออีกว่ากระดุมเม็ดแรกในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในการศึกษา คือการทำอย่างไรให้ “ครู” กลายเป็น “โค้ช” และสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่เปรียบเสมือนคาถาที่ใช้กันในโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา นั่นก็คือ “ถามคือสอน สะท้อนคิดคือเรียน เขียนคือคิด”
“เราเห็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือ “ครู” ทำยังไงให้ครูกลายเป็นโค้ช เป็นผู้โยนอาหารสมองและกระตุ้นสมองให้กับเด็ก ไม่ใช่บอกกับเด็กว่าจำอันนี้นะ ฉันรู้มากกว่าเธอ จำอันนี้ไปสอบแล้วจะผ่าน แต่เมื่อไหร่ที่ครูเป็นโค้ช ถามคำถามและเด็กมีปฏิสัมพันธ์ตอบออกมา นั่นคือกระบวนการเรียนรู้เริ่มขึ้นแล้ว สิ่งนี้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้”
“ด้วยกระบวนการแบบนี้ทำให้เราได้เห็นเด็กตัวเล็กๆ ที่สามารถลุกขึ้นมาพูดเป็นเรื่องเป็นราว มีวิธีคิดไม่เหมือนกับเด็กทั่วไป ทำให้เราได้เห็นว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพ อยู่ที่กระบวนการเรียนรู้ที่จะส่งเสริม ให้เขาแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่หรือไม่ และกลายเป็นบุคลากรที่สำคัญของประเทศ ตลอดสิบปีโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาทำให้เห็นว่า นี่เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ทำให้เห็นความแตกต่าง”
ไม่หยุดสร้างโอกาสการเรียนรู้แม้เจอวิกฤติ
เหมือนกับทุกพื้นที่ทั่วโลก วิกฤติโควิด-19 ก็สร้างข้อจำกัดในการส่งมอบโอกาสการเรียนรู้ ในโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาเช่นเดียวกัน ในโครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญาจึงได้มีการคิดกระบวนการเรียนรู้ที่เรียกว่า “Eduthon” ขึ้นมา
“Eduthon ถูกคิดมาเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ในช่วงโควิด-19 เรามาทำโครงการนี้ที่น่าน และแบ่งเด็กออกเป็น 2 กลุ่ม เราเรียกว่าบ้านเหนือกับบ้านใต้ และให้เขาลองสลับกันลงไปดูว่าในพื้นที่ของบ้านคนอื่น เขามีทรัพยากรอะไรอยู่ เมื่อไปเจอแล้วเขามีความคิด หรือมองเห็นความสัมพันธ์ของทรัพยากรในพื้นที่ที่คนอื่นมีอย่างไร” รศ.ดร.สุธีระ กล่าว
“เราต้องการให้เด็กเห็นถึงความเชื่อมโยงของทรัพยากร เพราะว่าอยากให้เข้าใจความสัมพันธ์ของ “ชีวิต อาชีพ และธรรมชาติ” ปัญหาของจังหวัดน่านคือ การทำอาชีพกับธรรมชาติตัดขาดออกจากกัน ภูเขาหัวโล้น ป่าถูกถางปลูกพืชเชิงเดี่ยว เด็กหลายคนเป็นลูกหลานของคนปลูกข้าวโพด เขารับรู้วงจรของการปลูกข้าวโพดแล้วใช้หนี้ ปลูกข้าวโพดแล้วใช้หนี้ เขามองไม่เห็นว่ามันเป็นการทำลายวงจรธรรมชาติ เพราะเขาติดอยู่แบบนั้น”
“ดังนั้นเราจึงต้องทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กๆ เห็นความสัมพันธ์ของชีวิตและทรัพยากรให้ได้ และเขาต้องมองให้เห็นความยั่งยืนที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่สมดุล”
ด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบนี้ รศ.ดร.สุธีระ ยืนยันว่านี่คือสิ่งที่จะทำให้เด็กๆ ก้าวเข้าสู่การเป็น “Global Citizen” อีกด้วย
