เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา เพื่อนๆ “คอลัมนิสต์” ของผมหลายๆคนในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้แสดงความไม่เห็นด้วย บวกกับความห่วงกังวลต่อประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่อาจจะเกิดขึ้น จาก “ร่างกฎหมาย กยศ.” หรือกฎหมายให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ที่ผ่านสภาผู้แทนขึ้นไปสู่วุฒิสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ผมเองก็ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับ “ประเด็นหลัก” ของร่างกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้แก้ไขอย่างพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือชนิดเห็นได้ชัดเจนว่า เพื่อการ “หาเสียง” กับผู้ที่จะมาใช้เงินกู้นี้ในอนาคต โดยเผื่อแผ่ย้อนหลังกลับไปถึงผู้ที่เคยใช้มาแล้วในอดีต และกำลังมีปัญหาที่จะเบี้ยวกองทุน กยศ.ถึงเกือบ 2.5 ล้านรายอีกด้วย

ผลเสียหลักๆที่จะเกิดขึ้นแก่ระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคต ตามที่เพื่อนผมสรุปไว้ และผมก็เชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้น ได้แก่ ประเด็น “ยกเลิกค่าปรับ” แก่ผู้ผิดชำระหนี้ โดยไม่เก็บเลยแม้แต่บาทเดียวนั่นเอง

ทั้ง “แม่ลูกจันทร์” แห่งสำนักข่าวหัวเขียว และคุณ “ลม เปลี่ยนทิศ” แห่งคอลัมน์หมายเหตุประเทศไทย เสนอความคิด ความเห็นเอาไว้อย่างมีเหตุมีผลอย่างยิ่ง รวมทั้งได้ฝากความหวังไปถึงการพิจารณาของ วุฒิสภา ด้วย...ลงตีพิมพ์ในไทยรัฐฉบับเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานี่แหละครับ ลองหาอ่านกันดูนะครับท่าน ส.ส.และ ส.ว.ที่เคารพ

ต่อมาอีก 2 วัน ผมก็มีโอกาสได้อ่านความเห็นของบุคคลที่ผมอยากได้ยินได้ฟังมากที่สุด...นั่นก็คือ ท่านประธานรัฐสภา ชวน หลีกภัย

ในฐานะที่ท่านเคยเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นนายกรัฐมนตรี ในนามพรรคประชาธิปัตย์...ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดกองทุนนี้ ซึ่งเป็น 1 ในนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ในยุคนั้น

...

ผมจึงอยากฟังความเห็นของคุณชวนมากที่สุด และท่านก็ได้ให้สัมภาษณ์แล้ว ที่ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ตรัง ในวันเปิดอาคาร เรียนหลังใหม่ เมื่อวันวานนี้เอง

“ในการเปิดมหาวิทยาลัย เพื่อขยายโอกาสการศึกษานั้น หากเปิดแต่สถานศึกษา ไม่มีเงินทุนเรียนก็เป็นการเสียโอกาส จึงตั้งกองทุน กยศ. ขึ้นมาในปีงบประมาณ 2539 จำนวน 4,000 ล้านบาท แต่ถูกตัดงบลดลงเหลือ 3,000 ล้านบาท”

“กยศ.โตขึ้นมาเรื่อยๆจาก 3,000 ล้านบาท เป็น 6,000 ล้านบาท จากเด็กที่ได้เรียน 70,000-80,000 คน เพิ่มเป็น 6 ล้านคน”

“ช่วงแรกๆเด็กที่กู้ส่วนใหญ่คืนเงินกู้ แต่ช่วงหลังมหาวิทยาลัยเอกชนนำเงินมาให้เด็กกู้ยืม แล้วยุยงไม่ให้เด็กคืนเงินที่กู้มาเรียนไปหลอกเด็กว่าให้เรียนฟรี...แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งไม่ใช่ทั้งหมด”

“จากตัวเลขมหาวิทยาลัยของรัฐที่กู้แล้วไม่คืนมีน้อยมาก แต่ของเอกชนมีสัดส่วนเยอะถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์ จึงพยายามรณรงค์ให้คืนเงินจะได้มาหมุนเวียนให้รุ่นน้องรุ่นหลานเรียนต่อ”

“เงินแม้สำคัญก็จริงแต่ไม่สำคัญเท่ากับสร้างคนให้มีความรับผิดชอบ...กู้แล้วไม่คืน เราได้คนมีความรู้แต่เริ่มต้นโกง...ส่วนคนที่คืนไม่ได้เพราะไม่มีงานทำ อันนี้เห็นใจต้องพยายามหาทางช่วยเหลือ”

ผู้สื่อข่าวถามว่าคิดเห็นอย่างไรที่สภาผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้...ท่านตอบว่าในการประชุมรัฐบาลขอคิดดอกเบี้ยร้อยละ 2 กรรมาธิการให้เหลือ 0.25 เปอร์เซ็นต์ แต่พอเข้าที่ประชุมสภา กลุ่มไม่คิดดอกเบี้ยเลยเป็นฝ่ายชนะ...ก็ต้องเป็นไปตามนั้นในชั้นนี้

แต่ท่านประธานชวนก็สรุปว่า “ต้องรอดูว่าวุฒิสภามีความคิดเห็นอย่างไร ถ้าวุฒิสภามีความเห็นไม่แก้ไข ก็ต้องผ่านไปเลยโดยไม่คิดดอกเบี้ย แต่ถ้าแก้ไขก็ต้องย้อนกลับมาอีกที...เรื่องยังไม่ยุติ”

ครับ! ก็คงต้องลุ้นกันต่อว่าในที่สุดแล้ว ท่านสมาชิกวุฒิสภา ท่านจะคิดเห็นเรื่องนี้อย่างไร...ผมยังเชื่อในความจริงและความถูกต้อง และเห็นว่าการปรับโดยมีการเรียกดอกเบี้ยบ้าง เป็นเรื่องถูกต้อง

จึงขอตั้งความหวังล่วงหน้าว่าท่าน ส.ว. ซึ่งไม่มีความจำเป็นจะต้องหาเสียงกับใครที่ไหน และส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่มีปูมหลังผ่านการรับราชการ หรือผ่านการทำงานเพื่อความถูกต้องของสังคมไทยในด้านต่างๆมาเป็นส่วนใหญ่ จะควํ่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้นะครับ.

“ซูม”