กรมควบคุมโรคปลื้มภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) ใช้ได้ผลดี ล่าสุดใช้กับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 อายุ 105 ปี ร่วมกับยาปฏิชีวนะ จากค่าออกซิเจนในเลือดต่ำ ปอดติดเชื้อแบคทีเรีย กลับมาอาการดีขึ้น จนกลับบ้านได้แล้ว รวมใช้เวลารักษา น้อยกว่า 2 สัปดาห์ ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศดีวันดีคืน ป่วยเข้า รพ.ลดฮวบต่ำกว่า 500 คน ตายเพิ่มยังอยู่ที่หลักสิบ

ไทยมีข่าวดีเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 18 ส.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ว่า ต้นเดือน ก.ย.2565 พบผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายหนึ่ง อายุ 105 ปี และยังไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 3 ก.ย. โดยมีอาการไข้สูง มีเสมหะ ค่าออกซิเจน ในเลือดต่ำ และต่อมามีปอดติดเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยรายนี้ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสในวันแรก แต่เนื่องจากมีอายุมากเสี่ยงต่อการเสียชีวิต แพทย์จึงพิจารณา ให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป Long Acting Antibody หรือ LAAB แก่ผู้ป่วยด้วยในวันที่ 4 ก.ย. ร่วมกับยาปฏิชีวนะ จากนั้นวันที่ 10 ก.ย.อาการผู้ป่วยค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ อาการปอดติดเชื้อน้อยลง ไข้ลดค่าออกซิเจนในเลือดกลับมาปกติ และผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้วันที่ 14 ก.ย. รวมระยะเวลาที่ใช้รักษา น้อยกว่า 2 สัปดาห์ การให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือ LAAB น่าจะมีผลดีในการรักษาผู้ป่วยสูงอายุ กลุ่มเสี่ยงที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน กระนั้น กระทรวงสาธารณสุขยังแนะนำให้ผู้สูงอายุทุกคนฉีดวัคซีนป้องกันโควิดโดยเร็ว ก่อนจะเกิดการติดเชื้อ และควรรับเข็มกระตุ้นเมื่อรับเข็มสุดท้ายแล้วอย่างน้อย 4 เดือนขึ้นไป

อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวอีกว่าภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ LAAB นั้น ประเทศไทยได้จัดหาให้ประชาชนกลุ่มที่มีความจำเป็น ได้แก่ ผู้ป่วย ภูมิคุ้มกันต่ำ ร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน กลุ่มเสี่ยง 608 เช่น ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการฟอกไต ผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ หรือไขกระดูกที่ได้รับยากดภูมิ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น โดยการทำงานของภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปนี้เมื่อฉีดเข้าไปแล้วร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิดได้สูงทันทีภายหลังฉีด ทำให้เกิดประโยชน์อย่างมาก ในการลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยดังกล่าว โดยไทยได้นำเข้าและฉีดให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการฟอกไต ที่สถาบันบำราศนราดูร เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 ก.ค. และส่งไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.เป็นต้นมา กลุ่มเป้าหมายระยะแรก ได้แก่ ผู้ป่วยไตวายระยะเรื้อรังที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต (ฟอกไต) ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยปลูกถ่ายไขกระดูก และกำลังจะพิจารณาเพิ่มกลุ่มเป้าหมายที่จำเป็นอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดและฉายแสง ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะที่ต้องได้รับยากดภูมิขนาดสูง ผู้ป่วยโรคข้อที่ต้องรักษาด้วยยากดภูมิ และ ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำโรคอื่นๆ

...

สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ในไทยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) รายงานเมื่อวันที่ 18 ก.ย. พบผู้ติดเชื้อเข้า รพ.รายใหม่ 477 คน หายป่วยเพิ่มเติม 1,170 คน อยู่ระหว่างรักษา 9,223 คน อาการหนัก 651 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 333 คน เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 12 คน ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2563 ไทยมียอดผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 4,673,387 คน หายป่วยสะสม 4,631,535 คนผู้เสียชีวิตสะสม 32,629 คน