“ถ้าเขาเห็นความสัมพันธ์ของตัวเขากับธรรมชาติ เห็นความสัมพันธ์ของตัวเขากับผู้อื่น ความสัมพันธ์นี้จะทำให้เขาเชื่อมต่อตัวเองกับโลก นั่นคือ Global Citizen เพราะว่า Global Citizen ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในระบบการศึกษาที่แข่งให้ตัวเองเป็นหนึ่ง โลกทุกวันนี้เราต้องไปทำงานที่ไหนก็ได้ รู้จักวัฒนธรรมของคนอื่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นจากกระบวนการที่เขาทำงานกลุ่ม”
ในงานนี้เราจึงได้เห็นไอเดียที่น่าสนใจจากเด็กๆ ที่เข้าร่วมนำเสนอมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การสร้างการรับรู้อัตลักษณ์พิเศษข้าวก่ำบ้านสร้อยศรีดินภูเขาไฟ, การศึกษาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจโกโก้, มหัศจรรย์ผงปรุงรสมะแขว่น และการสร้างมูลค่าของผ้าทอและกากกาแฟ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าเป็นไอเดียที่ออกมาจากเด็กๆ วัยมัธยมต้นและปลายเท่านั้น ซึ่งหยิบทรัพยากรและสิ่งที่มีในพื้นที่ มาตีโจทย์ได้อย่างน่าสนใจ
ส่งต่อการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด
ช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาได้สร้างหน่ออ่อนของการเรียนรู้ และส่งต่อกระบวนการกระตุ้นแรงบันดาลใจให้คุณครูไปมากมายหลายร้อยชีวิต แต่ในก้าวต่อไป ดร.อดิศวร์ เผยกับเราว่าโครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญาที่จัดขึ้นในครั้งนี้ จะเป็นโครงการสุดท้ายในนาม “เพาะพันธุ์ปัญญา” เพราะโครงการนี้กำลังจะถูกส่งต่อไปในเวทีที่ใหญ่มากขึ้น
“ย้อนไปเมื่อสิบปีที่แล้ว เราคิดเหมือนกันกับ สกว. ว่าเรามีเครื่องมือที่ดีแบบนี้แล้ว เราก็อยากให้สิ่งนี้เข้าไปอยู่ในระบบการศึกษา ไม่ใช่เป็นแค่การร่วมมือของเอกชนกับหน่วยงานเล็กๆ ของรัฐบาล เป็นโครงการเล็กๆ จัดกันเองเพียงเท่านั้น นั่นเป็นเจตนารมณ์ของธนาคารกสิกรไทย และ สกว. มาตลอดสิบปี”
“ถึงวันนี้โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ถูกมองว่าเป็นนวัตกรรมทางการศึกษา และกำลังจะถูกหยิบนำไปใช้ในแซนด์บ็อกซ์ เพื่อทดลองใช้ในระบบการศึกษาจริงๆ ซึ่งถ้าเกิดผลที่ดีจริงก็จะถูกกระจายนำไปใช้ในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ตอกย้ำความตั้งใจของเรา และเป็นสิ่งที่ธนาคารกสิกรไทยของเรารู้สึกยินดีเป็นอย่างมาก”
“เพราะสำหรับธนาคารกสิกรไทย บทบาทที่เราร่วมสนับสนุนมันเล็กน้อยมากเลย แต่คุณประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการที่เรามีพันธมิตรทั้งในเชิงวิทยาศาสตร์ เชิงสังคมศาสตร์ เชิงจิตวิทยา พอมันแสดงผลขึ้นมา ทำให้เราเริ่มเห็นความหวัง ที่สักวันประเทศไทยของเรา จะเกิดความเปลี่ยนแปลงที่มีความหมาย ในวันนี้โครงการเพาะพันธุ์ปัญญากำลังจะปิดตัวลง กระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญา ครู และสิ่งต่างๆ กำลังจะถูกส่งมอบเข้าสู่ระบบการศึกษา ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี ไม่ว่าจะเรียกว่าเพาะพันธุ์ปัญญา หรือเรียกว่าอะไร แต่ก็จะเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของเด็ก ซึ่งเราก็ยินดี”