“ฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูงมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงโคนมของประเทศ และสำหรับใช้ในการศึกษาและพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการฟาร์มด้วยเทคโนโลยี เช่น การสแกนเบอร์โค เพื่อเก็บข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ ระบบรีดนมแบบไปป์ไลน์ที่บันทึกปริมาณน้ำนมดิบรายตัวรายวัน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือการขจัดของเสียในฟาร์ม และคำนึงถึงการกินอยู่ของแม่โคตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งบัดนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 พร้อมแล้วที่จะเปิดให้เกษตรกร นิสิตนักศึกษา และผู้สนใจเข้าชม ศึกษาดูงาน”
นายสมพร ศรีเมือง ผู้อำนวยการ อ.ส.ค. เล่าถึงที่มาของฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง ถือเป็นฟาร์มสาธิตเชิงธุรกิจที่อยู่ในพื้นที่ของ อ.ส.ค.และมีแผนที่จะพัฒนาให้เป็นสมาร์ทเดลี่ฟาร์ม ใช้เทคโนโลยีช่วยในการจัดการฟาร์ม ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเป็นแหล่งฝึกภาคปฏิบัติ และสร้างบุคลากรมืออาชีพด้านการเลี้ยงโคนม
...
นอกจากนี้ ยังเป็นฟาร์มสำหรับใช้ในการศึกษาพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการฟาร์ม ให้มีความสะดวกและเหมาะสมกับการเลี้ยงโคนมของเกษตรกรยุคใหม่ ที่สอดคล้องกับหลักการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ (Animal welfare) และถือเป็นฟาร์มสาธิตต้นแบบที่เปิดนำร่องเป็นฟาร์มแรกของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายให้ มีการฝึกอบรม และศึกษาดูงานในฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง สำหรับนักวิชาการ เจ้าหน้าที่ส่งเสริม และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมปีละไม่น้อยกว่า 680 คนและเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าเยี่ยมชมกิจการฟาร์มไม่น้อยกว่า 10% จากปัจจุบันบันที่ 60,000 คนต่อปี
ปัจจุบันฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูงมีจำนวนแม่โครีดนม 120 ตัว มีการใช้เทคโนโลยีช่วยในการจัดการฟาร์ม เช่น การเลี้ยงแบบขังคอกในโรงเรือนขนาดกว้าง 58 เมตร ยาว 60 เมตร ประกอบด้วย คอกพักโค 2 คอก ขนาด 3,120 ตร.ม. พื้นดินกว้าง 22.5 เมตร ยาว 60 เมตร พื้นปูนกว้าง 3.5 เมตร ยาว 60 เมตร และใช้อาหารผสมสำเร็จที่มีมาตรฐานตรงตามความต้องการของโค โดยให้อาหารเสริมแร่ธาตุชนิดผง และแร่ธาตุผสมวิตามิน ประกอบด้วยแร่ธาตุหลักและรองอย่างครบครัน เพื่อสร้างความสมดุลในร่างกายให้โคสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ เพิ่มอัตราผสมติดและปริมาณน้ำนม
นอกจากนี้ยังมีการจัดการคอกพักโค และระบบระบายความร้อน ด้วยระบบทำความเย็นจากพัดลมยักษ์ พัดลมเล็ก และระบบสเปรย์ ให้แม่โคอยู่สบายตามหลักสวัสดิภาพสัตว์การบริหารจัดการ มีการเก็บข้อมูลโครายตัวในระบบคอมพิวเตอร์ รวมทั้งระบบการรีดนมที่มีการบันทึกปริมาณน้ำนมดิบรายตัวรายวัน แจ้งเตือนคุณภาพน้ำนม มีระบบทำความสะอาด ระบบกำจัดของเสียใช้เทคโนโลยี demonstration transfers ระบบเฝ้าระวังระยะเวลาการเป็นสัด สามารถแสดงระยะที่เหมาะสม
...
ทั้งนี้ที่ผ่านมา อ.ส.ค.ได้ตั้งดัชนีชี้วัดความสำเร็จ (KPI) ของโครงการฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูงไว้ 12 ด้าน อาทิ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 16 กก./ตัว/วัน แต่ทำได้ 21.75 กก./ตัว/วัน เปอร์เซ็นต์ปริมาณเนื้อนมทั้งหมดไม่น้อยกว่า 12 ทำได้ 12.51 เปอร์เซ็นต์ไขมันไม่น้อยกว่า 3.5 ทำได้ 3.87 และเปอร์เซ็นต์ธาตุน้ำนมไม่รวมมันเนยไม่น้อยกว่า 8.5 ทำได้ 8.67 ส่วนปริมาณน้ำนมดิบสูญเสียกำหนดก็ทำได้ตามเป้าคือ 0% ขณะที่ยอดผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมฟาร์มที่ตั้งไว้ไม่น้อยกว่าปีละ 60,000 คนแต่เพียงระยะ 4 เดือน หลังเปิดดำเนินการมีผู้เข้าเยี่ยมแล้ว 14,351 ราย ส่วนผลดำเนินการด้านมีบุคลากรด้านกิจการโคนมเข้าฝึกอบรมและศึกษาดูงานจนถึงปัจจุบันแล้ว 932 ราย มีรายได้จากการขายนมจนปัจจุบันแล้ว 4.1 ล้านบาท.
กรวัฒน์ วีนิล