นางศศิญา ปานตั้น ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยถึงผลสำเร็จการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ที่มีการบริหารจัดการเน้นลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และประสบผลสำเร็จในการยกระดับการผลิตด้วยเกษตรสมัยใหม่จนได้รับรางวัลชนะเลิศแปลงใหญ่ดีเด่นระดับเขตภาคตะวันออก ปี 2565
“วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันกลุ่มนี้ เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2563 มีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกรวม 734 ไร่ เฉลี่ยครัวเรือนละ 19.3 ไร่ มีสมาชิก 38 ราย ทางกลุ่มมีการบริหารจัดการแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งขยายผลยกระดับศักยภาพการผลิตการตลาด ด้วยการเสนอแผนยกระดับศักยภาพสามารถ เข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ปี 2564 ของกระทรวงเกษตรฯ ภายใต้งบประมาณในโครงการแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และได้รับการสนับสนุน รวบรวมผลผลิตพร้อมอาคารสำนักงาน ชุดชั่งน้ำหนักขนาด 50 ตัน พร้อมอุปกรณ์เครื่องชั่ง ดัมพ์ลานเคลื่อนที่ ขนาด 17 ตัน และรถยกโฟร์กลิฟต์”
...
ผอ.สศท.6 ยังได้เผยถึงผลสำเร็จในการดำเนินโครงการตามแนวทางการพัฒนา 5 ด้านที่สำคัญได้แก่ ด้านการลดต้นทุนการผลิต สมาชิกกลุ่มใช้ปุ๋ยสั่งตัดตามค่าวิเคราะห์ดิน การผลิตแคลเซียมโบรอนใช้เอง การปรับมาใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยขี้ไก่ ร่วมกับปุ๋ยเคมี ใช้ฟีโรโมนในกับดักเพื่อล่อตัวด้วงในแปลงปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้สามารถลดต้นทุนการผลิตเหลือเพียงไร่ละ 4,140 บาทต่อปี จากเดิมมีต้นทุนเฉลี่ย 5,030 บาท หรือลดต้นทุนไปได้ 18%
ด้านการเพิ่มผลผลิต สมาชิกมีการตัดแต่งใบปาล์มน้ำมัน เพิ่มการใช้ระบบน้ำสปริงเกอร์และวางระบบน้ำ ใช้แคลเซียมโบรอนช่วยเพิ่มผลผลิตและเลี้ยงผึ้งในแปลงช่วยผสมเกสรปาล์ม สามารถเพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมันได้ไร่ละ 3,200 กก.ต่อปี จากก่อนนี้ ได้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 2,800 กก.ต่อปี เพิ่มขึ้น 14%
ด้านการพัฒนาคุณภาพการผลิต สมาชิกกลุ่มทุกคนได้รับมาตรฐาน RSPO รวมทั้งกลุ่ม มีเกณฑ์การคัดเลือกทะลายปาล์มน้ำมันคุณภาพดีต้องสุกไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ด้านการบริหารจัดการ ทางกลุ่มได้นำอุปกรณ์เครื่องจักรกลมาใช้รวบรวมผลผลิตของสมาชิก ช่วยประหยัดเวลาและต้นทุนจากการใช้แรงงาน ในการขนถ่ายผลทะลายปาล์มส่งโรงงานสกัดปาล์มน้ำมัน มีการจำหน่ายผลผลิตภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อลดการสูญเสียของน้ำหนักผลผลิตและเพื่อคุณภาพ ของน้ำมันปาล์ม
สำหรับด้าน การตลาด มีการจัดทำลานรับซื้อผลปาล์มของสมาชิกกลุ่มและเกษตรกรที่ไม่ได้เป็นสมาชิก มีตาชั่งที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน มีการทำสัญญาการซื้อขายกับบริษัทไทยอีสเทิร์นกับบริษัทสุขสมบูรณ์ จังหวัดชลบุรี โดยมีสำนักงานเกษตรอำเภอสนามชัยเขต เป็นหน่วยงานกำกับดูแล รับซื้อตามราคาจริงจากโรงงาน สามารถบวกราคารับซื้อปาล์มน้ำมันเพิ่ม กก.ละ 0.50-0.55 บาท จากราคาหน้าป้าย เนื่องจากผลผลิตมีการรักษาคุณภาพมาตรฐาน RSPO.
...
ชาติชาย ศิริพัฒน์